Home —— วิธีทำ

ชวนมาสร้าง new normal ที่เราจะ ‘ใช้ซ้ำ’ ได้เป็นปกติ

ว่ากันว่าหลังหมดช่วงไวรัสระบาด วิถีชีวิตของผู้คนทั้งโลกคงเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล

อย่างตอนนี้เราก็เริ่มจะชินกับการใส่หน้ากากอนามัยออกไปพบปะกันเป็นเรื่องปกติ เว้นระยะห่างระหว่างพูดคุยกันจนชิน แล้วก็พบว่าการออกไปซื้อของนอกบ้านไม่ได้อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ขนาดนั้น เมื่อทั้งอาหารและข้าวของต่างๆ สามารถส่งตรงถึงหน้าบ้านได้ภายในคลิกเดียว (ถึงเราจะโหยหาการได้ออกไปเดินห้างฯ บ้างก็ตาม)

นอกจากนี้มาตรการด้านความสะอาดที่เคร่งครัดมากขึ้น ยังทำให้คาเฟ่หลายแห่งงดการรับภาชนะส่วนตัวเป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค อย่างซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งในสหรัฐฯ และจีนก็งดการแบนถุงพลาสติกในช่วงนี้ไปก่อน แล้วหันมาแจกถุงก๊อบแก๊บ single-use ให้ใช้แล้วทิ้งตามเดิมเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสหลายมือ

ถึงประเทศไทยจะยังไม่มีมาตรการเคร่งครัดขนาดนั้น แต่ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป แบบปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าบางครั้งก็ต้องขอพึ่งพลาสติกใช้แล้วทิ้งกันบ้างเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน แต่นี่แหละ ที่ทำให้

ปริมาณการสร้างขยะของคนไทยต่อครัวเรือนพุ่งกระฉูดไป 15 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่คนไทยทิ้งขยะรวมกันเฉลี่ยวันละ 1.5 ตัน ตอนนี้ตัวเลขก็ทะยานไปถึงวันละ 6.3 ตันแล้ว 

เหตุการณ์นี้ยังทำให้หลายๆ คนตัดสินใจพับแผนพกแก้ว พกกล่องกันไปยาวๆ เพราะไม่รู้จะได้หยิบมาใช้อีกทีตอนไหน แถมบางครั้งยังอดไม่ได้ คิดถึงเมนูแสนอร่อยจากร้านที่คุ้นเคยจนต้องกดสั่งเดลิเวอรี่มาทุกที แต่เชื่อเราเถอะว่าในสถานการณ์แบบนี้ จริงๆ แล้วมีหลายโอกาสเลยล่ะที่เราไม่จำเป็นต้องง้อการใช้พลาสติก อย่างเราเองก็ลองลดๆ แยกๆ สิ่งของหลายอย่าง จนพบว่าจริงๆ แล้วเราแทบไม่ต้องทิ้งขยะเลยก็ได้นี่

สั่งอาหารเก่ง อย่าลืมแยกให้เก่งด้วย

ถึงเราจะรับบทมาสเตอร์เชฟอยู่บ่อยๆ ในช่วงกักตัวนี้ แต่บางวันก็อดคิดถึงอาหารจากร้านนอกบ้านไม่ได้จริงๆ อย่างที่รู้ การสั่งอาหารแต่ละทีย่อมตามมาด้วยขยะมหาศาล บางร้านรวมอาหารมาให้ก็ได้ทิ้งขยะน้อยหน่อย แต่ร้านไหนที่เมนูยิ่งใหญ่ เราก็มักได้รับกล่องแยกนู่นนี่มามากเกินจำเป็นอยู่เหมือนกัน หรือบางทีไปตักสลัดบาร์ตามซูเปอร์ฯ เขาก็แยกผักแต่ละอย่างใส่ถุงเล็กๆ ไว้ให้เรียบร้อยอย่างเลี่ยงไม่ได้

ถ้าไม่ลำบากเกินไปเราจะบอกพนักงานไปตั้งแต่ตอนสั่งเลยว่าอะไรที่รวมได้ให้รวมไปเลย เช่น ชานมกับไข่มุก หรือสลัดกับน้ำสลัด พวกนี้ถ้าไม่ได้เดินทางมาไกล ยังไงรสชาติก็อร่อยเหมือนเดิม 

รอบไหนที่เลี่ยงไม่ได้ เราก็ล้าง เก็บกล่องสภาพดูดี มีฝาปิดเรียบร้อยไว้ใส่อย่างอื่นวันหลัง ส่วนถุงที่เหลือเราก็ล้างให้สะอาดแล้วเอาไปตาก (ถุงขนม กล่องนมก็ล้างแล้วตากได้เหมือนกัน) โชคดีที่แถวบ้านเรามีจุดแยกขยะพอดี ถึงเวลาก็แค่รวมไปทิ้งทีเดียวสะดวกมากๆ 

ส่วนบ้านไหนอยู่ห่างไกลจุดแยกขยะก็อย่าเพิ่งถอดใจ แค่มีพลาสติกล้างสะอาด ตากให้แห้ง หรือถุงที่ยืดได้ สามารถแยกเก็บไว้รอวันทิ้งขยะ เรียกใช้บริการ GEPP (www.facebook.com/geppthailand) มารับขยะถึงบ้าน หรือส่งพลาสติกสะอาดๆ เหล่านี้ไปให้ Won (www.facebook.com/wontogether) พวกเขาก็พร้อมรับไปรีไซเคิล ส่วนเราก็ได้ลดขยะที่สร้างกับเกือบทุกวันไปเยอะเลย

ภาชนะส่วนตัวยังใช้ได้ในร้านใกล้บ้าน

ถึงร้านใหญ่ๆ จะไม่รับภาชนะส่วนตัวแล้ว แต่ร้านใกล้บ้านหลายร้านก็ยังรับอยู่นะ

ร้านอาหารแถวบ้านเรายังยินดีรับกล่องและกระติกน้ำอยู่ เวลาไปซื้ออะไรกินใกล้ๆ บ้านก็แค่ถือกล่องไป บางวันถือจานออกไปใส่เลยยังได้ คราวนี้ก็ไม่ต้องใช้ถุงแล้ว แถมกลับมาถึงบ้านยังกินได้เลยอีกต่างหาก เพิ่มเติมแค่งดการเอาแก้วไปล้างที่ร้าน เปลี่ยนมาล้างให้สะอาดและตากให้แห้งตั้งแต่ที่บ้านแทน จะได้ไม่สร้างความกังวลว่าเราจะเผลอเอาเชื้อโรคไปแพร่ไว้ที่ไหนโดยไม่ได้ตั้งใจ

ถุงพลาสติกแค่ล้างก็ปลอดภัยแล้ว

ช่วงนี้ในหลายประเทศกลับมาแจกถุงอีกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสถุงรียูสที่อาจผ่านมาแล้วหลายมือจนมีเชื้อโรคตกค้าง นั่นอาจทำให้ปริมาณขยะจากถุงพลาสติกมาแรงพอๆ กับกล่องอาหารเดลิเวอรี่

ดีหน่อยที่ประเทศเรายังยินดีรับถุงผ้าและถุงรียูส เราเลยสามารถพกถุงเหล่านั้นออกไปช้อปปิ้งได้สบายๆ แต่ถ้ามีโอกาสได้รับถุงพลาสติกใบใหม่มาก็อย่าเพิ่งรีบกำจัดเพราะกลัวการแพร่เชื้อล่ะ พวกมันสามารถนำมาล้างแล้วใช้ใหม่ได้อีกหลายครั้ง ขอแค่ล้างอย่างถูกวิธีก็พอ

วิธีนี้เป็นคำแนะนำจาก North Carolina University ที่เราทดลองทำตามแล้วพบว่าไม่ได้ลำบากคนขี้เกียจซักล้างอย่างเราเท่าไหร่ ที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติกหรือถุงผ้าก็สามารถทำได้ง่ายๆ เพียงแค่

  • นำถุงเหล่านี้ไปซักด้วยสบู่ทั้งด้านในและด้านนอก
  •  ตากให้แห้งกลางแดด 
  • พอจะใช้ก็ฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อหรือน้ำยาซักผ้าผสมน้ำป้องกันเชื้อโรคอีกรอบ

เพราะจริงๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นถุงรียูสหรือถุงใบใหม่ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคไม่ได้ต่างกันเลย หากเราไม่รู้จักรักษาความสะอาดให้ดีทั้งตอนรับและตอนนำกลับบ้าน ดังนั้นการเปลี่ยนมาใช้ถุง single-use ร้อยเปอร์เซ็นต์อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด หรืออย่างน้อยหลังจากนี้ก็ควรมีระบบจัดการนำถุงเหล่านี้ไปฆ่าเชื้อและรียูสใหม่อีกครั้งเพื่อลดปริมาณขยะที่มากเกินจำเป็น

นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญด้วยว่าเวลาไปจ่ายเงินแล้วต้องหยิบของใส่ถุง เราก็ควรเป็นคนเอาของทั้งหมดใส่ถุงเอง แทนการให้พนักงานหยิบให้ แบบนี้ก็จะปลอดภัยต่อตัวเราและผู้อื่นมากขึ้นเยอะเลยล่ะ

หน้ากากผ้าก็โอเคนะ

อีกหนึ่งวิธีการไม่สร้างขยะแบบใช้แล้วทิ้งที่ง่ายสุดๆ สำหรับเราคือการไม่ใช้หน้ากากอนามัยแล้วเปลี่ยนมาใช้หน้ากากผ้าแทน เพราะหน้ากากอนามัยส่วนใหญ่ทำมาจากผ้าสปันบอนด์ ถึงจะมีการไขข้อข้องใจไปแล้วว่ายังไงก็ปลอดภัยต่อระบบหายใจ แต่กว่าพวกมันจะย่อยสลายได้ก็ใช้เวลาอีกหลายร้อยปีแถมยังซักไม่ได้อีกต่างหาก

ยิ่งช่วงนี้เราไม่ได้เดินทางไปไหนไกล อย่างมากก็แค่ตลาดและซูเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้านที่ใช้เวลาแค่แป๊ปๆ แกะหน้ากากอนามัยมาใช้ยังไม่ทันคุ้ม แล้วก็ไม่ได้ไอจามหรือมีอาการน่าสงสัยว่าจะแพร่เชื้อ การหันมาใช้หน้ากากผ้าจึงเป็นทางเลือกที่ลดขยะได้ดีมากๆ เพราะหน้ากากผ้าหนึ่งชิ้นที่ใช้แล้วซัก นำกลับมาใช้ใหม่ สามารถทดแทนการใช้หน้ากากอนามัยไปได้เป็นสิบๆ ชิ้นเลย เพิ่มเติมอีกหน่อยก็แค่เลือกใช้หน้ากาผ้าที่กันน้ำได้ก็จะยิ่งปลอดภัยหายห่วงไปอีก

ถ้าเราอยากปรับตัวให้เข้ากับ new normal ที่กำลังจะกลายเป็นวิถีชีวิตใหม่ ยังมีทางเลือกอื่นๆ อีกเยอะแยะที่เราสามารถทำได้เพื่อสุขอนามัยที่ดีและยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น เปลี่ยนมารักษาความสะอาดของตัวเองแทน ล้างมือให้เป็นกิจวัตร ลดการสัมผัสผู้อื่นโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะเด็กๆ และผู้สูงอายุที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ นอกจากนี้ก็อย่าลืมดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดี และติดตามข่าวสารอย่างสม่ำเสมอแทนก็ได้นะ

Content Designer

#อดีตนิสิตภาควารสารฯ #เรียนจบแล้ว #นักเขียน

Read More:

Home ผลการทดลอง

ทดลองเว้นระยะห่างกับ ‘ทิชชู่’ 1 เดือน

มนุษย์เสพติดทิชชู่อย่างเราจะทำได้ไหม?

Home วิธีทำ

ยิ้มก่อนอ่าน สเปรย์แอลกอฮอล์ก่อนเปิด

วิธีดูแลความปลอดภัยให้คนรับ คนส่ง และใช้ทรัพยากรโลกน้อยๆ หน่อยในการส่งพัสดุหากัน

Home

#จับฉลากของขวัญเคยรัก หมายเลข 1 | เจ้าของเก่า: โอ๋

ของขวัญเคยรักปริศนาหมายเลข 1 ที่จะนำมาจับฉลากสิ้นปีนี้ในธีม จับฉลากของขวัญเคยรัก!