ถ้าให้นิยามแบบง่ายๆ เฟมินิสต์คือแนวคิดที่พูดถึงความเท่าเทียมทางเพศ เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน แต่มีบางเพศที่ถูกทำให้ด้อยกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพศหญิงและเพศหลากหลาย ซึ่งถูกกดทับภายใต้ระบบชายเป็นใหญ่หรือปิตาธิปไตย (Patriarchy) การเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์ทั้งหมดจึงเป็นการต่อต้านระบบชายเป็นใหญ่ ส่งเสริมสิทธิผู้หญิงและคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศในทุกๆ มิติ
แต่แนวคิดสตรีนิยมมักจะถูกเข้าใจผิดและถูกมองในแง่ลบอยู่บ่อยๆ หลายครั้งที่กลุ่มเฟมินิสต์ถูกมองว่าต้องหัวรุนแรง ต้องเกลียดผู้ชาย ต้องเป็นเลสเบี้ยน บ้างก็โต้เถียงอีกว่าจะสนับสนุนความเท่าเทียมของผู้หญิงไปทำไม เราควรสนับสนุนความเท่าเทียมของคนทุกเพศทุกวัยสิ!!
ไหนจะข้อถกเถียงเรื่อง #เฟมทวิต ปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวผ่านสังคมออนไลน์โดยเฉพาะทวิตเตอร์ของเฟมินิสต์ที่รณรงค์เรื่องความเสมอภาคทางเพศ ต่อต้านเรื่องการเหยียดเพศ รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้หญิง แต่กลับถูกมองว่านี่ไม่ใช่เฟมินิสต์ เพราะไม่ได้ลงมือทำอะไรอย่างจริงจัง แบบที่กลุ่มเฟมินิสต์เคลื่อนไหวรณรงค์อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง จนหลายคนเริ่มสงสัยว่าเฟมินิสต์คืออะไรกันแน่?
ออกตัวก่อนว่าเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ไม่ใช่นักวิชาการ แต่ในฐานะที่มีโอกาสได้ศึกษาแนวคิดเฟมินิสต์มาบ้างทั้งผ่านคลาสเรียนในมหาวิทยาลัยและผ่านหนังสือที่อ่าน จึงอยากจะชวนกันมาทำความเข้าใจเฟมินิสต์ให้มากขึ้น เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการอ่านหนังสือ fiction และ non-fiction ทั้ง 4 เล่มนี้
เราทุกคนควรเป็นเฟมินิสต์
- เขียน: ชิมามานดา เอ็นโกซี อาไดซี่
- แปล: แมท ช่างสุพรรณ
- หนังสือเล่มนี้บอกเราว่า: เฟมินิสต์ไม่ใช่เรื่องของผู้หญิงเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของทุกๆ คน
หากให้เราเลือกหนังสือเล่มใดสักเล่มหนึ่งสำหรับคนที่เริ่มสนใจแนวคิดสตรีนิยมเป็นหนังสืออ่านนอกเวลา เรามักจะแนะนำ ‘เราทุกคนควรเป็นเฟมินิสต์’ อยู่เสมอ ข้อดีประการแรกคือหนังสือเล่มนี้เล็กมากๆ มีจำนวนหน้าเพียง 52 หน้าเท่านั้น
แต่เนื้อหาที่หนังสือเล่มนี้พยายามถ่ายทอดนั้นก็ครบถ้วน ทำให้เห็นว่าปิตาธิปไตย (สังคมชายเป็นใหญ่) ไม่ได้เป็นปัญหาของเพศหญิงและเพศทางเลือกเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาของเพศชายด้วย
ข้อดีอีกประการคือหนังสือเล่มนี้เป็นความเรียงสั้นๆ ที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย ซึ่งชิมามานดา เอ็นโกซี อาไดชี่ ดัดแปลงมาจากบทพูดของเธอในงาน Ted Talk เมื่อปี 2012 โดยเธอได้เล่าเรื่องจากมุมมองของตัวเองต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนความไม่เท่าเทียมกันในประเทศบ้านเกิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น การไม่ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าชั้นตอนประถมเพราะเธอเป็นเด็กผู้หญิง การที่พนักงานจอดรถหันไปขอบคุณเพื่อนของเธอทั้งที่เธอให้ทิป หรือเรื่องที่ผู้หญิงไม่สามารถเข้าผับคนเดียวได้
โดยเธอได้เล่าทุกเรื่องราวออกมาอย่างเรียบง่าย แต่สามารถทำให้เราเห็นได้ว่าปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศนั้นฝังรากลึกไปในทุกมิติของชีวิต ของคนทุกเพศทุกวัย แม้กระทั่งกับเพศชาย ชวนให้เราฉุกคิดกับสังคมที่เป็นอยู่จะดีกว่าไหม ถ้าทุกคนมาเป็นเฟมินิสต์
ผู้ชายชอบอธิบายหลายสิ่งให้ฉันฟัง
- เขียน: รีเบคกา โซลนิต
- แปล: สิรินทร์ มุ่งเจริญ และ กานต์ชนก วงษ์ทองแท้
- หนังสือเล่มนี้บอกเราว่า: เฟมินิสต์ไม่ได้เรียกร้องแค่สิทธิ แต่เรียกร้องเสียงที่เท่าเทียมกันด้วย
เมื่อพูดถึงการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ หลายๆ คนมักนึกถึงการเรียกร้องเกี่ยวกับสิทธิที่จับต้องได้ เช่น สิทธิการเลือกตั้ง สิทธิในการถือครองทรัพย์สิน สิทธิในการทำงาน แต่ในแนวคิดของเฟมินิสต์นั้น ปัญหาความไม่เท่าเทียมไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของสิทธิ แต่หมายรวมถึงการมีเสียงที่เท่าเทียมในสังคมปิตาธิปไตยด้วย
หนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ฝังรากลึกในระบบปิตาธิปไตยที่เฟมินิสต์มักจะพูดถึง คือเรื่อง ‘อคติทางเพศ’ (sexism) ที่มีมาในหลากหลายรูปแบบทั้งเรื่องกฎหมาย วัฒนธรรม ไปจนถึงความเชื่อ ซึ่งหนังสือ ‘ผู้ชายชอบอธิบายหลายสิ่งให้ฉันฟัง’ เล่นนี้ได้ชี้ชวนให้เรามองเห็นอคติทางเพศที่แสดงออกในรูปแบบการเล่าเรื่องราวรอบโลกให้กับผู้หญิงฟัง
‘ผู้ชายชอบอธิบายหลายสิ่งให้ฉันฟัง’ เป็นหนังสือรวม 9 บทความ ของ รีเบคกา โซลนิต ที่ต่อยอดมาจากบทความชื่อเดียวกันที่ได้ตีพิมพ์ลงใน ลอสแองเจลิสไทม์ส ซึ่งบทความนี้สร้างอิมแพคแวดวงเฟมินิสต์ในในระดับที่ทำให้เกิดคำศัพท์ใหม่อย่าง Mansplainer ที่หมายถึง ‘การอธิบายอะไรบางอย่างโดยไม่ตระหนักรู้ถึงความจริงที่ว่า ผู้ที่ได้รับคำอธิบายนั้นรู้มากกว่าผู้อธิบาย ซึ่งมักเป็นผู้ชายที่ทำสิ่งนี้กับผู้หญิง’ เลยทีเดียว
รีเบคกา โซลนิต นั่นพยายามทำให้เราเห็นปัญหาของ Mansplainer ไม่เพียงแค่เป็นอคติที่เกิดจากความคิดว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่จะมีความรู้ ความสามารถในการคิด วิเคราะห์น้อยกว่าผู้ชายเท่านั้น แต่ยังได้อธิบายการต่อสู้ของผู้หญิงในแต่ละช่วงเวลาภายใต้สังคมชายเป็นใหญ่ ที่ทำให้เห็นว่าปัญหาของการปิดปากผู้หญิงให้เงียบเป็นอย่างไร และทำให้เห็นว่าเราทุกคนไม่เพียงต้องมี ‘สิทธิ’ แต่ต้องมี ‘เสียง’ เท่ากันด้วย
คิมจียอง เกิดปี 82
- เขียน: โชนัมจู
- แปล: ตรองสิริ ทองคำใส
- หนังสือเล่มนี้บอกเราว่า: ที่ยังต้องมีแนวคิดเฟมินิสต์ เพราะเกิดเป็นผู้หญิงก็ผิดแล้ว
ในปีที่ผ่านมาคงไม่มีหนังสือวรรณกรรมเกาหลีเรื่องไหนสร้างกระแสในไทยได้มากเท่า ‘คิมจียอง เกิดปี 82’ อีกแล้ว
หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงแค่สร้างปรากฏการณ์ในไทย แต่ยังเป็นที่กล่าวถึงอย่างมากในเกาหลี เพราะถือว่าเป็นหนังสือเฟมินิสต์ที่ตีพิมพ์ออกมาในช่วงที่ประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศกำลังเป็นประเด็นใหญ่ในสังคมเกาหลีพอดี อีกทั้งยังมีไอดอลอย่าง ‘ไอรีน วง Red Velvet’ แนะนำจนสร้างความไม่พอใจให้เหล่า ‘แฟนคลับชาย’ ออกมาแอนตี้ เผาอัลบั้ม ด่าทอกันเสียยกใหญ่ จนผู้หญิงอย่างเราต้องรีบหาซื้อทันทีว่ามันจะอะไรขนาดนั้น
หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยเรื่องราวของคิมจียอง ซึ่งเป็นชื่อที่คนเกาหลีนิยมตั้งชื่อให้ลูกสาวที่เกิดปี 1982 จนชื่อนี้กลายเป็นชื่อโหล มีคิมจียองเต็มเมือง เพื่อเป็นการเปรียบเปรยว่าชีวิตของคิมจียองคือชีวิตสามัญที่ผู้หญิงเกาหลีทุกคนต้องเจอ ชีวิตที่ถูกกดทับมาตลอดตั้งแต่วัยเด็ก วัยเรียน วัยทำงาน ไปจนถึงการมีครอบครัว
หนังสือเล่มนี้สะท้อนให้เห็นแนวคิดที่ฝังลึกอยู่ในสังคมชายเป็นใหญ่ ความคิดที่เชื่อว่าการเชื่อว่าผู้หญิงเกิดมาเพื่อเป็น ‘แม่และเมีย’ ความคิดที่เชื่อว่าผู้หญิงสุดท้ายก็ต้องแต่งงาน ออกจากบ้าน ไม่สามารถเป็นผู้นำครอบครัวได้ ซึ่งทำให้เกิดการกดขี่ตามมามากมาย เหมือนดังชีวิตของคิมจียองที่ถูกกำหนดมาแล้วว่าควรทำอะไร ไม่ทำอะไร เป็นประสบการณ์ที่เราเชื่อว่าผู้หญิงหลายๆ คนสามารถรู้สึกอินได้ง่ายๆ
นอกจากเรื่องราวของคิมจียองแล้ว ในระหว่างเรื่องผู้เขียนจะสอดแทรกสถิติความไม่เท่าเทียมที่ผู้หญิงเกาหลีต้องเจอลงไป ไม่ว่าจะด้านการศึกษา รายได้จากการทำงาน และสิทธิด้านต่างๆ อีกมากมาย เป็นการยืนยันว่าเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นกับผู้หญิงเกาหลีทุกคน ไม่ใช่ประสบการณ์ของคิมจียองเพียงคนเดียว
ปานหยาดน้ำผึ้ง
- เขียน: รูปี กอร์
- แปล: พลากร เจียมธีระนาถ
- หนังสือเล่มนี้บอกเราว่า: การต่อสู้ของเฟมินิสต์ไม่จำเป็นต้องลงถนน ร่างกฎหมาย แต่ตัวอักษรก็เป็นการต่อสู้ได้
ตั้งแต่จำความได้เราไม่เคยอ่านบทกวีมากไปกว่าร้อยแก้วร้อยกรองในหนังสือวรรณคดีไทย ‘ปานหยาดน้ำผึ้ง’ นับว่าเป็นหนังสือบทกวีเล่มแรกที่เราตัดสินใจซื้อมาอ่านและเก็บไว้ เพราะข้อความแสนเรียบง่ายของหนังสือเล่มนี้สามารถสะท้อนถึงตัวตนอันซับซ้อนของผู้หญิงที่ถูกกดทับด้วยวัฒนธรรมได้อย่างสละสลวยจริงๆ
‘ปานหยาดน้ำผึ้ง’ คือหนังสือที่รวบรวมความเรียงและกวีของ รูปี กอร์ (rupi kaur) นักประพันธ์ ศิลปิน และผู้ลี้ภัยชาวแคนาดาเชื้อสายอินเดีย วัย 26 ปี ที่ถ่ายทอดงานเขียนและภาพวาดสะท้อนเรื่องราวของเธอผ่านสื่อสมัยใหม่ในโซเชียลมีเดียอย่างอินสตาแกรม ซึ่งได้โดยใจหญิงสาวมากมายทั่วโลก สร้างวงกระเพื่อมให้แวดวงการเขียนและการอ่าน ถึงขั้นมีคำบัญญัติเรียกรูปแบบงานเขียนของรูปีว่า บทกวีอินสตาแกรม (Instapoetry / Instagram Poet) ขึ้นมาใหม่เลยทีเดียว
ในหนังสือเล่มนี้แบ่งเป็น 4 บท คือ รวดร้าว (the hurting) หลงรัก (the loving เลิกรา (the breaking) และ เยียวยา (the healing) ซึ่งแต่ละบทจะบอกเล่าเรื่องราวความรัก ความสูญเสีย ความบอบช้ำทางใจ การเยียวยา และความเป็นหญิง ที่ไม่ได้มีเพียงเรื่องราวจากประสบการณ์ตรงของเธอเท่านั้น แต่ยังมีของของแม่ ของยาย ผู้หญิงสังคมอินเดีย สะท้อนเรื่องราวการถูกกดทับในหลากหลายมิติของเพศหญิงในทวีปเอเชียใต้ ผ่านภาษาที่เรียบง่ายแต่ซื่อตรง
สิ่งที่เราชอบในหนังสือเล่มนี้คือรูปีไม่ได้สะท้อนแต่เรื่องราวความร้าวรานของผู้หญิงที่เกิดขึ้นในสังคมชายเป็นใหญ่ แต่พยายามจะเยียวยาและให้กำลังใจแก่หญิงสาวที่เผชิญเรื่องราวความเจ็บปวดไม่ต่างกัน
แม้ว่าเรื่องราวใน ‘ปานหยาดน้ำผึ้ง’ นั่นจะเป็นประสบการณ์ส่วนตัวสุดๆ แต่หนังสือเล่มนี้ทำให้เด็กผู้หญิงจำนวนมากในโลกออนไลน์กล้าที่จะลุกขึ้นมาเล่าประสบการณ์ที่ถูกคนในครอบครัวคุกคามและล่วงเมิดทางเพศ ทำให้คนทั่วโลกได้เห็นว่าปัญหาการคุมคามทางเพศนั้นไม่ได้เกิดขึ้นกับคนแค่หยิบมือ แต่เป็นปัญหาร้ายแรงที่เด็กสาวหลายคนยังต้องเจอ และเป็นสิ่งที่ควรได้รับการแก้ไข เราจึงไม่แปลกใจว่าทำไมรูปีถึงได้รับการยกย่องว่าคือเสียงของหญิงสาวแห่งยุคสมัย ส่วน ‘ปานหยาดน้ำผึ้ง’ ก็เป็นหนึ่งในความเรียงเฟมินิสต์เล่มสำคัญแห่งยุคสมัยเช่นเดียวกัน
ภาพถ่าย มณีนุช บุญเรือง
Read More:
ฉันอ่าน ฉันจึงมีหวัง
อ่าน 6 หนังสือฝีมือนักเขียนไทย ที่ทำให้รู้ว่าการต่อสู้นี้ยังมีหวัง
ครอบครัวที่รัก และ___________
ครอบครัวที่ต้องเติมคำในช่องว่าง และความรักที่มีแต่…เสมอ
เขื่อนเพื่อฉัน? ฝันเพื่อใคร?
เขาบอกว่าเขื่อนไม่ดี แล้วทำไมปี 2021 ใครบางคนยังอยากได้เขื่อนอยู่อี้ก (เสียงสูง)