มีเงินอย่างเดียวก็อิ่มหลายคนได้ #eat
วันวันนึงก็ต้องกินหลายมื้อ ยังไม่นับขนม น้ำ กาแฟ และอื่นๆ ตามความเอนจอย ถ้าเงินที่เราใช้จ่ายให้กับส่วนนี้ช่วยอุดหนุนส่วนอื่นๆ ในชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมได้ มันก็ดีใช่ไหมล่ะ!
มีเงินอย่างเดียวก็สร้างเศรษฐกิจชุมชนได้ด้วยการอุดหนุนร้านค้าใกล้บ้าน
ร้านตามสั่งหน้าปากซอย ร้านโชห่วยใกล้บ้าน แผงผักเล็กๆ ริมทาง หรือแม้แต่ร้านเก๋าเก่าแก่แสนอร่อยที่เราชักจะไม่ค่อยได้ไป เพราะจอดรถไม่สะดวกเหมือนไปฝากท้องในห้างหรือคอมมูนิตี้มอลล์ ลองหันกลับมาฝากท้องไว้กับพวกลุงๆ ป้าๆ อีกครั้ง นอกจากจะได้อร่อยในราคาเป็นมิตร ยังได้อุดหนุนให้พวกเขายังอยู่กับชุมชนต่อไปนานๆ ซึ่งก็หมายถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับไมโครให้เข้มแข็งขึ้นอีกหน่อย
มีเงินอย่างเดียวก็เป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้นผ่านการอุดหนุนคาเฟ่ใจดี
อย่าให้ใครเขามาค่อนขอดว่าเราเอาแต่ไปนั่งคาเฟ่เก๋ไปวันๆ ก็คาเฟ่หลายแห่งมีแนวคิดที่ดีเรื่องชุมชน ผู้คน และสิ่งแวดล้อมไม่น้อยนะ ยกตัวอย่างได้ก็เช่น
- Eden’s คาเฟ่เก๋ที่อยู่อุดหนุนชุมชนเก๋า ทั้งโปรเจกต์ Oldtown East เล่าเรื่องเมืองเก่าในย่านที่ร้านตั้งอยู่ (ร่วมกับร้าน Alex&Beth) ทั้งกระดาษรองเสิร์ฟที่พิมพ์ในโรงพิมพ์เก่าในย่าน ทั้งวัตถุดิบในร้านที่ขี่จักรยานไปซื้อในตลาดเช้ากลางเมืองเก่า และที่เราว่าน่ารัก คือที่ร้านมีเมนูแซนด์วิชหน้าเนื้ออบซอสศรีราชา ที่ปรุงจากซอสพริกหัตถกรรมาคาร ซอสพริกเก่าแก่ที่มีหน้าร้านอยู่ที่ถนนเฟื่องนคร และเนื้ออบจากร้านเก๋าๆ ในย่าน นอกจากอร่อยมาก ยังรู้สึกว่าได้อุดหนุนหลายร้านในอิ่มเดียว
- Kurasu BKK นอกจากกาแฟดี เมนูเสริมในร้านยังดีด้วย และถ้าสืบต่อเราก็จะได้เห็นเส้นทางที่ทอดไปดีเชียว อย่างถ้าเรากินขนมปังปิ้งร้านนี้ เขาเลือกจาก Salee Bakehouse ที่เลือกใช้แป้งสาลีจากเกษตรอินทรีย์ไทยจากสะเมิง เลือกใช้เนยจากบ้านภูออร์แกนิกที่เลี้ยงวัวแบบอินทรีย์ เราก็ได้กินของดี และได้อุดหนุนให้เกษตรกรอินทรีย์ที่ยังนิชมากๆ ได้มีแรงปลูกแรงเลี้ยงต่อไป
- Na Café at Bangkok 1899 คาเฟ่ในบ้านโบราณสุดเท่ แล้วยังมีแนวคิดเรื่องสังคมเต็มเปี่ยม เมนูจากผักผลไม้ปลูกเอง จริงจังเรื่อง Zero waste จัดตลาดฟาร์มเมอร์สมาร์เก็ตเอง และยังขับเคลื่อนเรื่องเยาวชนในชุมชนและผู้ลี้ภัยด้วยล่ะ
- Wasteland โปรเจกต์ใหม่ของโบ.ลาน เป็นคอกเทลที่เน้นเรื่องการเอาวัตถุดิบในร้านโบ.ลานมาทำคอกเทลเพื่อให้ไม่เหลือขยะเลยแม้แต่อย่างเดียว ซึ่งแน่นอนว่าเป็นวัตถุดิบออร์แกนิกทั้งหมด ดีในภาพรวมและอร่อยลุ้นดี
- Step with Teera คาเฟ่ที่เราได้อุดหนุนให้น้องๆ ออทิสติกได้อยู่ในสังคมและมีอาชีพ และได้รับการยอมรับจากคนอื่นๆ ในสังคม ซึ่งเราว่าโอ้ย มันจำเป็นนะ!
- แน่นอนว่ายังมีร้านดี มีสตอรี่ให้น่าอุดหนุนอีกมาก ลองตามหาและไปหนุนดูสิ
มีเงินอย่างเดียวก็อุดหนุนวิถีอินทรีย์ได้ผ่าน Farmer’s Market
แค่อยากจะบอกว่าการหิ้วตะกร้าไปเดินตลาดสีเขียวไม่ใช่เรื่องชวนฝันโรแมนติกเกินไป แม้ในระยะแรกจะรู้สึกว่าราคาแรงไปหน่อย แต่ถ้าลองผูกปิ่นโตจริงจัง ปรับเปลี่ยนวิธีกิน ตุนและออกแบบการกินให้ได้หลายๆ มื้อ การเลือกวัตถุดิบจากเกษตรกรอินทรีย์ไม่ได้แพงจนต้องถอยหนี ทั้งข้าว ผัก เนื้อสัตว์ ไข่ไก่ ขนมปัง ฯลฯ ในแง่หนึ่งก็ดีต่อสุขภาพแน่ๆ เพราะไม่ต้องเสี่ยงกับสารเคมีตกค้างชัวร์ แง่สองคืออร่อย สด กรอบ ดี (คอนเฟิร์มจ้า)
และในแง่สามก็คือ การอุดหนุนให้พี่ๆ ลุง ป้า น้า อา ที่สู้กับการทำเกษตรปลอดเคมีที่ยากกว่า ประณีตกว่า ใช้เวลามากกว่า เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี และมันก็ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่าเกษตรเชิงเดี่ยวเคมีหนักข้อ การได้อุดหนุนเขาก็เท่ากับเราช่วยสิ่งแวดล้อมในอีกทางหนึ่ง
จะให้ปลูกเองก็ไม่ไหว จะแบนสารเคมีอันตรายรัฐก็ยักแย่ยักยันเดี๋ยวแบนเดี๋ยวคัมแบค ก็ใช้เงินของเรานี่แหละอุดหนุนภาคเล็กๆ ให้ทำไป ถ้าเราช่วยกันหนุน เกษตรอินทรีย์แมสขึ้น ราคาก็จะถูกลงตามมา ช้าหน่อยแต่ก็ดีกว่ารอเฉยๆ นี่นา
ตลาดสีเขียวในกรุงมีให้เลือกเยอะแยะ เจ้าประจำติดตลาดและเข้มแข็งก็มี ตลาดสีเขียว กลุ่มปันอยู่ปันกิน ตลาดอินทรีย์ใน อตก. Greenery Market ตลาดวิถีธรรมชาติ JaiTalad และอื่นๆ ทั้งเล็กทั้งใหญ่ หาเอาที่ใกล้ๆ แล้วแวะไปฝากท้องบ่อยๆ ดู
มีเงินอย่างเดียวก็ดูแลร่างและโลกได้ #body
อย่าคิดว่าเรื่องตัวกูจะเป็นของกูเท่านั้น เพราะการดูแลตัวเองก็ดีกับโลก (หรืออย่างน้อยก็สร้างผลกระทบต่อโลกน้อยๆ ได้) แถมยังใจดีกับคนอื่นได้ด้วยเหมือนกัน
มีเงินอย่างเดียวก็อุดหนุนวิถีอินทรีย์ผ่าน Farmer’s Market ได้
นอกจากของกิน ในตลาดสีเขียวยังมีสารพัดของใช้ที่ดูแลร่างได้หัวจดเท้า ให้เลือกใช้ ย้ำอีกทีว่าปลอดภัยจากเคมีหรือเคมีต่ำ ก็แน่นอนว่าดีต่อร่างและโลกมากกว่า
มีเงินอย่างเดียวก็ลดขยะได้ด้วยการซื้อสินค้าผ่านร้านรีฟิล
ปฏิเสธไม่ได้ว่าบรรจุภัณฑ์พลาสติกสะดวกและง่ายกับชีวิตทั้งในแง่การขนส่งและความสะอาด แต่พอมาดูว่าปีปีนึงเราต้องทิ้งขยะบรรจุภัณฑ์เท่าไหร่ก็พบว่าไม่น้อยเหมือนกัน การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์แบบเติมเองได้ ใช้ภาชนะเดิมๆ วนไปก็ย่อมดีกว่า เพราะมันเท่ากับการลดใช้ทรัพยากรตั้งแต่ต้นทาง ไม่ต้องไปจัดการรีไซเคิลให้ยากกระบวนการ ร้านค้ารีฟิลยุคนี้ก็มีให้เลือกหลากหลาย ใกล้ที่ไหนก็ไปที่นั่น เพราะนอกจากจะได้เติมผลิตภัณฑ์ดูแลร่าง ยังได้ไอเท็มที่ดีกับโลกมาเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ไปด้วย จะเป็นร้าน refill station, Zeromoment, less plasticable, normal shop, Ringo&Friends หรืออีกมาก ก็เลือกเติมได้ตามถนัด
มีเงินอย่างเดียวก็แต่งสวยด้วย อุดหนุนอุดมการณ์ Slow Fashion ด้วยได้
สวยเลือกได้ แต่จะเลือกระหว่างฟาสต์แฟชั่นที่ผลิตจริง ผลิตจัง กลายเป็นขยะเร้วเร็ว เพราะเราใส่แป๊บๆ ก็เบื่อ ก็ทิ้ง หรือจะเลือกสโลว์แฟชั่นเน้นใช้นาน ใช้คุ้ม ใช้ได้หลายคน และจริงจังไปถึงขั้นใช้วัตถุดิบออร์แกนิก ใช้คนในชุมชนผลิต หรือแม้แต่ลดการสร้างขยะในมิติอื่นๆ
- Folkcharm และ Mae Teeta สองแบรนด์น่ารักที่จริงจังตั้งแต่การเลือกเส้นใยที่ดีจากการปลูกแบบออร์แกนิก ให้แม่ๆ ยายๆ ในชุมชนทอด้วยวิถีดั้งเดิม แต่เอามาออกแบบให้เก๋ไก๋ร่วมสมัย ไม่ใส่แล้วเบื่อหรือทิ้งไปง่ายๆ
- Taktai แบรนด์ที่จริงจังเรื่องนวัตกรรมจนได้เส้นใยจากไผ่ ใส่สบาย ระบายอากาศดี
- MadMatter แบรนด์ฉิกที่เอาวิธีคิดแบบดีไซเนอร์มาจัดการขยะจากเสื้อผ้า dead stock ให้ออกมาน่าอุดหนุน เพิ่มมูลค่าให้ขยะและลดการทิ้งไปด้วยในฉิกเดียวกัน
- Standard Archives แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่จริงจังเรื่องการให้เกรดความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม หรือความ sustainability ของแต่ละไอเท็ม เน้นใส่ทน ใส่นาน บางแบบเป็นเส้นใยธรรมชาติ บางแบบทอจากเส้นใยค้างสต็อกลดการใช้ทรัพยากรใหม่ บางแบบไม่ต้องรีด (ช่วยประหยัดไฟได้อีกทาง) ไปจนถึงการย้ำแนวคิดว่าจริงๆ แล้วเรามีเสื้อผ้าน้อยชิ้นได้ แค่มิกซ์แอนด์แมตซ์ให้เก่งก็พอ
- ที่จริงก็ยังมีอีกมากแบรนด์ ค้นหาที่ถูกจริต ถูกสไตล์ และไปอุดหนุนเถอะ
มีเงินอย่างเดียวก็ปฏิวัติวงการแฟชั่นได้ ผ่านการร่วมหนุนกิจกรรมกับ Fashion Revolution
Fashion Revolution เป็นมูฟเมนต์ของโลกที่หลายๆ ประเทศรวมตัวกันเพื่อส่งเสียงว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นผลาญทรัพยากรโลกไปแค่ไหน ส่งผลให้เกิดแรงงานทาสร้ายแรงยังไง และเราในฐานะผู้สวมใส่จะปล่อยให้มันเป็นอย่างงั้นจริงๆ เหรอ
นอกจากขับเคลื่อนจริงจังในการให้คนใส่เห็นใจคนผลิต และเจ้าของแบรนด์จริงจังกับการใช้ทรัพยากรและการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หน่วยนี้ยังบอกเล่าผ่านเสวนาเรื่อง Slow Fashion มีกิจกรรมแบบ Mindful Shopper ให้เราเข้าใจใจตัวเองก่อนช้อป ไปจนถึงการชวนกับมา Clothes Swap เอาเสื้อผ้าล้นตู้มา ‘เก่าของผม แต่ใหม่ของพี่’ กัน ซึ่งบันเทิงใจดี ประหนึ่งได้ช้อปเสื้อผ้าใหม่ แต่ไม่มีใครต้องเจ็บ!
มีเงินอย่างเดียวก็อยู่เย็นโลกไม่เยินได้ #home
เพราะฐานที่มั่นของเราอย่างบ้าน มีผลทั้งจิตใจของเรา และความเยินของโลก ทั้งการเปิดแอร์ เปิดไฟ ทิ้งขยะ หรือแม้แต่การสร้างมันขึ้นมาก็เอาภูเขา เอาต้นไม้มาใช้ทั้งสิ้น มันก็เลยคงดีกว่า ถ้าการอยู่ของเรามันจะได้หนุนให้เกิดเรื่องดีๆ ขึ้นมาบ้าง
มีเงินอย่างเดียวก็จัดการบ้านให้ดีต่อสิ่งแวดล้อมได้
จะเลือกปลูกหรือรีโนเวตบ้านด้วยวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เลือกเฟอร์นิเจอร์จากป่าปลูกหรือวัสดุรีไซเคิล หาซื้อถังย่อยขยะเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ยหมัก ลงทุนกับสเตชั่นแยกขยะให้จริงจังหน่อย ใดๆ ก็ตามที่ดูเหมือนเริ่มต้นด้วยเงินซื้อนั่นแหละ แต่มันก็เชพพฤติกรรมและวิธีคิดที่เรามีต่อการใช้ทรัพยากรขณะอยู่บ้านได้ทั้งนั้น
มีของไม่ใช้อย่างเดียวก็บริจาคให้องค์กรอื่นๆ ไปทำประโยชน์ต่อได้
หากคุณคิดว่าชีวิตจะดีขึ้นทุกด้านแค่จัดบ้านครั้งเดียว ก็ขอให้แยกประเภทสิ่งของที่ได้จากการโละทิ้งไปบริจาคให้ถูกที่ก็จะดีนะ
- ปันกัน อันนี้สะดวก ง่าย มีจุดรับ (หรือจุดอุดหนุน) ในห้างใกล้ๆ บ้านมากมาย หลักการคือเอาของที่เราบริจาคไปขายต่อแล้วนำเงินไปเป็นทุนการศึกษาให้เด็กๆ ถ้าไม่ได้เก็บบ้านโครมใหญ่ เสื้อผ้าใส่ไม่ได้ตัวสองตัวก็ติดกระเป๋าไปบริจาคได้ ง่ายๆ ชิลล์ๆ
- มูลนิธิกระจกเงา กรณีเก็บบ้านครั้งใหญ่ มีข้าวของหลากหลาย หรือมีจำนวน ขับรถ หรือรวมๆ กันชวนเพื่อนที่มีรถ หรือหาแพลตฟอร์มรถขนส่งสาธารณะส่งไปที่มูลนิธิกระจกเงา วิธีจัดการบ้านนี้ดี ของที่โอเคจะขายถูกๆ ให้คนจนเมืองมาซื้อไปขายต่อ (ไม่ใช่การยกให้แบบไร้ค่า) และมีการคัดแยกขยะอย่างเป็นระบบระเบียบด้วย
- บ้านนกขมิ้น สำหรับคนรอไหวและมีจำนวน สามารถบริจาคผ่านบ้านนกขมิ้นที่มีบริการส่งรถมารับถึงบ้าน (แต่รอคิวทางผ่านนานนิดหน่อย) ซึ่งนอกจากจะบริจาคของที่ควรสภาพดี นำไปขายหรือบริจาคต่อไป จะแถมบริจาคเงินเป็นค่าน้ำมันรถไปก็ได้ด้วยเช่นกัน
อันนี้ไม่ต้องมีเงินก็ได้ แต่มีกะใจหนุนการแยกขยะ ก็ช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมได้เยอะมาก
การแยกขยะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมได้มากอย่างมีนัยสำคัญจริงๆ นะ มามีกะจิตกะใจในการทิ้งกันอีกนิด แบ่งขยะที่รีไซเคิลได้อีกหน่อย และส่งขยะที่รีไซเคิลไม่ได้ แต่นำไปเผาเป็นพลังงานได้ไปให้หน่วยงานอย่าง N15 หรือหน่วยรับใกล้บ้าน ก็จะลดการฝังกลบที่ไม่มีวันจะสลายไปได้ดีขึ้นนะ
มีเงินอย่างเดียว ก็ทำงานให้เวิร์กได้ #work
นี่คือการให้เงินทำงานในความหมายใหม่! เพราะจริงๆ การจ่ายเพื่อพัฒนาให้งานดีขึ้น ความสัมพันธ์เพื่อนร่วมงานโอเคขึ้น มี empathy กันมากขึ้น หรือแม้แต่การจัดการออฟฟิศซึ่งเป็นแหล่งสูบทรัพยากรให้ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอีกหน่อย ก็เป็นต้นทางที่ดีในการให้ทุกคนกลับไปเริ่มในพื้นที่อื่นๆ นะ
มีเงินอย่างเดียวก็ดูแลสุขภาพใจเพื่อนร่วมงานได้
การพัฒนาศักยภาพเพื่อความเป็นเลิศก็สำคัญอยู่หรอก แต่เรื่องใจก็อย่าหลงลืมไปล่ะ ยิ่งในยุคนี้ที่ทุกคนเบิร์นเอาท์กันง่าย ป่วยจากงานกันเยอะ ก็อาจจะต้องเพิ่มกิจกรรมดูแลหัวใจกันและกันไปด้วย (อันนี้หมายถึงผู้ประกอบการ หรือหัวหน้างานที่ตัดสินใจใช้เงินองค์กรได้ มองอะไรอย่างนี้ไว้บ้างก็ดีนะ)
สองสตูดิโอและหน่วยที่เราสนใจ คือ Studio Persona ที่ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการบำบัดใจคนในองค์กรก็ได้ และ Empathy Sauce ที่เน้นให้ทุกคนฟังเสียงใจตัวเองและใจกันและกันผ่านมูฟเม้นต์และวิธีคิดบางอย่าง ลองไปชิมลางเบาๆ ในเพจก่อนก็ได้
มีเงินอย่างเดียวก็จัดการให้ออฟฟิศแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพได้
จะเล่นเบอร์ใหญ่สร้างแผนกเพื่อสิ่งแวดล้อม จะไปร่วมเวิร์กช็อปหรือเชิญวิทยากรมาแนะนำวิธีแยกขยะในองค์กร หรือแค่เริ่มต้นง่ายๆ และชักชวนเพื่อนร่วมองค์กรมาช่วยกัน ก็ทำเถอะ ยิ่งคนเยอะเท่าไหร่ก็สร้างผลกระทบเชิงบวกได้มากเท่านั้นนะ
มีเงินอย่างเดียว ก็เที่ยวเล่นอย่างเป็นมิตรได้ #play
ในเมืองเมืองนี้ยังมีอะไรให้เที่ยวเล่นเพลินใจได้อีกไม่น้อย อย่าปล่อยให้ความเคยชินทำให้การท่องเที่ยวต้องออกไปนอกเมืองหรือนอกประเทศ (ที่ตอนนี้ก็ออกไม่ได้) เท่านั้น ยิ่งเดี๋ยวนี้มีกลุ่มใหม่ๆ มากมายมาทำเล่าเรื่องเมือง ทำทริปเมือง หรือสร้างการมีส่วนร่วมกับเมืองในโหมดที่บันเทิงเริงใจ จะไปล่องคลอง (หรือเสพคอนเทนต์) จากธนบุรี มี คลอง ไปร่วมกิจกรรมในชุมชนกับกลุ่มยังธน ไปทริปเที่ยวบางกอกในมุมนัวร์ๆ หรือไปร่วมกิจกรรมหรือฟังเด็กๆ ในพื้นที่เป็นไกด์เล่าเรื่องบางลำพูกับกลุ่มเกสรบางลำพู ก็ได้ และจริงๆ ก็ยังมีอีกหลายกลุ่มมากๆ ที่ทำเรื่องน่าเล่นให้ไปร่วมอุดหนุน ซึ่งนอกจากเราจะได้รับความสนุกสนานกลับไป ยังเท่ากับได้ไปอุดหนุนชุมชน ได้ส่งเสริมเด็กๆ เยาวชน หรือคนรุ่นใหม่ และไปรักษาประวัติศาสตร์ชุมชนไว้ผ่านการไม่หลงลืมมันไปนั่นเอง
มีเงินอย่างเดียว ก็รักคน รักสังคม รักสิ่งแวดล้อมได้ #love
เงินซื้อความรักไม่ได้ แต่อุดหนุนให้เราเผื่อแผ่ความปรารถนาดี และเกื้อกูลกันได้น่ะ
มีเงินอย่างเดียวก็บริจาคให้องค์กรที่ทำเพื่อสังคมได้
จริงๆ จะเลือกบริจาคให้องค์กรที่ถูกชะตา มีใบเสร็จรับเงินให้ลดหย่อนภาษี หรือจะด้วยศรัทธาก็ตามแต่ใจ แต่ที่เราอยากแนะนำคือ เทใจดอทคอม แพลตฟอร์ม ที่เป็นตรงกลางให้กลุ่มคนที่อยากทำเรื่องดีๆ เพื่อสังคมทั้งแบบกิจการเพื่อสังคม (social enterprise) หรือเอ็นจีโอให้เกิดขึ้นจริง ขยายผลได้ ด้วยการระดมทุนผ่านโลกออนไลน์ ซึ่งง่าย แทรกกิ้งได้ รายงานผลด้วย
ในบางโมเดลที่เราชอบจังและน่าสนใจ เพราะมองเห็นภาพรวมว่าเงินที่เราให้จะไปไหนต่อไหนบ้าง อย่างเช่นตอนโควิดที่ให้เราช่วยพี่ๆ น้องๆ ในชุมชนคลองเตย การบริจาคของเราคือการเอาเงินไปให้ลุงๆ ป้าๆ ร้านตามสั่งในชุมชน แล้วแจกคูปองให้คนที่ได้รับผลกระทบในชุมชนมารับข้าว แทนที่จะยกข้าวไปแจกเป็นกล่องๆ อิ่มไปเป็นมื้อๆ เศรษฐกิจในชุมชนก็ยังพอขยับเขยื้อนได้บ้าง
หรืออย่างโปรเจกต์ x3 ซูเปอร์กู๊ด ที่อุดหนุนอาหารกลางวันให้น้องๆ ในโรงเรียนห่างไกล แต่เงินของเราจะถูกนำไปซื้อผลผลิตจากเกษตรกรอินทรีย์ที่ปลูกของดี นำไปทำอาหารให้เด็กๆ กิน นอกจากอิ่มยังขับเคลื่อนวิถีปลอดเคมีนี้ให้เข้มแข็งขึ้น
อีกกลุ่มที่รักคือ จ้างวานข้า ของมูลนิธิกระจกเงาที่ช่วยหางานให้คนไร้บ้านที่เข้าถึงงานและการยอมรับได้ยากมากจริงๆ ซึ่งเราสามารถบริจาคเพื่อให้มูลนิธิจ้างคนไร้บ้านไปทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ประสบภัย มันคือการให้คุณค่าผ่านงาน มากกว่าการบริจาคเงินธรรมดา ซึ่งดีมากเนอะ
จริงๆ มีหลายรูปแบบการบริจาคที่ดีต่อคนในสังคม ดีต่อเมือง และดีต่อสิ่งแวดล้อมอีกมาก ไปแสดงความรักด้วยการเปย์เท่าที่ได้กันเถอะ
Read More:
#MushroomMission ปฏิบัติการเห็ดแปลงร่าง สื่อสารโครงการปันอาหารให้คนหิว
คุยกับผู้ริเริ่ม social project ชวนผู้คนมาวาดรูปเห็ด เปลี่ยนเรื่องหิวให้คิวท์และน่าเข้าร่วม
ไหว้เจ้า 9 ศาล กับ 9 คำอธิษฐานเพื่อเมืองที่ดีกว่านี้
รวมคำอธิษฐานจากเมือง ที่อยากให้เมืองนี้ดีและน่าอยู่มากขึ้น
ครอบครัวที่รัก และ___________
ครอบครัวที่ต้องเติมคำในช่องว่าง และความรักที่มีแต่…เสมอ