เราได้ยินมาเรื่อยๆ ว่าหนึ่งในปัญหาหลักของอุตสาหกรรม Fast Fashion คือการใช้แรงงานทาสยุคใหม่ ที่มีปัญหาทั้งการกดค่าแรงให้ต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่มีสวัสดิการ ต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม มีการใช้แรงงานเด็ก ในบางพื้นที่ยังมีการล่วงละเมิดทางเพศและทำร้านร่างกาย วิถีการปฏิบัติเหล่านี้คือการกดขี่แรงงานที่แทบจะไม่ต่างอะไรกับการปฏิบัติกับทาสในอดีต
เรารู้ว่าการแก้ปัญหาแรงงานทาสนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย อยากหันมาใช้เสื้อผ้าแบรนด์ยั่งยืนก็พบว่าสุดแสนจะแพง หลายแบรนด์ที่เคลมว่าตัวเองดีต่อโลกก็อาจจะอีโค่ไม่จริง แม้กระทั่งแบรนด์ที่เรารู้ว่ามีแนวคิดยั่งยืนสุดๆ ก็ยังพลาดพลั้งมีข่าวว่าใช้ฝ้ายจากแหล่งผลิตที่ใช้แรงงานทาสได้
การจะแก้ปัญหานี้ให้ได้จริงๆ จริงต้องใช้การรวมพลังแก้ไขทั้งจากตัวแบรนด์เสื้อผ้า โรงงานผลิต นโยบายภาครัฐของแหล่งผลิต รวมถึงผู้บริโภคอย่างเราที่แม้ว่าเป็นกลไกที่เล็กๆ แต่ก็มีพลังอย่างมากในการกดดันให้แบรนด์ต่างๆ ออกมาแสดงจุดยืนที่รับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น เหมือนกับแคมเปญเลิกทาสที่ยังมีอยู่จริงในศตวรรษที่ 21 เหล่านี้ที่ได้ผลมาแล้ว
#whomademyclothes
จากโศกนาฏกรรมสู่การปฏิวัติวงการฟาสต์แฟชั่น
ในวันนี้ปัญหาแรงงานทาสอาจจะเป็นเรื่องใหญ่ที่ใครๆ ก็เริ่มตระหนัก แต่ถ้าย้อนกลับไปประมาณ 10 ปีที่แล้วแวดวงแฟชั่นนั้นยังไม่ค่อยมีใครสนใจว่าเสื้อผ้าของเราผลิตโดยใคร กระทั่งแบรนด์ผู้ผลิตเองก็ไม่รู้ว่าซัพพลายเออร์ของพวกเขาตั้งโรงงานอยู่แห่งหนใดบนโลกใบนี้ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์โรงงานผลิตเสื้อผ้า ณ ตึก Rana Plaza ในบังกลาเทศถล่มในปี 2013 จนมีผู้เสียชีวิต 1,134 คน ที่มีการเปิดเผยข้อมูลคุณภาพชีวิตพบว่าแรงงานเหล่านี้คือกลุ่มที่ทำงานเย็บเสื้อผ้าแบรนด์ดังระดับโลก แต่กลับได้เงินเดือนเพียง 1,600 บาทต่อเดือน ขณะที่ต้องทำงานมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน และยังมีการใช้แรงงานเด็กด้วย!!
เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติครั้งสำคัญของวงการแฟชั่น ทำให้เกิดแคมเปญรณรงค์มากมายออกมาเรียกร้องให้แบรนด์ทั้งหลายแสดงความรับผิดชอบกับการสูญเสียและแสดงจุดยืนว่าจะไม่ใช้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอีก ซึ่งนักเคลื่อนไหวกลุ่มสำคัญที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นี้ก็คือ Fashion Revolution ซึ่งริเริ่มโดยกลุ่มดีไซเนอร์ในอังกฤษออกมารวมตัวกันบอกว่าวงการแฟชั่นจะเป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้แล้วนะ เพราะนี่มันคืออุตสาหกรรมทาสสมัยใหม่ของโลกชัดๆ (Modern Slavery) เกิดเป็นเคมเปญเเฮชเเท็ก #whomademyclothes เพื่อให้คนเกิดการตั้งคำถามว่า กว่าจะมาเป็นเสื้อผ้าที่เขาใส่อยู่ มันมีที่มาจากไหน ใครเป็นคนทำ
ซึ่งนอกจากดีไซเนอร์แล้วพวกเขาก็ยังได้ชวนให้ผู้บริโภคคนอื่นทั่วโลกมาร่วมกันติดเเฮชเเท็กเกิดเป็นกระแสไวรัลไปทั้งโลกออนไลน์ มีคนร่วมติดแฮชแท็กกว่าแสนคนอย่างตัวอย่างเช่นในเดือนเมษายนปี 2020 ที่ผ่านมาเพียงแค่เดือนเดียวก็มีคนร่วมติดแฮชเเท็ก #whomademyclothes มากถึง 184,000 ครั้ง และที่สำคัญคือมีการตอบรับจากแบรนด์ชื่อดังทั่วโลก เช่น Stella McCartney, Marimekko, H&M ผ่านแฮชแท็ก #imadeyourclothes ด้วย ซึ่งจากสถิติที่ Fashion Revolution เขาบอกว่ามีแบรนด์ออกมา Take Action กว่าสองหมื่นแฮชแท็ก
นอกจากแคมเปญ #whomademyclothes แล้ว Fashion Revolution ยังมีแคมเปญอื่นๆ ที่ชวนทุกคนมามีส่วนร่วมได้ทุกๆ ปี ปีนี้จะมีแคมเปญอะไรบ้างรอติดตามกันได้ที่เพจ Fashion Revolution Thailand
Fashion Slaves
หนังสือสารคดีที่กดดันให้เกิดการปลดปล่อยแรงงานเด็กในพม่า
อีกหนึ่งเหตุการณ์การแฉแบรนด์ Fast Fashion ครั้งใหญ่ที่แทบจะทำให้แบรนด์ดังของสวีเดนอย่าง H&M เจอวิกฤตหนัก เมื่อหนังสือ Modeslavar หรือ Fashion Slaves วางขาย ซึ่งในหนังสือเล่มนี้นักข่าวสวีเดนผู้เขียนได้ลงพื้นที่ไปยังพม่า เพื่อสำรวจโรงงานการผลิตเสื้อผ้ามากมายพร้อมกับสัมภาษณ์แรงงานทั้งหลาย หนึ่งในนั้นมีเด็กสาวพม่าวัย 14 ปีที่ต้องทำงานในโรงงานซึ่งผลิตเสื้อผ้าให้ H&M มากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน และได้ค่าจ้างเพียงแค่ 15 เซนต์ต่อชั่วโมงน้อยกว่าครึ่งหนึ่งค่าจ้างขั้นต่ำ
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการรายงานว่าแบรนด์เสื้อผ้านี้ใช้แรงงานเด็ก ก่อนหน้านี้หนังสือพิมพ์ของสวีเดน เคยได้เข้าเยี่ยมชมโรงงานสิ่งทอของ H&M ในกัมพูชา ซึ่งมีแรงงานตัดเย็บเสื้อยืดอยู่ประมาณ 8,000 คน และพบว่าโรงงานดังกล่าวมีเด็กขาดอาหารอายุประมาณ 14-15 ปี ทำงานอยู่ในสภาพที่ใกล้เคียงกับทาส โดยเด็กหญิงได้รับเงินเพียง 0.12 โครน ต่อเสื้อทีเชิ้ต 1 ตัว บางคนทำงานเป็นเวลานานจนหมดสติด้วย
หลังจากการรายงานของนักข่าวชาวสวีเดนได้เกิดกระแสกดดันมากมายทั้งจากชาวสวเดนและ NGO ทั่วโลก จนทำให้บริษัท H&M ทำการสอบสวนเรื่องนี้ด้วยตัวเองทั้งตรวจโรงงาน สัมภาษณ์ทั้งคนงานและผู้นำสหภาพแรงงานและออกนโยบายอย่างชัดเจนว่าห้ามไม่ให้โรงงานผู้ผลิตมีการใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 14- 17 ปีเป็นอันขาด
#freeuyghurs #enduyghurforcedlabour
แคมเปญออนไลน์ที่ทำให้แบรนด์หยุดการใช้แรงงานในอุยกูร์
ในปี 2020 ที่ผ่านมาก็มีแคมเปญไวรัลที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเรียกร้องให้แรงงานในอุยกูร์อย่าง #freeuyghurs และ #enduyghurforcedlabour หลังจากมีรายงานจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่าชาวอุยกูร์ กลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในมณฑลซินเจียงซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน กว่าล้านคนถูกทรมานในค่ายปรับทัศนคติของจีน (political re-education camps) ซึ่งในค่ายแห่งนี้ก็ได้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลากหลายรูปแบบ ทั้งการทรมานร่างกาย ล่วงละเมิดทางเพศ สอดแนมตลอดเวลา และการบังคับใช้แรงงาน ซึ่งหนึ่งในโรงงานที่มีความเกี่ยวข้องกับการบังคับให้แรงงานชาวอุยกูร์ก็คือโรงงานฝ้ายในซินเจียงที่เป็นแหล่งผลิตฝ้ายรายใหญ่ที่สุดของโลก และได้ส่งฝ้ายคุณภาพสูงให้แบรนด์เสื้อผ้ามากมาย
แคมเปญ #freeuyghurs มีจุดเริ่มต้นจาก Raphaël Glucksmann สมาชิกรัฐสภายุโรปและองค์กร European Uyghur Institute ที่สร้างแฮชแท็กนี้ขึ้นมาเพื่อรณรงค์ให้ทุกคนได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับชาวอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง พร้อมกับ Call Out ไปยังแบรนด์ต่างๆ ที่มีโรงงานตั้งอยู่ในมณฑลแห่งนี้ให้ออกมาตรวจสอบโรงงานของพวกเขา
ซึ่งแคมเปญนี้ไม่เพียงแค่ถูกพูดถึงยุโรปแต่ไวรัลในระดับโกลบอลจนทำให้แบรนด์เสื้อผ้าทั่วโลกต้องออกมา take action กันด่วน ไม่ว่าจะเป็น Target, H&M, Ikea, Patagonia ที่ประกาศหยุดซื้อฝ้ายจากมณฑลซินเจียงตั้งแต่ตุลาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้สหรัฐที่นำเข้ามีวัตถุดิบจากฝ้ายในซินเจียงกว่า 20% ของเสื้อผ้าที่ผลิตในประเทศ ก็ได้ประกาศห้ามนำเข้าฝ้ายจากมณฑลซินเจียงแล้วด้วย แต่ทุกคนก็ยังสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับแคมเปญ #freeuyghurs ได้โดยการติดแฮชแท็กนี้ในโซเชี่ยลมีเดียเพื่อแสดงจุดยืนหรือจะส่งอีเมลล์ให้กับแบรนด์โดยตรงผ่าน CSW’s letter ก็ได้
Raphaël Glucksmann ให้สัมภาษณ์กับ Vogue Business ไว้ว่าการสร้างแคมเปญรณรงค์สาธารณะนั้นถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่ผู้บริโภคสามารถกดดันแบรนด์เครื่องแต่งกายให้ออกมาแก้ปัญหาแรงงานทาสยุคใหม่ได้
“แคมเปญรณรงค์นั้นใช้ได้ผลกับแบรนด์แฟชั่น เพราะ 90% ของกลยุทธ์การตลาดนั้นเกี่ยวข้องกับภาพลักษณ์ของแบรนด์ หนทางเดียวที่จะทำให้พวกเขาออกมาแสดงจุดยืนคือการเห็นความผู้บริโภคจะไม่ทนกับการนิ่งเฉยของเขา”
นอกจากการร่วมแคมเปญต่างๆ เท่าที่ทำได้แล้ว อีกหนึ่งการแสดงจุดยืนสำคัญของผู้บริโภคอย่างเราก็คือการงดซื้อแบรนด์ Fast Fashion ทั้งหลายให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพราะนอกจากจะถือว่าเราไม่สนับสนุนองค์กรที่มีส่วนในการใช้แรงงานทาสยุคใหม่ เมื่อความต้องการของผู้บริโภคลดลงก็จะส่งผลให้ความต้องการในการผลิตของแบรนด์ต่างๆ ลดลง ส่งผลให้แบรนด์ต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ในการผลิตจากที่เน้นผลิตเร็วๆ เยอะๆ จากแรงงานราคาถูกๆ กลายมาเป็นการผลิตที่เน้นคุณภาพจากแรงงานที่ได้รับการพัฒนาฝีมือ ได้รับค่าแรงที่คุ้มค่าได้
เกิดการแก้ปัญหาจากต้นเหตุที่ปลายทางอย่างเราเป็นส่วนหนึ่งได้จริงๆ
Read More:
ฮาวทูไม่ทิ้ง แต่เก็บยีนส์เก่ามาซ่อมด้วยการเย็บ
เก็บยีนส์เก่าที่ขาดมาซ่อมแบบ visible mending
มนุษยสัมพันธ์ 03: คุยกับ Younglek เรื่องความสบายของนม บรา ชั้นใน ที่คล้ายๆ กับการได้ประกาศอิสรภาพเล็กๆ
เล็ก-ภัทรสิริ อภิชิต เจ้าของแบรนด์ชุดชั้นในที่ชื่อ Younglek Under
ระยะเปลี่ยนผ่านของการดูแลตัวเองแบบแคร์โลก
การเลือกใช้และวิธีใช้แชมพู สบู่ สกินแคร์ ผ้าอนามัย ฯลฯ และสารพัดไอเท็มที่สร้างผลกระทบลบๆ ต่อลกน้อยลงอีกหน่อยนึง