Work —— จากผู้ใช้จริง

รีวิวยกออฟฟิศไปเวิร์กช็อปศิลปะบำบัดที่ Studio Persona

“งานที่ดีคืออะไรอ่ะ”

เราถามตัวเองเรื่องนี้กันบ่อยๆ (ใช้คำว่า ‘กัน’ เพราะบ่อยครั้งก็คุยกับน้องๆ ในทีมด้วยคำถามเดียวกันนี้) เพราะเมื่อเทียบกับปัจจัยอื่นๆ ในชีวิต เราพอจะเก็ตแหละว่ากินดีมันต้องกินยังไง อยู่ดีมันเทือกๆ ไหน หรือสังคมที่ดีมันควรจะมีอะไร แต่พอถามถึง ‘งานที่ดี’ ทั้งที่เราก็รู้ว่ามันเป็นเรื่องหลักขับเคลื่อนชีวิต แล้ววันวันนึงเราก็อยู่กับงานเยอะกว่าพาร์ทอื่นใดในชีวิตด้วยซ้ำ แต่เรายังๆ วนๆ งงกันอยู่ว่างานที่ดีคืออะไร อิคิไกนี่ตอบครบทุกโจทย์ใจแล้วหรือยังนะ 

ในแง่ส่วนตัว เราพอจะมีธงในใจว่าแหละว่า งานที่ดีสำหรับเราคืองานเลี้ยงชีพชอบ คือเลี้ยงชีพได้ แล้วเราก็ชอบวิธีเลี้ยงชีพนั้น สนุกก็ดี หล่อเลี้ยงจิตใจได้ก็ดี มีประโยชน์กับคนอื่นได้ยิ่งดี และยังอยากทำให้มันดีขึ้นกว่าเดิมอยู่ ซึ่งก็ฟังดูไม่ได้ยากเย็นเท่าไหร่ แต่ในกระบวนการอยากทำให้มันดีกว่านี้ ก็รู้สึกว่ามันโบยตีและเครียดเคร่งอยู่เหมือนกัน และในฐานะผู้ประกอบการ เราก็ไปโบยตีและเครียดเคร่งใส่น้องๆ ในทีม ซัพพลายเออร์ หรือบางทีก็ลูกค้า! เลยไม่แน่ใจนักว่า ตกลงนี่มันยังดีอยู่ไหมวะ

และที่สำคัญ เรารู้สึกว่านิยาม ‘งานที่ดี’ มันคิดเองเออเองคนเดียวไม่ได้ เพราะการทำให้เป็นงานก็มีผู้ร่วมงานมากมาย การมีนิยามร่วมกันเลยเป็นสิ่งจำเป็น เพราะถ้าวิธีที่เราคิดว่าดี เพื่อนร่วมงานเราคิดว่ามันไม่เวิร์กล่ะ มันก็ไม่น่าจะใช่วิธีทำงานที่ดีและได้มาซึ่งงานที่ดีอยู่ดี (อ่านดีๆ จะไม่ค่อยงง-ฮ่า)

แต่พอชวนกันมานั่งคิดเค้นในโต๊ะประชุม มันก็ยังนึกไม่ค่อยออก เลยคิดว่าลองไปหาวิธีอื่นๆ กันดูมะ

จึงเป็นที่มาในการยกออฟฟิศ (ที่มีกันแค่ 6 ชีวิต) ไปสตูดิโอศิลปะบำบัด

“ศิลปะบำบัดนี่ฟังดูซีเรียสเนอะ”

เรารู้จัก Studio Persona ผ่านคอนเทนต์ออนไลน์ และเคยชวนมาเขียนคอนเทนต์รับเชิญให้ลูกค้า ระหว่างอีดิตเรื่องเล่าของปัท–ปรัชญพร วรนันท์ นักศิลปะบำบัดผู้ก่อตั้ง Studio Persona เราก็สนใจจริงจังว่า กระบวนการทำงานศิลปะที่มันเยียวยาบางอย่างในใจ น่าจะตอบความเครียดเคร่งหรืออะไรที่เกิดจากชีวิตที่ส่วนใหญ่มีแต่งานได้บ้าง 

พอไปทำความเข้าใจมากขึ้น ก็ได้รู้ว่า Studio Persona ตั้งใจจะทำสตูดิโอศิลปะสำหรับทุกคนที่พร้อมเปิดใจและอยากจัดการกับความรู้สึกทั้งหลายของตัวเอง ผ่านเครื่องมือทางศิลปะ แม้จะไม่มีพื้นฐานทางศิลปะมาเลยก็ได้ มีทั้งเวิร์กช็อปส่วนตัว และเวิร์กช็อปแบบกลุ่ม ซึ่งทางเราและบี (พาร์ทเนอร์) ก็มีความสนใจอยู่มาก แม้จะไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันจะออกมารูปแบบไหน แต่ก็อยากลองไปทำอะไรที่ออกนอกพื้นที่ที่เคยรู้จัก (และออกนอกออฟฟิศ) ดูสักตั้ง ก็เลยทักไปถามว่าอยากยกออฟฟิศไปเวิร์กช็อปค่า…แบบดื้อๆ นั่นแหละ

“ต้องละลายพฤติกรรม หรือเข้าห้องเปิดใจไหมอ่ะ ขนลุกมะ”

พอชวนน้องๆ ในทีมว่าไปเวิร์กช็อปศิลปะบำบัดกัน รีแอคชั่นที่ได้รับก็ชัดเจนมากว่ากลัวความขนลุก กลัวกิจกรรม team building ละลายพฤติกรรมเขินๆ แบบที่เราเคยเห็น HR ของบริษัทใหญ่ๆ และสิ่งที่กลัวมาที่สุดคืองานล้อมวงเปิดใจร้องห่มร้องไห้ พี่เข้าใจน้อง น้องเข้าใจพี่ เรามาสร้างงานที่ดีกันเถอะ!

เอาจริงๆ ชื่อกิจกรรมที่ Studio Persona ส่งมาว่า Arts for the Organization & Team building ก็ชวนให้เราหวั่นใจนิดๆ เหมือนกันแหละ แต่ก็ทำใจดีสู้น้องไว้ 

จนวันที่ได้ไปนั่งยืดแข้งยืดขากลางสเปซแสนสวยในสตูดิโอ ฟัง Agreements Discussion ร่วมกันว่าวันนี้เราจะปลดปล่อยจิตใจ ไม่ตัดสิน และอนุญาตให้ตัวเองทำสิ่งต่างๆ ที่ไม่เคยทำ เราก็คิดว่าจะลองดูสักตั้งแหละ!

แล้วก็กลายเป็นว่า เราไม่โมเมนต์อะไรที่แต่ละคนกลัว และอันที่จริงก็พูดกันน้อยกว่าอยู่ออฟฟิศอีก

“ปั้นอะไรก็ได้เลยเหรอ”

เวิร์กช็อปแรกที่เราได้ทำกัน คือให้หลับตาและครีเอทท่าทางที่บ่งบอกความรู้สึกของตัวเองในวันนี้ บางคนก็เลือกนอนทิ้งตัวไปเลยเพราะรู้สึกป่วย บางคนก็เลือกยืนนิ่งๆ แบบไม่ต้องเกร็งหรือฝืน แล้วให้เพื่อนๆ แต่ละคนก็ลองทำตามดู เราเลือกท่าที่เอียงหัวมาหาไหล่เพราะรู้สึกปวดตึงที่คอมาก แต่พอรู้ว่าปวดตรงไหนกลับรู้สึกดีขึ้น เป็นโมเมนต์เล็กๆ ที่เวลายืดตอนปวดเมื่อยก็ไม่เคยคิดจะหานิยามอะไรของมัน การมีพื้นที่ได้คุยกับตัวเองว่าเจ็บตรงไหน สบายตรงไหน ก็นับว่าเข้าท่าดี

แต่สิ่งที่สนุกลำดับถัดไปก็คือการเปิดพื้นที่ให้แต่ละคนได้แยกย้ายกันไปทำงานศิลปะของตัวเองในหัวข้อ “Who am I now and Who you would I like to be?” โดยที่สตูดิโอมี material ให้เลือกใช้มากมาย ทั้งสีสารพัดแบบ กระดาษ ภาพแมกกาซีนให้ทำคอลลาจ ผ้า วัสดุดีไอวาย ไปจนถึงดิน แล้วก็บอกว่าอยากจะทำอะไรก็ทำได้เลย

เราเลือกดินเพราะชอบเวลาที่ได้บี้ ปั้น ขยำ คลึง แล้วมันคล้ายจะเพลินๆ ลืมๆ ความเครียดไป ปัทแวะมาคุยเพิ่มความมั่นใจกับเราว่าเลือกมีเดียมได้ถูกต้องกับความเครียดตอนนี้ เพราะความปวดตึงสามารถเยียวยาได้ด้วยการปั้นเหมือนกัน และในแง่การบำบัด ดินเปรียบเหมือนสัญลักษณ์แห่งการสัมผัสของโลกและธรรมชาติ ช่วยในเรื่องการเยียวยา และตระหนักรู้ได้ เราก็คลึงๆ ปั้นๆ ไป พยายามจะไม่ออกแบบ ไม่วางแผนเหมือนอย่างที่ทำตลอดการทำงาน แต่สุดท้าย เราก็รู้สึกสนุกกับการได้ปั้นมันออกมาเป็นอาหาร คล้ายการเล่นขายของตอนเด็ก และความรู้สึกชอบตัวเองเวลาอยู่ในครัว 

หลังจากที่ทุกคนหมกมุ่นกับงานตรงหน้าจนเสร็จ เราก็ได้ชื่นชมผลงานของแต่ละคน เป็นครั้งแรกเลยมั้งที่เราฟังงานของน้องๆ โดยไม่ต้องคอมเมนต์หรือตัดสิน เราได้เห็นงานคอลลาจของตะเกียบที่เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ ที่เล่นสนุกแบบไม่ต้องสนกริด ได้เห็นความสับสนและความเป็นไปได้เยอะแยะในงานของเอมและวิว ที่เป็นคอนเทนต์ไรเตอร์ ได้เห็นงานทอจากเศษผ้าของเม อาร์ตไดฯ ที่เลือกทำงานที่มีเท็กซ์เจอร์จับต้องได้ เพราะเลี่ยนงานแบนๆ 2D ในหน้าจอมาก สัมผัสได้ถึงความรู้สึกคลี่คลายใจแม้จะเห็นปมมัดแน่นในงานของเม และได้เห็นงานปั้นบูดเบี้ยวแบบบี ที่เออ มันก็บีจริงๆ 

แม้เราจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับการอธิบายสิ่งที่อยู่ในใจที่ผ่านออกมาในงานแต่ละคน แต่ก็ดูเหมือนว่าเราจะเข้าใจแต่ละคนกันมากขึ้นนะ

ตะเกียบบอกเราว่า “พี่เต้ดูมีความสุขกับอาหารนะ” 

แว่บแรกก็คิดว่า เอ๊ะ หรือนี่ฉันต้องลาออกไปเป็นแม่บ้านอยู่ในครัวเพื่อเสพสุขตลอดไป แต่แว่บถัดมาก็คิดได้ว่า “ลูกค้าคะ เอางานอาหารมาอีกค่ะ ทางนี้แพสชั่นแรงกล้าจริงๆ” 

“ระบายสีด้วยกันแล้วมันยังไง”

หลังกินข้าว กินขนม ช่วงบ่ายเรามีกิจกรรมขยับกันนิดหน่อย เป็นการให้เล่นเลียนแบบท่าทางกัน หรือเลี้ยงไม้ชิ้นเล็กๆ ด้วยนิ้วกับคู่โดยที่ห้ามพูดกัน แล้วก็วิ่งเล่นกันไม่ให้ชนเพื่อนคู่อื่น 

ในแง่คนแก่ที่ไม่ได้วิ่งเล่นอีกแล้ว กิจกรรมที่ว่านี้ก็สนุกดี แต่สิ่งที่สังเกตได้คือ เราและน้องๆ ในทีมไม่ค่อยชอบมองตากัน เอะอะก็หลบตากันตลอดจนจะชนกันหลายที!

หรืออย่างตอน Create the World as we experience it สตูดิโอให้กระดาษกลมแผ่นโตพวกเรามาหนึ่งแผ่น แล้วบอกให้แต่ละคนจะวาดหรือทำอะไรบนกระดาษแผ่นนี้ก็ได้ เริ่มจากตัวเองก่อน แล้วค่อยทำงานร่วมกัน แต่ต้องสื่อสารกันโดยไม่พูด ในแง่สัญลักษณ์ วงกลมถือเป็น complete shape ที่สตูดิโอชอบใช้ในกระบวนการทำงานศิลปะ เพราะสื่อถึงการเริ่มต้น การแชร์ การจบ ความปลอดภัย และการซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน แต่ผลลัพธ์คือเราทุกคนต่างวาดต่างทำอยู่ในมุมของตัวเอง จนบีต้องลุกขึ้นมาบอมบ์งานเพื่อนเพื่อให้ทุกคนเริ่มขยับออกจากพื้นที่ตัวเอง ในขณะที่เราก็เอาแต่มองภาพรวมว่าทุกคนทำอะไร แล้วพยายามจะแทรกบางอย่างเพื่อให้งานมียูนิตี้ขึ้นมา

กิจกรรมช่วงท้าย เราได้คุยกันนิดหน่อยถึงสิ่งที่รู้สึกในวันนี้ ทุกคนพูดเหมือนกันว่ารู้ว่าเพื่อนและพี่เป็นแบบไหนนะ แต่วันนี้มันถูกทำให้ชัดเจนขึ้นมาก เราเริ่มเข้าใจน้องๆ และตัวเองว่าต้องการพื้นที่แค่ไหน ความรู้สึกคอมฟอร์ตปลอดภัย (และปลอดคน) กับอะไร อ่อนไหวกับเรื่องไหน กังวลอะไร และทำไมคนออฟฟิศนี้มันถึงโลกส่วนตัวสูงกันขนาดนี้วะเนี่ย!

ด้วยความสงสัย เราถามปัทไปว่า พอพูดถึงการทำงานเป็นทีม ภาพของคนส่วนใหญ่มันคือการร่วมแรงร่วมใจ ทำอะไรร่วมกัน แล้วกับเนเจอร์ของเพื่อนร่วมงานที่เป็นศูนย์รวมคนโลกส่วนตัวสูงอย่างพวกเรา มันจะทำงานทีมกันยังไงให้เวิร์ก หรือเพื่อนที่ไม่ได้โลกส่วนตัวสูงด้วย จะอยู่ยังไงให้ไหว แต่คำถามที่ปัทถามกลับมาคือ แล้วเรารู้สึกถึงปัญหานั้นหรือเปล่า

จริงๆ ก็อาจจะไม่ แต่สิ่งสำคัญที่เราควรรู้ไว้ คือการเคารพความเป็นตัวเองของกันและกัน

“กลับออฟฟิศมา แล้วไงต่อ”

ไหนๆ ก็ยอมเปิดใจไปทำสิ่งที่กลัวร่วมกันมาแล้ว เลยขอให้น้องๆ แชร์สิ่งที่รู้สึกกับเวิร์กช็อปนี้ด้วยกัน นอกเหนือจากความสนุก ความชอบ ไม่ชอบ โอเค ก็ได้ ก็ดี อันนี้ชอบมาก ว่ากันไป เราก็เลยลองออกแบบวิธีการทำงานใหม่ร่วมกัน จากความเป็นตัวเองที่เราได้เรียนรู้กันใหม่ 

ทุกอย่างแค่เริ่มต้น เรายังมีเรื่องให้ลองผิดลองถูกมากมาย จะประชุมกันแบบไหน เสนอไอเดียกันยังไง แชร์แพสชั่นกันได้มากน้อยแค่ไหน จัดระเบียบใจตัวเองยังไง ทุกอย่างยังคงเป็นเรื่องใหม่ เหมือนลองเวิร์กฟรอมโฮมกันตั้งแต่ก่อนโควิดยันตอนนี้ การลองกระโจนไปทำงานแบบใหม่ๆ ไปจนถึงการจะลองอะไรอีกหลายอย่างไปด้วยกัน

แค่พร้อมจะปรับเปลี่ยนไปด้วยกัน ก็น่าจะเป็นนิยามงานที่ดีแบบหนึ่งละนะ 

ภาพถ่าย: Butter.n

Content Designer

อดีตผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร #aday คือเจ้าของหนังสือทั้งเรื่องจริงและเรื่องแต่ง อาทิ #สนธิสัญญาฟลามิงโก #ร้านหวานหวานวันวาน คือบรรณาธิการอิสระและคอนเทนต์ครีเอเตอร์ฟรีแลนซ์ ก่อนจะมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทออกแบบคอนเทนต์ที่ยังไม่รู้จะตั้งชื่อตำแหน่งตัวเองว่าอะไร

Read More:

Work มนุษยสัมพันธ์

คุยกับ 4 เจ้าของโต๊ะทำงานที่ใช่ ในวัน Work From Home

In a Relationship with My Workstation!

Work สาระสำคัญ

มันคงเป็น KRAM รัก เมื่อของพรีเมียมองค์กรก็มี 'คราม' ใส่ใจโลก

ของพรีเมียมองค์กรที่ย้อม ‘คราม’ ใส่ใจโลก ให้คนในก็รัก คนนอกก็เลิฟ

Work สาระสำคัญ

work from home ยังไง ให้งานยังเวิร์ก!

วิธีทำงานให้รอดและอยู่อย่างปลอดภัย เมื่อต้อง work from home