ไม่ว่าจะปัญหาเล็กน้อยอย่าง หิวแต่กินอะไรไม่ลง หมดมุกทำอาหารกินเองแล้ว พุงเผละจนเปลี่ยนไซส์กางเกง หรือร้านยังส่งช้อนส้อมพลาสติกมาทั้งที่แจ้งแล้วว่าไม่รับ เราต่างรู้ดีว่า ยังมีปัญหาใหญ่โตกว่านี้อีกมาก อย่างหลายๆ คนเริ่มจัดสรรเงินสำหรับการกินลำบาก คนทำงานหาเช้ากินค่ำไม่มีงานให้ทำ (ก็เลยไม่มีเงินให้กิน) คนงานในแคมป์และคนไร้บ้านเข้าถึงอาหารยากขึ้นทุกวัน
ในฐานะคนช่างกิน (แต่ตอนนี้ช่างหดหู่) เราพบว่าปัญหาปากท้องเล็กๆ ที่เราพอจัดสรรรับมือเองไหว ควรได้รับการเยียวยาและอย่ายอมแพ้ เพราะอาหารการกินส่งผลต่อสุขภาพทั้งกายและใจเราโดยตรง ส่วนปัญหาใหญ่ๆ ที่เอาจริงก็ยากเกินจะเปลี่ยน แต่หากเรายังพอหยิบยื่นได้บ้าง ก็ทำให้เรายังพอกลืนข้าวโดยไม่ขมคอมากนัก
ไปดูมาตรการส่วนบุคคลเพื่อเยียวยาปัญหาปากท้องในยุคนี้ ที่เราย่อยมาให้ลองไปปรับใช้เป็นมื้อๆ ไป
2020 สนุกกับการหาทำเมนูใหม่ๆ
2021 หมดไฟ หม้อทอดไร้น้ำมันฝุ่นจับ
เป็นไหม? ปีที่แล้วหาทำมันทุกเมนู ตั้งแต่เมนูง่ายๆ อย่าง dalgona coffee กาแฟครีมแบบเกาๆ ก่อนจะเล่นใหญ่ด้วยการหมักกิมจิ ทำซุปเต้าหู้แบบพัคแซรอย ทำหมูกรอบกินเองสูตรหม้อทอดไร้น้ำมัน (ใช่จ้ะ ถอยหม้อมาเพื่อการนี้) ไหนจะชาบูน้ำดำ ขนมปังสูตรไม่ต้องนวด ราเมงพร้อมหมูชาชู หรือแม้แต่ข้าวมันไก่ ฉันก็ทำมาแล้ว!
แต่ปีนี้ สิ่งที่เราและเพื่อนๆ รอบตัวผู้เคยฮิตทำอาหารกันอย่างเข้มแข็งประสบเหมือนกันก็คือภาวะหมดไฟ หมดแรงใจในการเข้าครัว หรือทำแล้วไม่อร่อยระดับกินไม่ได้ (ทั้งที่ก่อนหน้านี้มั่นใจในฝีมือระดับอยากเปิดร้าน) เพราะพอต้องทำอาหารเองแทบทุกมื้อ เพิ่งทำมื้อเช้าไปแป๊บๆ ประชุมเสร็จ มื้อกลางวันมาอีกแล้ว! กว่าจะเก็บล้าง ทำความสะอาด อ้าว มื้อเย็นวนมา ทำไมไม่วิไลอบอุ่นใจเหมือน vlog แม่บ้านเกาหลีเลย…
วิธีรับมือ 01
ปลุกความตะกละในตัวคุณ หาโจทย์ชาเลนจ์ตัวเองให้ทำอาหาร
จริงๆ การทำอาหารกินเอง (อย่างวางแผน) มันทั้งดีต่อสุขภาพ ลดปัญหา food waste และช่วยประหยัดงบอย่างเป็นรูปธรรมสุดๆ เลยนะ การทำ meal plan จึงตอบโจทย์สุดๆ (และที่เคยเล่าไปแล้ว ที่นี่)
แต่เราเข้าใจ พอมันล้า มันเศร้า มันจ๋อยจากสถานการณ์และความยากเย็นในชีวิต มันก็นึกไม่ค่อยออกว่าจะกินอะไรดี บางทีก็ข้ามๆ บ้างมื้อ (แล้วมายัดอะไรอิ่มๆ ตอนดึกทีหลังเอา) วิธีแก้ที่เราใช้ปลุกปลอบตัวเองคือ ลองปลุกความตะกละในตัวคุณ ด้วยการหาโจทย์ชาเลนจ์ตัวเองให้ทำอาหาร เช่นจะทำกำจัดของใกล้เน่าในตู้เย็นให้หมด จะทำอาหารตุนไว้กินนานๆ หรือจะทำเมนูตามหนังที่เพิ่งดู (ด้วยวัตถุดิบจำกัดที่มีในบ้าน) ก็ช่วยให้มีแรงฮึดลุกขึ้นมาทำอาหารอีกสักตั้งนะ
ตัวอย่างเช่น เราคิดว่ากำจัดผักแนมส้มตำและเส้นขนมจีนที่เหลือจากมื้อก่อนให้จงได้ เลยทำผัดขนมจีนใส่กะหล่ำหนึ่งเสี้ยวที่เหลือกับกระเทียม ปรุงด้วยซีอิ๊วน้ำปลาตามมาตรฐาน โรยกากหมู (โชคดีที่บ้านมี) กินแล้วก็คล้ายๆ ร้านส้มตำนัวอยู่นา หรืออยากกินกล้วยให้หมดหวีก่อนงอม แต่ดูท่าว่าจะไม่หมดง่ายๆ เราก็เซฟกล้วยอร่อยระยะสุดท้ายด้วยการหั่นแว่นใส่กล่องแช่ฟรีซไว้ แล้วเอามาปั่นกับผลไม้เหลือๆ แทนน้ำแข็ง ได้ความนวลเนียนเย็นชื่นใจ ไฮโซเท่าสมูทตี้โบลว์ราคาแพงเลย
หรือจำพวกอาหารหม้อใหญ่ แกงกะหรี่ ซุปผัก หรือจับฉ่าย ทำเหอะ! หมดชัวร์ ใครกลัวเบื่อความซ้ำ ก็เอาจับฉ่ายมาใส่วุ้นเส้นแล้วทำเป็นยำ (แวะไปดูสูตรได้ ที่นี่ ) แกงกระหรี่ราดข้าว จิ้มโรตี จุ่มหนมปัง ฯลฯ ยิ่งอุ่นหลายวัน ยิ่งนัว!
วิธีรับมือ 02
ไอเท็มอัพเกรดรสชาติ ซื้อง่ายในซูเปอร์ฯ
เอาแหละ ถ้าต้องยอมรับความจริงซะทีว่าอาหารของเรามันไม่อร่อยขนาดนั้นหากต้องกินทุกวันจริงๆ เราแนะนำให้ลองไปไอเท็มอัพเกรดรสชาติ ซื้อง่ายในซูเปอร์ฯ มาเพิ่มความอูมามิดู และนี่คือลิสต์ (จำนวนหนึ่ง) ที่เราพิสูจน์แล้วว่าเวิร์ก!
ผงกระเทียม ความอูมามิที่ไม่ต้องปอกกระเทียมให้เหม็นมือ รสชาติและกลิ่นเหมือนผงมาม่าไวไวนิดๆ รับประกันความนัวโดยไม่ง้อใส่ซุปก้อน/ผงชูรส เวลาต้มซุปเร็วๆ ไม่มีเวลาเคี่ยว ใส่ผงกระเทียมไปคนๆ กลิ่นและรสก็เรียกความอร่อยพอได้อยู่ หมักหมูสับ หมักไก่ ก็ช่วยให้เนื้อสัตว์ที่แช่แข็งแล้วละลาย ไม่มีกลิ่นตุให้ขุ่นใจ
สาหร่ายวากาเมะแห้ง นอกจากใส่มิโสะซุปตามฟอร์ม สาหร่ายยังช่วยอัพเกรดมาม่าต้ม เติมเข้าไปหน่อยก็ได้ประโยชน์ขึ้นมาอีกนิด หรือหุงข้าวเสร็จ พอข้าวระอุ ก็เอาสาหร่ายที่แช่น้ำแล้วไปคลุกๆ เติมซีอิ๊วนิด น้ำส้มหน่อย ได้ข้าวอบสาหร่ายกินแก้เบื่อ หรืออีกเมนูที่เพิ่งค้นพบแล้วคิดว่าดี คือเอาสาหร่ายแช่น้ำพอให้คลายตัว ทำไข่คนพอสุก แล้วเอาสาหร่ายไปผัด ปรุงรสด้วยเกลือนิดเดียว ก็อร่อยอูมามิ แถมยังทำง่าย ไม่ได้ออกไปจ่ายตลาดก็ยังไหว เพราะมีแค่ไข่กับสาหร่ายโอนลี่
บะหมี่โมโรเฮยะ วันที่รอหุงข้าวไม่ไหว ต้มสปาเกตตีก็ช้าไป และโนมอร์มาม่าาาา บะหมี่โมโรเฮยะนี่มีส่วนผสมของผักเยอะ แถมใช้วิธีอบไม่ได้ทอด ถึงจะเป็นแบบกึ่งสำเร็จรูปแต่ก็ไม่ใจร้ายกับสุขภาพมากนัก ลวกมากินกับหมูแดงเหลือมื้อก่อน คลุกน้ำมันพริกที่มีติดตู้ หรือผัดไข่ ผัดขี้เมาเท่าที่วัตถุดิบในบ้านมี ก็รอดไปได้อีกมื้อแบบเร็วๆ
เฟต้าชีสในน้ำมันมะกอก ราคาหน้าเชลฟ์อาจจะแพงอยู่สักหน่อย แต่บอกเลยว่าคุ้ม เพราะโรยมันลงในสลัดทุกอย่าง ความนัวชีสใส่นิดเดียวก็ช่วยให้ผักเหี่ยวดูเลอค่า กินผักได้มาก เบื่อผักก็โรยใส่ผลไม้ ท้องไม่ผูก แถมกระปุกนึงก็กินได้ยาวนาน ถ้าไม่บ้าคลั่งใส่เยอะเกินไป (วิธีประหยัดคือใช้ส้อมบี้ๆ แล้วโรยให้ทั่ว สองคิวบ์เล็กๆ ก็เต็มจานแล้ว)
ฯลฯ
2020 สั่งเดลิเวอรีร้านโปรดที่ปรับตัวคึกคัก
2021 ร้านโปรดหาย + รายได้หด ต้องประหยัดงบกินฟุ่มเฟือย
จำครั้งแรกที่ต้องล็อกดาวน์ได้ไหม แม้จะกังวลปนกลัว แม้จะเต็มไปด้วยเงื่อนไขยุ่งยาก แต่เราก็ยังพร้อมรับมือสิ่งต่างๆ ยิ่งกับเรื่องอาหารการกินที่หลายคนนับเป็นเรื่องใหญ่ เราก็พร้อมอุดหนุนร้านโปรดที่ปรับตัวมาทำเดลิเวอรี่ บางร้านไกลบ้าน ค่าส่งแรงก็ยังพร้อมสั่ง แก้เบื่อที่ติดแหง็กอยู่บ้านและอยากใช้ตังค์ (เพราะรู้สึกว่าการอยู่บ้านไม่ค่อยได้ใช้เงินอะไร)
แต่ตัดภาพมาปีนี้ที่อยู่กับสถานการณ์มายาวนาน เราต้องกดแคร์ กดเศร้า หรือกดโกรธเมื่อเห็นเพจร้านโปรดที่รักประกาศยอมแพ้ ไปต่อไม่ไหว ขณะเดียวกัน เราเองก็พบว่าการอยู่บ้านไม่ได้ใช้เงินน้อยลง (นี่หว่า) แถมบางทีอาจจะมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ บวกกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนสักอย่าง บริษัทที่จ่ายเงินเดือนให้เราก็สู้ไม่ไหวตามร้านโปรดไปไหม คนที่เคยจ้างงานเราหดหายไปหรือเปล่า ภาวะรัดเข็มขัด ต้องประหยัดงบการกิน ก็ทำให้เราอุดหนุนร้านโปรดได้น้อยลงตามไปด้วย
วิธีรับมือ 03
กินดีแบบเฉือนงบ เลือกออร์แกนิกเฉพาะวัตถุดิบที่มีนัยสำคัญ
พอต้องรัดเข็มขัดประหยัดงบการกิน นอกจากตัดงบมื้อพิเศษ หรืออาหารราคาแรงทั้งหลายออกไปแล้ว หากยังพอมีงบอยู่บ้าง ก็ฟีดร่างกายด้วยอาหารดีๆ เท่าที่ไหวเถิด
แม้ว่าภาพจำของคนส่วนใหญ่ที่มีต่ออาหารออร์แกนิกคือความแพง แต่ถ้าอยากประหยัดงบ ก็เลือกกินออร์แกนิกเฉพาะวัตถุดิบที่มีนัยสำคัญก็ได้ คืออะไรที่เรากินเยอะ กินบ่อย หรือวัตถุดิบที่มีความเสี่ยงต่อสารเคมีปนเปื้อนค่อนข้างสูง การเลือกกินแบบปลอดเคมีก็ย่อมดีกับร่างกายกว่าอยู่แล้ว
เริ่มจากข้าว มื้อหลักประจำวัน ลองซื้อข้าวอินทรีย์มาสลับกินหลายๆ พันธุ์เหมือนลองเมล็ดกาแฟ หากซื้อตรงกับเกษตรกรก็ราคาไม่แรงมากนัก แถมยังช่วยอุดหนุนชาวนาอินทรีย์ที่ตอนนี้ไม่ค่อยมีตลาดให้ขายด้วย
- ข้าวหอมดอกฮัง แนะนำข้าวหอมมะลิแดงหอมฟุ้ง
- FarmerDo นอกจากข้าวหอมมะลิเชียงรายที่เคยหายจากนาไปหลายสิบปี ที่นี่ยังมีโกโก้ปลูกเองด้วยนะ
สารพัดผักแบล็คลิสต์ เคมีแน่นอย่าง กะหล่ำ คะน้า ถั่วฝักยาว แตงกวา หาซื้อแบบออร์แกนิกได้ก็ดี ตะกั่วจะได้ไม่กระจุกตัวอยู่ในเลือดมากนัก หรือผักที่กินสดๆ ไม่ผ่านการปรุงอย่างผักสลัดก็ควรค่า แต่ถ้าสู้ราคาไม่ไหว ลองเปิดใจให้ผักพื้นบ้านที่ไม่ต้องปลูก ไม่ต้องบำรุงก็เติบโต อย่างผักกาดฮิ่น (กินแทนผักสลัดก็เพลินๆ เหมือนกิน wild rocket อยู่นา) วอเตอร์เครส (ชื่อฝรั่งแต่ขึ้นง่าย ราคาเบา) หรือจริงๆ พวกผักพื้นบ้านในแหนมเนืองที่กินเหลือแล้ว จะเอาน้ำจิ้มมาราดทำสลัดกินอีกสักมื้อก็ดีอยู่นา
สุดท้ายคือผลไม้ที่กินทั้งเปลือกหรือเคมีเพียบก็ควรลงทุน อย่างส้ม ฝรั่ง เลมอนเลือกแบบปลอดเคมีได้ก็ปลอดภัย ซื้อกับเกษตรกรก็ถูกกว่าด้วย ลองสืบหาจากแหล่งส่งที่ใกล้ตัว ราคาส่งที่สู้ไหวได้เลย
- health me เลือกเฉพาะผัก/ผลไม้ที่เราอยากกินได้ มีผักผลไม้ค่อนข้างหลากหลาย เลยไปยันเนื้อสัตว์และอื่นๆ ครบวงจร
- Happy Grocers กล่องผัก surplus ช่วยเซฟผักหน้าตาไม่สวยอีกแรง
- ชาวนาไทอีสาน มีผักอินทรีย์หลังนาให้สั่งเพียบ หอม กระเทียม พริกแห้ง ซื้อติดบ้านไว้ถ้าทำเมนูไทยบ่อยๆ
- @fruity_diary ใน Twitter มีผลไม้ดีๆ จากชุมชนรวบใส่กล่องมาส่งให้
- Organicgarden_h2o ใน IG มีผลไม้ตามฤดูกาลให้สอยลงกล่องมากเหมือนกัน
- ฯลฯ
2020 อุดหนุนเป็นกำลังใจให้เพื่อนที่หารายได้ด้วยการทำอาหารขาย
2021 เพื่อนรู้แล้วว่าไม่คุ้ม ไม่กำไร ไม่รอด
ก่อนหน้านี้ เราอาจจะเห็นเพื่อนหลายๆ คนปรับตัว เปลี่ยนมาขายอาหารเพราะถูกพักงานหรือรายได้หดลง ในโหมดเพื่อนก็อยากอุดหนุนเป็นกำลังใจให้อยู่แล้ว อะไรพอซื้อได้ ซื้อไหว แถมส่วนใหญ่ก็มักจะอร่อยดี เพราะเพื่อนมักจะทำอย่างที่กิน ใช้ของดี แพคเกจเก๋ไก๋ ใส่ใจการส่ง
แต่เมื่อต้องยืนระยะค้าขายจริงๆ มาจนถึงตอนนี้ เราก็พบว่าไม่ใช่เพื่อนทุกคนที่สู้ไหว เพราะธุรกิจอาหารสำหรับมือใหม่เป็นเรื่องโหดไม่น้อย คนทำอาหารหน้าใหม่หลายคนไม่ได้บวกค่าแรงลงไปในต้นทุน บางคนบวกกำไรไม่พอ หรือบางคนเข้าสู่ระบบฟู้ดเดลิเวอรี่ แต่ก็สู้ค่าส่ง ค่า GP ไม่ไหว ทำการตลาดไม่เก่ง หรือแม้แต่เราเองก็อุดหนุนตลอดทุกออเดอร์ไม่ได้เหมือนกัน
เราเลยโกรธทุกทีเวลาที่ร้านอาหารเรียกร้องให้รัฐเยียวยา หรือกลุ่มอาชีพที่ปรับตัวมาทำมาค้าขายแล้วก็อยู่ไม่ไหว แล้วมีคนออกมาเทศนาว่า ทำไมไม่ช่วยตัวเอง ไม่ปรับตัว ทำเดลิเวอรี่สิ รับพรีออเดอร์สิ ลดต้นทุนสิ ฉันทำเค้กขายดีจนรับออเดอร์ไม่ไหว แต่ตัวเองมีรายได้ทางอื่น ไม่ต้องรับผิดชอบค่าลูกน้อง ไม่ต้องทำการตลาดนี่หว่า!
วิธีรับมือ 04
ชี้เป้าร้านน่าหนุน ทั้งร้านตั้งใจดี ร้านในชุมชน…
วิธีรับมือข้อนี้อาจจะไม่ถูกจุดเท่าไหร่ แต่ยังไงเราก็ยังเหลือร้านตั้งใจดี ร้านในชุมชนที่อยากเซฟ หรือร้านเพื่อนที่ยังสู้อยู่ตอนนี้อยู่ หากยังพออุดหนุนไหวก็เลือกร้านเหล่านี้เป็นช้อยส์แรกๆ ในการกินดีกว่า เพราะการเลือกกินเป็นมื้อๆ ของเรา ก็ต่อยอดให้ร้านเหล่านี้ไปต่อได้อยู่ดี
- Salee Bakehouse ขนมปัง artisan bread และเบเกิลงดงาม ใช้วัตถุดิบจากเกษตรกรท้องถิ่นที่รู้ที่มา
- Craftbread ขนมปังสายสุขภาพคัดแต่ของดีแม้กับคนป่วย ความช็อคโกแลตบันดีเด่นมาก
- Sun and Son Cafe ร้านกาแฟและร้านขนมเพื่อนเราเอง นอกจากขนมปังทำเองไร้สารเสริม ตอนนี้ยังเอาขนมของดีจังหวัดต่างๆ มาเติมด้วยช่วยให้หายคิดถึง ออเดอร์พร้อมกัน ประหยัดดีด้วย
- Wild.Nature Atisan ร้านแยมและเกลือปรุงรสออร์แกนิกรสยูนีคจากเชียงใหม่ ส่งไปรษณีย์ได้ ค่าส่งไม่รุนแรง
- เม้ยคะนอง น้ำพริกคั่วทรายคัดของดี ของนักเขียนสาว อุรุดา โควินท์
- ฯลฯ
2020 therapy ยิ่งเครียด ยิ่งเคี้ยว
2021 เผละ เสพติดความหวาน
ถึงเราจะเป็นสายกิน แต่ก่อนหน้านี้เรามีพฤติกรรมการกินที่ค่อนข้างเฮลท์ตี้ กินเป็นมื้อๆ ไม่กินจุบจิบเท่าไหร่ แต่พอต้องติดแหง็กอยู่บ้านและปวดหัวจนทำอะไรไม่ได้อยู่บ่อยๆ วิธีเยียวยาที่ชะงัดนักก็คือการเคี้ยว เคี้ยว และเคี้ยว นั่นทำให้เรากลายเป็นคนที่กินตลอดวัน แถมยังไม่ได้ค่อยขยับไปไหน บางวันแค่หน้าบ้านยังไม่ได้เดินออกไปด้วยซ้ำ
หนึ่งปีผ่านไป ความเผละก็เริ่มมาเยือน ใส่ได้แต่กางเกงเอวยางยืดเท่านั้น แถมยังเสพติดความหวานอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และตอนนี้ยังไม่กล้าชั่งน้ำหนักใหม่ให้กลุ้มใจเล่น ซึ่งเชื่อว่าหลายคนประสบปัญหาปากท้องข้อนี้เหมือนกัน
วิธีรับมือ 05
อ้วนได้ไม่เป็นไร แต่อย่าให้สุขภาพพัง
ไม่ได้กลัวอ้วนเท่ากลัวป่วย เลยคิดว่าควรเยียวยาด้วยการกำหนดวันที่เราไม่กินน้ำตาลเลยบ้างเพื่อหักดิบการเสพติดความหวานที่เริ่มพอกพูน ซึ่งเอาเข้าจริงมันก็ไม่ได้ยากเท่าไหร่นะ งดของหวานบางวัน ไม่เติมน้ำตาลเวลาทำอาหาร (ยิ่งอยู่บ้านยิ่งง่าย ไม่ต้องจู้จี้ใคร บังคับแค่ตัวเอง) เปลี่ยนจากกาแฟหวานๆ เป็นกาแฟไม่ใส่น้ำตาลแล้วมาโฟกัสรสกาแฟว่ามันต่างไปยังไงนะแทน
หรือถ้าอยากจะเธอราปีด้วยการทำขนม ก็เลือกขนมที่ลดน้ำตาลให้น้อยที่สุด อะไรเป็นประโยชน์ก็ใส่เข้าไปเยอะๆ หน่อย การทำขนมทำให้เรารู้ว่า โห ขนมชิ้นนึงมันใส่น้ำตาลเยอะนะ แล้วก็จะอยากกินน้อยลงไปหน่อยนึง
และถ้าไม่ถนัดออกกำลังกาย (แบบเรา) ออกไปเดินเร็วๆ ในซอยบ้านวันละครึ่งชั่วโมง อ้างอิงองค์การอนามัยโลกว่าเราควรขยับแก้โรคพอกพูน (อันที่จริงก็ยังทำไม่ได้ แต่ทำบ่อยขึ้นนะ) ส่วนในแง่จิตใจ การออกไปนอกบ้านยามเย็นให้ลมปะทะผิว เดินหนีหมาเจ้าถิ่น หรือแวะเล่นกับแมว มันก็ช่วยหย่อนใจที่ตึงเปรี้ยะให้เบาลงได้ด้วย
2020 ขยะพลาสติกจาก food delivery เพียบ
2021 ขยะพลาสติกจาก food delivery เพียบเหมือนเดิม
ใช่ค่ะ, ตามนั้น ทุกครั้งที่สั่ง food delivery มันย่อมตามมาด้วยแพคเกจจิ้งพลาสติกจำนวนมาก ซึ่งก็เข้าใจว่าในสถานการณ์นี้ มันก็ปลอดภัยไฮยีนสุดแล้ว แต่บางอย่างก็อยากให้ลดจำนวนลงบ้าง ขอไม่รับช้อนส้อมก็อยากให้ร้านตั้งใจอ่านหน่อย เพราะผ่านมาหนึ่งปี ร้านที่ไม่อ่านก็ยังไม่อ่านอยู่อย่างนั้น จนต้องเปลี่ยนใจไม่สั่งไปซะเลย!
วิธีรับมือ 06
ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ใหม่ กับหาวิธีแยกขยะแบบคัสตอมเมด
แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะลดการสั่งเดลิเวอรี่ ไม่ว่าจะเป็นอาหารปรุงสุกหรือวัตถุดิบก็ตาม แต่เราก็พยายามลดการใช้บรรจุภัณฑ์ใหม่ อันไหนล้างใช้ซ้ำได้ก็ล้างเถอะ นอกจากกล่องอาหารใสๆ ที่ใช้เก็บของจุกจิกดีแล้ว ถุงซิปล็อกที่ได้จากการสั่งเดลิเวอรี่นี่แหละก็ล้างไว้ใช้ซ้ำได้ แถมดีมากกับการใส่ผักใบ เพราะพอต้องซื้อผักและวัตถุดิบตุนเต็มตู้ ใส่กล่องบางทีมันก็กินที่น่ะ เราก็เอามาล้างตาก แยกผักไปเป็นประเภทๆ อัดแน่นในช่องผักได้ ถ้าปริมาณไม่เยอะมากก็ยังพอใช้ทันเน่า
หรือแทนที่จะสั่งอาหารแทบทุกมื้อ ลองตุนอาหารห่อในฟรีซแทนการสั่ง เลือกเมนูที่แช่ฟรีซแล้วเอามาอุ่นแล้วยังเวิร์ก ใส่กล่องปิดฝา จองพื้นที่ส่วนหนึ่งในฟรีซไว้ วันไหนหิวแต่ขี้เกียจเข้าครัวหรือหมดมุกก็เอามาอุ่นกิน เช่น เราตุนผัดไทยเจ้าใกล้บ้านไว้หลายๆ ห่อ ตุนแกงเหลืองร้านโปรดไว้อุ่นกินเวลาต้องการความหรอยแรง ลดขยะยุ่บยั่บจากการสั่งเดลิเวอรี่ไปได้จำนวนหนึ่ง
ส่วนเรื่องแยกขยะ เป็นปัญหาคลาสสิกที่แต่ละบ้านควรหากระบวนการที่ถูกต้องเอง คัสตอมเมดเองตามความขยันและการเข้าถึงที่รับรีไซเคิล เบื้องต้น แนะนำให้ดักรอพนักงานเก็บขยะ/ลุงซาเล้ง ถามให้ชัดว่าแยกขยะแบบไหนที่เขาต้องการ ไปขายต่อได้ ไม่ลงบ่อรวม เพราะบางลุงจะอยากได้แต่แก้วอเมซอน ไม่เอาแก้วสตาร์บัคนะ ส่วนขวดได้หมด หากเรารู้จะได้ล้างและแยกถุงไว้ให้เลย
ถามว่าทำไมต้องล้าง ขี้เกียจอ่ะ แต่ขอบอกว่ามันเก็บง่ายกว่า ไม่เหม็น ไม่เน่า ไม่เรียกสัตว์ จากนั้นก็จัดสเตชั่นตามถนัด แยกให้ลุงซาเล้งแล้ว ก็แยกสิ่งรีไซเคิลได้แต่ลุงไม่เอา รวมใส่ท้ายรถไว้เวลาไปซูเปอร์ที่มีถังวน และหาจุดเก็บขยะกำพร้า (เศษพลาสติก โฟม ผ้าขี้ริ้ว แปรงสีฟัน ที่ไม่รู้จะไปถังไหน รวบไว้ส่งต่อ N15 เวลาไปส่งพัสดุ ฯลฯ
2020 ตู้ปันสุขแสนสุขใจ (ใคร)
2021 ถ้ายังพอปันไหว เลือกปันให้ได้มากกว่าเดิม
เอาจริงๆ เหตุผลหลักที่ทำให้เราจิตตก ก็คือการรับรู้ว่ายังมีคนอีกมากที่กินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาแล้วตลอดเดือน เห็นคนสั่งอาหารแล้วเมนชั่นบอกร้านว่าขอข้าวเยอะหน่อยเพราะกลัวลูกไม่อิ่มแต่ไม่มีตังค์สั่ง 2 กล่อง หรือรู้ว่ามีกลุ่มคนเปราะบาง คนในชุมชนแออัด หรือคนงานในแคมป์ ไม่สามารถเข้าถึงอาหารเพราะสถานการณ์บีบคั้น
เขินนิดหน่อยนะที่จะบอกว่าตอนนั้นก็ทำตู้ปันสุขกับเขาด้วย ที่ว่าเขินก็เพราะเราคิดว่ามันเป็นความสุขใจประเดี๋ยวประด๋าวน่ะ คนให้ฟิน คนรับก็ไม่ได้ประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยอะไร และรัฐต้องเป็นคนดูแลเราดิวะ! ยิ่งพอทำไปซักพัก เราก็พบว่าการซื้อของแพ็คมาเติมตู้ตลอดเวลาก็เป็นเงินจำนวนไม่น้อย คนในชุมชนช่วยกันเติมแค่ไหนยังไงมันก็ยังหมดไปอย่างรวดเร็ว วิธีนี้ไม่มีทางยืนระยะยาวๆ ได้หรอก ซึ่งก็พิสูจน์ได้ชัดเจนด้วยตู้ที่ว่างเปล่าและค่อยๆ หายไป (รวมทั้งของซอยบ้านเราด้วย)
ตัดภาพมาปีนี้ รัฐก็ยังไม่อาจดูแลเราได้ดีเหมือนเคย แต่การบริจาคที่เราว่ามันไม่ยั่งยืนหรอกแกก็พัฒนาตัวเองเก่งกว่ารัฐ มีรูปแบบที่เป็นระบบ เยียวยากันเอง ดูแลกันเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใครยังพอมีความสามารถในการปันก็ลองดูว่า เราพอจะหยิบยื่นและช่วยเหลืออย่างไร เอาให้เราพอกลับมากินข้าวอร่อยบ้างก็ยังดี
วิธีรับมือ 07
รวมลิสต์แหล่งปัน
ไม่เกริ่นเยอะ ข้างล่างนี้รวมลิสต์แหล่งปันที่ถ้าใครยังไหว ฝากไว้ในอ้อมใจด้วยนา
- คลองเตยดีจัง ปันกันอิ่ม โครงการของกลุ่มคลองเตยดีจังที่เราว่าดีจริง คือคูปองที่เราร่วมอุดหนุนให้เด็กๆ ที่คนที่ต้องกักตัวในชุมชนสามารถถือคูปองไปซื้อร้านค้าในชุมชนได้ ร้านค้าก็รอด คนเข้าไปถึงอาหารก็อิ่ม บริจาคง่าย มีระบบชัดเจน ทำมาตั้งแต่โควิดระลอกแรก และยังอุดหนุนได้อยู่
- กลุ่มปันอาหาร ปันชีวิต อีกโมเดลที่ดีและทำมาต่อเนื่องไม่มีแผ่ว คือการรับบริจาคแล้วนำเงินไปซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรที่ขายผลผลิตไม่ได้ แล้วทำอาหารแจกจ่ายกลุ่มคนจนเมือง
- ไทยมุงรุมกันสั่ง โมเดลนี้ของ Locall ก็น่าชื่นชม ต่อยอดจากการทำเป้ารุมกันซื้อ แล้วขยายต่อเป็นซื้อแล้วไม่ต้องกินแต่เอาไปบริจาคให้คนไร้บ้าน ดี ดี ดี
- กลุ่มคนดูแลกันเอง หน่วยเฉพาะกิจที่มาดูแลแคมป์คนงานที่ถูกปิด จัดการเป็นระบบตั้งแต่หาอาสาสมัครไปถามความต้องการของแต่ละแคมป์ ซึ่งไม่เท่ากัน บางแคมป์มีอาหารแห้ง บางแคมป์มีเด็กเล็ก บางแคมป์ไม่มีอะไรกินเลย! จากนั้นทีมจะประสานจัดสรรกันว่าของที่ได้รับบริจาคมาควรกระจายไปที่ไหน หรือวางแผนยังไงให้ไม่ชน ไม่ซ้ำ ไม่เกินเหลือ
Read More:
วิธีปรุงเมนูเหลือขอ! จากอาหารเหลือมื้อเก่าที่ร้องขอชีวิต
4 เมนูต่อชีวิตอาหารเหลือ ที่ขอเกิดใหม่เป็นจานอร่อย
คุยกับ ‘ฟาร์มบ้านภู’ ฟาร์มโคนมที่แฮปปี้ได้ เมื่อวัวทุกตัวได้อยู่ดีกินดี
ชวน 'ปู-สรรพศิรินทร์ ทรัพย์อนันต์' เจ้าของฟาร์มโคนมอินทรีย์จากลพบุรี คุยเรื่องสวัสดิภาพของวัวที่เชื่อมโยงกับคุณภาพชีวิตคนต้นทางและปลายทาง
ทดลองเข้าครัวทำอาหารเช้ากินเอง!
บันทึกการทำอาหารเช้า 7 วันแบบคนไม่ถนัดทำอาหาร แต่ก็อยากกินดีและอยากลองทำอาหาร