แม้จะแค่คนละ 1 แก้ว แต่อย่าลืมว่าถ้าเราจับสิ่งที่อยู่ในมือตอนนี้มาแยกร่าง เราจะพบว่ามันประกอบไปด้วยแก้วที่อาจจะเป็นแก้วพลาสติก PET หรือเป็นกระดาษที่เคลือบสารบางอย่างที่ส่งเข้าโรงงานรีไซเคิลไม่ได้ ไหนจะฝาพลาสติกปิดด้านบน หลอดที่ร้านแถมมาให้ รวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างถุงหิ้ว ที่บางครั้งบางทีเราไม่ได้ใส่ใจรียูสมันสักเท่าไหร่
บางคนบอกว่าปัญหานี้ร้านกาแฟควรเทกแอคชั่นสิจ๊ะ เปลี่ยนมาใช้วัสดุที่รีไซเคิลได้หรือย่อยสลายได้แทนทำนองนั้น สิ่งที่เราควรตระหนักกันคือ ถ้าตอนทิ้งเราไม่ยอมแยกขยะอย่างเป็นระบบ หรือทิ้งไปแบบเปื้อนๆ คราบกาแฟก้นแก้ว ซึ่งสิ่งนี้ทำให้แก้วเข้าสู่ระบบรีไซเคิลไม่ได้ แม้จะเป็นแก้วพลาสติก PP แบบหนาที่รับรองว่ารีไซเคิลได้ก็ตาม
ถึงร้านกาแฟจะยอมลงทุนกับแก้วเทกอะเวย์ แก้ปัญหาต้นทางมาดีแบบไหน วงจรรีไซเคิลที่พวกเขาวาดฝันไว้ก็อาจตกม้าตายตอนจบได้เหมือนกัน หากเราไม่ทำในสิ่งที่ควรจะทำ และไม่ส่งขยะเหล่านั้นไปยังที่ๆ มันควรจะอยู่
แม้ว่าช่วงนี้หลายๆ ร้านมีนโยบายไม่รับแก้วส่วนตัวของลูกค้าด้วยเหตุผลเรื่องความเสี่ยงเรื่องโรคระบาด แต่เราก็ไม่ควรโยนความรับผิดชอบให้ใครเพียงคนเดียว รวมทั้งตัวเราเองด้วย ทางออกของคนรักงานที่ต้องดื่มกาแฟ 2 แก้วต่อวันแบบเรา เลยลงเอยไปที่การตั้งกฎให้ตัวเองว่า ถ้าวันไหนจำเป็นต้องซื้อกาแฟจากร้าน ก็ต้องจัดการแก้วและฝาที่จะกลายเป็นขยะในอนาคตให้ดี ส่วนหลอดและถุงก็เลิกรับไปเลย ส่วนวันไหนที่พอมีเวลา ก็ทำกาแฟดริปหรือโคลบรูวจากที่บ้าน พกไปจิบแก้ง่วงตอนประจำการที่ออฟฟิศ
พอเข้าวงการพกแก้วเต็มตัว ด้วยความรักในกาแฟและความเรื่องมากเรื่องดีไซน์ของตัวเอง เรื่องเลยเถิดก็เลยเกิดขึ้น รู้ตัวอีกที ปีนี้เรามีแก้วหลายใบให้พกออกห้องได้แบบไม่ซ้ำวัน (และทุกวันนี้พยายามปลอบใจตัวเองอยู่ว่าคอกาแฟคนอื่นๆ น่าจะเป็นเหมือนกัน) วันนี้เลยขอหยิบแก๊งแก้วกาแฟลูกรักมาป้ายยาและรีวิว (แบบไม่มีโฆษณาเข้า) ให้ทุกคนดูกัน
00 ปฐมนิเทศก่อนป้ายยา
เวลาที่ใครบางคนขอคำแนะนำเรื่องเลือกซื้อแก้ว เรามีเงื่อนไข 3 ข้อง่ายๆ ให้พิจารณา คือหนึ่ง ราคา ต้องเป็นราคาที่เราพอใจที่จะจ่าย เพราะการพกแก้วใช้วินัยประมาณหนึ่ง บางทีซื้อแล้วใช้ได้ไม่ถึงเดือนก็เก็บเข้ากรุไปแบบเศร้าๆ แต่ถ้ามั่นใจว่าฉันจะใช้นานแน่ๆ ก็อยากเชียร์ให้ซื้อแบรนด์ดีๆ ไปเลยทีเดียว สอง เป็นเรื่องวัสดุ ไม่ว่าจะเป็นพลาสติก แก้ว หรือโลหะ ส่วนหนึ่งมันเกี่ยวข้องกับเรื่องฟังก์ชั่น น้ำหนัก และความสะดวกสบายตอนพกพา
และสาม เรื่องขนาด แก้วกาแฟมาตรฐานมักกำหนดขนาดด้วยหน่วยออนซ์ (oz) เพราะเกี่ยวข้องกับประเภทของกาแฟ อย่างแก้ว 8oz (227ml) จะเหมาะกับการดื่มลาเต้หรืออเมริกาโน่ร้อน 12oz (340ml) เหมาะกับกาแฟดริปและชาร้อน ส่วน 16oz (454ml) เหมาะกับเครื่องดื่มที่ต้องใส่น้ำแข็ง เช่น ลาเต้หรืออเมริกาโน่เย็น ชาเย็น หรือชานมไข่มุกฉ่ำๆ ก็ยังไหว ส่วนตัวเราดื่มกาแฟร้อนเป็นปกติอยู่แล้ว ไซส์ 8oz และ 16oz จึงค่อนข้างพอดี ถือง่าย และไม่เปลืองพื้นที่ในกระเป๋าด้วย
ถ้าใครบางคนแถวนี้เริ่มมีหมุดหมายบางอย่างในใจแล้ว สิ่งที่ทุกคนจะได้อ่านต่อจากนี้คือการรีวิวแก้วด้วยประสบการณ์การใช้งานจริง และแอบออกตัวแรงไว้ก่อนว่า แก๊งลูกรักของเราจะไม่ทำให้ทุกคนเสียใจที่เสียเงินซื้อแน่นอน
01 KeepCup Original (8oz)
เริ่มต้นที่แบรนด์แก้วที่เราพยายามป้ายยาคนรอบตัวทุกคนอย่าง KeepCup ที่ปลุกปั้นโดยสองพี่น้องชาวออสซี่ เจ้าของคาเฟ่ในเมืองเมลเบิร์นที่กลุ้มใจกับปริมาณขยะที่พวกเขามีส่วนช่วยให้มันเกิดขึ้น พอเปลี่ยนแก้วที่ร้านมาเป็นแก้วรียูส รูปทรงและฟังก์ชั่นเก็บอุณหภูมิของแก้วในตลาดไม่ตอบโจทย์บาริสต้าเท่าไหร่ พวกเขาเลยลงมือดีไซน์แก้ว สร้างมาตรฐานใหม่ขึ้นมาเองซะเลย
แก้วพลาสติก PP หรือ polypropylene เป็นแก้วรุ่นแรกที่ทำให้ KeepCup เป็นที่รู้จักในแวดวงกาแฟ นอกจากจะทนความร้อนได้ดีแล้ว PP ยังนำกลับมารีไซเคิลได้ง่ายกว่าพลาสติกแบบอื่น และถ้าเทียบในแง่ต้นทุนทางทรัพยากรที่หมดไปกับการผลิตแก้วแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง การใช้ KeepCup แทนแก้วอายุสั้นเหล่านั้นเพียง 15 ครั้งก็ถือว่าคุ้มแล้ว
อย่าง KeepCup ใบนี้เป็นแก้วใบแรกที่เราใช้มาตั้งแต่ปี 2016 แม้จะสะบักสะบอมเพราะทำหล่นบ่อย มาถึงตอนนี้น้องก็ยังใจสู้อยู่ ในเรื่องความเบา ความทนทาน รวมทั้งความง่ายในการดูแลและทำความสะอาดเราขอให้คะแนนเต็ม บาริสต้าที่ส่วนใหญ่จะชอบแก้วทรงนี้ เพราะปากที่กว้างทำให้เทลาเต้อาร์ตง่าย ตูดแคบจับถนัดมือ แถมไซส์ 8oz นั้นสามารถจับไปวางใต้ก้านชงกาแฟได้ สะดวกต่อการทำงานของคนหลังบาร์สุดๆ
ส่วนเรื่องที่ติดใจเล็กน้อยคือ แถบซิลิโคนกันความร้อนค่อนข้างบาง เวลารินน้ำร้อนจัดๆ ไปบางทีก็เอาไม่ค่อยอยู่ (แต่ KeepCup รุ่นหลังๆ ปรับดีไซน์ใหม่ ไม่มีปัญหานี้แล้วนะ) เวลาที่ใส่ของเย็นๆ ด้านนอกจะมีเหงื่อ ส่วนตัวฝา พอใช้งานไปนานๆ เปิดเข้าออกบ่อยครั้งเข้าพลาสติกก็ต้องมีสึกหรอบ้าง เวลาเดินถือแก้วไปไหนมาไหนด้วย บางวันจะพบว่าเสื้อกับกางเกงเรามีคราบกาแฟประทับไว้เป็นที่เตือนใจว่า ฝาแก้วใบโปรดสึกไม่ไหวแล้วจ้า
แต่ถึงอย่างไร จุดเด่นของแบรนด์นี้คือเราสามารถเลือกสีของแก้ว แถบซิลิโคน และฝาได้เอง ดังนั้นถ้าอยากใช้แก้วใบเดิม แต่เปลี่ยนฝาใหม่ก็สามารถซื้อแยกชิ้นได้ สำหรับเรา KeepCup ใบนี้ใช้แล้วคุ้มราคาสุดในบรรดาชาวแก๊งทั้งหมดเลย
02 KeepCup Brew / BB8 (8oz)
นอกจากแก้วพลาสติกแล้ว KeepCup ยังมีไลน์แก้วที่ทำจาก tempered glass ข้อดีที่ชอบมากๆ คือ พอตัวแก้วค่อนข้างหนาและไม่สึกง่ายเท่าพลาสติก ตอนปิดฝาเรารู้สึกว่ามันแน่นกว่า เวลาถือไปไหนหรือยัดใส่ในกระเป๋าหิ้วเลยไม่ค่อยห่วงว่ากาแฟจะหก (เว้นแต่ว่าถ้าผนึกจุกฝาไม่แน่น อันนี้ก็อวสานเหมือนกันเด้อ)
ส่วนข้อเสียไม่กี่อย่างของน้องคนนี้คือ เวลาใช้ต้องระวังมากเป็นพิเศษ อีกเรื่องคือวัสดุแก้วมีคุณสมบัตินำความร้อนได้ดีกว่าพลาสติก ถ้าใส่เครื่องดื่มที่ร้อนมากๆ อาจจะต้องรอให้อุณหภูมิเย็นลงหน่อย หรือตอนเจอเครื่องดื่มเย็นๆ จะมีเหงื่อเยอะกว่าแก้วพลาสติก รวมทั้งน้ำหนักของแก้วที่เพิ่มมากกว่าใบแรก ใบนี้เลยเป็นแก้วที่เราพกออกห้องน้อยที่สุด
แต่ถ้าใครที่ชอบวัสดุที่เป็นแก้วจริงๆ แต่ก็ไม่อยากจับแล้วร้อนมือมาก KeepCup ก็สร้างช้อยส์ให้เลือกเพิ่ม นั่นคือ double-walled cup แก้วกาแฟสองชั้นที่ชั้นในเป็นแก้ว tempered glass ส่วนชั้นนอกเป็นพลาสติกใส แถมยังเด่นเรื่องการเก็บรักษาอุณหภูมิ เพราะตัวแก้วชั้นในไม่ได้สัมผัสกับอากาศข้างนอกโดยตรงนั่นเอง
03 HuskeeCup (8oz)
ตอนแรกคิดว่าแค่พกแก้วก็ช่วยโลกมากแล้ว แต่ความเก่งของคนในแวดวงกาแฟมีอะไรให้เราประหลาดใจเสมอ อย่างแก้ว HuskeeCup จากออสเตรเลียใบนี้ เป็นแก้วกาแฟที่ทำจากกะลากาแฟ หรือเปลือกหุ้มเมล็ดกาแฟเหลือทิ้งจากโรงงานแปรรูปกาแฟ หลอมเข้ากับพลาสติกเพื่อเติมคุณสมบัติยืดหยุ่นและทนทานต่อการแตกหัก แถมใช้กับเครื่องล้างจานได้ไม่มีปัญหา ซึ่งทางแบรนด์ผลิตออกมา 2 สีด้วยกัน ได้แก่ สีธรรมชาติของกะลากาแฟ และสีดำที่มาจากการเติมผงถ่านลงไป สุดจะเหมาะกับมนุษย์คุมโทนสีดำมากๆ
จับแบบผ่านๆ เทกซ์เจอร์อาจจะคล้ายกับกระดาษ แต่พอลองใช้จริงแล้ว HuskeeCup เป็นแก้วที่เหมาะกับการจิบกาแฟทั้งร้อนและเย็นมาก รักษาอุณหภูมิได้ประมาณหนึ่ง ไม่มีรสสัมผัสและกลิ่นแปลกๆ กวนใจตอนจิบกาแฟเลย ส่วนดีไซน์แก้วที่เป็นร่องๆ นี้ ไม่ได้คิดขึ้นมาเพื่อความสวยงามเพียงอย่างเดียว ฟังก์ชั่นของมันคือทำให้แก้วทุกใบสามารถ stack หรือซ้อนกันได้พอดี เอื้อต่อการจัดระเบียบแก้วกาแฟบนเครื่องเอสเพรสโซ่ (เนี่ย แบรนด์เขาคิดเผื่อมาเยอะมากจริงๆ นะ)
ส่วนตัวแล้วเราแอบหักคะแนนเจ้าแก้ว HuskeeCup ด้วยสองเหตุผลคือ เวลาทำความสะอาดเราต้องพิถีพิถันขัดมันมากกว่าเพื่อนคนอื่นหน่อย และฝาที่ไม่มีจุกปิดอะไรมาให้เลย สำหรับคนซุ่มซ่ามแบบเรา การถือแบบมีกาแฟเต็มแก้วมักจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเสมอๆ แต่ทั้งนี้ ถ้าใครชอบโปรดักต์ดีไซน์สวยและคอนเซปต์ดีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว HuskeeCup ถือเป็นแก้วกาแฟที่เท่และ eco-friendy มากๆ เลยล่ะ
04 RIVERS WALLMUG SLEEK (12oz)
เชียร์แก้วจากออสเตรเลียมาหลายใบ คราวนี้ของบินข้ามมาใช้แบรนด์จากฝั่งเอเชียบ้าง Rivers เป็นแบรนด์จากญี่ปุ่นที่เด่นเรื่องดีไซน์มินิมอล ทุกโปรดักต์คิดมาเพื่อคนชอบกาแฟ specialty และคนชอบใช้ชีวิตเอาต์ดอร์โดยเฉพาะ (เชื่อว่าสายแคมป์ปิ้งน่าจะเคยเห็นอุปกรณ์ชงกาแฟองพวกเขาแบบผ่านๆ บ้างแหละ)
เราใช้แก้วรุ่นนี้มาเกือบ 4 ปีแล้ว สิ่งที่ชอบมากๆ คือหนึ่ง เป็นแก้วที่ทำจากพลาสติก น้ำหนักจึงค่อนข้างเบา รูปทรงจับถนัดมือมากๆ สอง ตัวแก้วที่เป็นดับเบิ้ลวอล เรื่องเก็บอุณหภูมิจึงไม่ต้องเป็นห่วง แถมเวลาใส่น้ำเย็นๆ น้องจะไม่มีเหงื่อให้เรารู้สึกมือเปียก หรือทิ้งคราบน้ำไว้บนโต๊ะ และสาม ฝาปิดแบบหมุนเกลียวที่มาพร้อมกับซีลด้านใน หิ้วไปไหนก็หมดกังวลว่ากาแฟจะหกเลอะเทอะ บวกกับช่องตรงฝาที่ไม่แคบหรือกว้างเกินไป วันไหนใช้แก้วใบนี้เราจะรู้สึกว่าจิบกาแฟเพลินสุดๆ ไปเลย
ขึ้นชื่อว่าเจแปนควอลิตี้แล้ว ถ้าใครกำลังมองหาแก้วน้ำหนักเบา เก็บอุณหภูมิดีมาก และฝาปิดไว้ใจได้ บอกเลยว่าแก้วรุ่นนี้ของ Rivers ตอบโจทย์มาก
05 KeepCup Thermal (12oz)
KeepCup Thermal เป็นแก้วใบล่าสุดที่เราตัดสินใจซื้อด้วยความจงรักภักดีที่มีต่อแบรนด์ และตอบความอยากรู้ว่าวัสดุใหม่นี้จะจ๊าบเท่าวัสดุแบบอื่นๆ ที่ตัวเองเคยใช้หรือเปล่า คำตอบคือ จ๊าบมากจ้า!
ทั้งเรื่องการเก็บอุณหภูมิที่มาวินมากๆ ดีไซน์ที่จับแล้วไม่เมื่อยมือ และความทนไม้ทนมือของสแตนเลส ถือว่าหักลบกลบนี้เรื่องที่เราเคยติดใจได้หมดเกลี้ยงเลย ส่วนเรื่องน้ำหนักที่ตอนแรกก็หวั่นๆ ใจว่าจะหนักมาก พอใช้จริงก็พบว่าน้ำหนักของสแตนเลสไม่ได้เป็นปัญหาขนาดนั้น รู้ตัวอีกทีแก้วใบนี้เป็นใบที่เราหยิบใช้บ่อย ล้มแชมป์คนก่อนหน้าอย่าง Rivers ไปแล้วเรียบร้อย
06 FELLOW Cater Move Mug (12oz)
สารภาพว่าตอนเขียนบทความป้ายยาชิ้นนี้ เราลังเลใจอยู่นานว่าจะเขียนถึงเจ้า FELLOW ที่แอบไปคว้ามาจากมาจากร้าน yellowstuff ด้วยดีมั้ย เพราะรูปทรงกระบอกของน้องไม่ได้ดูเป็นแก้วกาแฟเหมือนชาวบ้านเลย แต่ก็ด้วยความปลื้มปิติในฟังก์ชั่น ลงทุนซื้อมาแล้วก็ขอพูดถึงน้องเขาเป็นของแถมให้เพื่อนๆ หน่อยละกัน
คนในแวดวงกาแฟจะรู้กันว่าโปรดักต์ของ FELLOW นั้นเป็น design object งานรางวัลที่น่าซื้อมาใช้ที่บ้านมากๆ อย่าง Cater Move Mug ตัวนี้ก็มีรางวัลชนะเลิศจาก SCA (Specialty Coffee Association) การันตี จุดเด่นของน้องคนนี้คือหนึ่ง เก็บอุณหภูมิได้ดีเยี่ยม สอง เป็นแก้วที่ดีไซน์มาเพื่อคนชอบเดินทาง เพราะด้านล่างของปากแก้วมีอุปกรณ์อย่าง splash guard เป็นตะแกรงสแตนเลสกันไม่ให้เครื่องดื่มหก เรียกได้ว่าถือเดินบนทางเท้าประเทศนี้ได้แบบกาแฟไม่กระฉอกแน่ๆ
และข้อสุดท้ายที่ขอซูฮกคือ มันแก้เพนพ้อยต์ของคนไม่ชอบสัมผัสและกลิ่นแปลกๆ ของแก้วสแตนเลส ผิวด้านในจึงถูกเคลือบด้วยเซรามิก ข้อดีมากๆ คือไม่ทำให้รสและกลิ่นของกาแฟดริปของเราเพี้ยนไปจากเดิม หรือเวลาที่เราใส่กาแฟนมหรือเครื่องดื่มที่กลิ่นแรง วัสดุที่เป็นเซรามิกจะไม่เก็บกลิ่น แถมล้างทำความสะอาดง่ายมากๆ อีกต่างหาก
มาถึงตรงนี้เราเริ่มสงสัยตัวเองเหมือนกันว่า จริงๆ แล้วเราเป็นเซลล์ขายแก้วกาแฟหรือเปล่า แต่สิ่งหนึ่งที่เรายืดอกภูมิใจได้คือ พอเปลี่ยนมาพกแก้วแบบจริงจัง เราตัดเวลาที่เสียไปกับการจัดการขยะได้เยอะมาก แถมยังได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดจำนวนขยะที่เกิดจากการบริโภคกาแฟอีกด้วย
ที่สำคัญคือ สิ่งเหล่านี้มันพรู๊ฟให้เราเห็นด้วยตัวเองว่า การเปลี่ยนแปลงให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้นมันเริ่มได้จากสิ่งเล็กน้อยในชีวิตประจำวันจริงๆ มาเริ่มต้นพกแก้วกันเถอะนะพวกเรา
Read More:
#จับฉลากของขวัญเคยรัก หมายเลข 1 | เจ้าของเก่า: โอ๋
ของขวัญเคยรักปริศนาหมายเลข 1 ที่จะนำมาจับฉลากสิ้นปีนี้ในธีม จับฉลากของขวัญเคยรัก!
เราจะทำตามสัญญา ถ้าหยุดนำเข้าเศษพลาสติก
ตะโกนบอกรัฐว่าคนตัวเล็กๆ พร้อมจัดการขยะพลาสติกตั้งนานแล้ว!
Beyond KonMari: จัดบ้านแบบสปาร์กจอยไม่ไหว ทำไงได้อีก
ไลฟ์โค้ชสายจัดบ้านก็มา! คำถามคือจะเลือกวิธีไหนถึงจะเวิร์กกับเรา และดีกับโลกด้วย