จนวันหนึ่งขณะที่เรากำลังไถฟีดอินสตาแกรมเพลินๆ เราก็ได้ไปเจอกับการทำ ‘waste audit’ หรือการเก็บสถิติการทิ้งขยะในครัวเรือนเข้า อ่านไปอ่านมาก็พบว่าเป็นไอเดียที่น่าลองทำดูเหมือนกัน (แอบคิดว่าคนอยู่บ้านทั้งวันอย่างเราคงมีขยะน้อยมากแน่ๆ!) และความจริงแล้วการทำ waste audit ก็ไม่ใช่การทำไปงั้นๆ แต่มันคือการสำรวจพฤติกรรมการทิ้งเพื่อจะได้รู้ว่าเราควรจะจัดการกับขยะยังไงต่อไปในอนาคตด้วย นี่จึงมาสู่การทดลองฉบับบ้านๆ ของตัวเราเองในระยะเวลาเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา
ชื่อการทดลอง: ทำ waste audit ฉบับบ้านๆ
ปัญหา: อยากรู้ว่าแต่ละวันเราสร้างขยะเยอะแค่ไหนกัน น้อยอย่างที่คิดไหมนะ
โจทย์: นับจำนวนขยะที่ทิ้งตลอด 1 เดือน
สมมติฐาน: อยู่บ้านน่าจะไม่มีขยะเหลือทิ้งมากนัก น่าจะมีแค่พลาสติกจากการสั่งสินค้าออนไลน์ไม่กี่ชิ้น
waste audit คืออะไร แล้วเขาทำกันยังไงนะ
ก่อนไปทำ waste audit ของเราเอง ขอเกริ่นก่อนว่าจริงๆ waste audit เป็นการเก็บสถิติขยะที่ภาครัฐและภาคเอกชนในหลายประเทศที่จริงจังเรื่องสิ่งแวดล้อมทำกันอยู่แล้ว แม้จะไม่ถึงขั้นนโยบายระดับชาติ แต่ก็มีประโยชน์มากในเชิงการจัดการขยะ ซึ่งองค์กรก็จะมีเจ้าหน้าที่ที่ทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ บางที่เก็บกันละเอียดมาก แยกพลาสติกเป็นชนิดเลยก็มี เสร็จแล้วจะนับจำนวนเป็นหน่วยตามที่สะดวก เพื่อนำสถิติไปแปลงเป็นกราฟหรือรายงานประจำเดือน
เมื่อเก็บสถิติได้แล้ว จะมีการประเมินต่อว่าจะส่งต่อขยะเหล่านั้นไปที่ไหนได้บ้าง บริษัทหลายแห่งอาจรีไซเคิลขยะอยู่แล้ว หรือขยะประเภทไหนที่ใช้ซ้ำไม่ได้ ก็ต้องไปคิดต่อว่าเราจะลดการสร้างขยะเหล่านั้นได้ไหม เพราะนอกจากจะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว waste audit ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นจากการทิ้งขยะ ซึ่งบางครั้งบริษัทอาจไม่ได้ตั้งใจสร้าง รวมไปถึงลดการเสียภาษีค่าทิ้งขยะกับส่วนกลางได้ในหลายประเทศด้วย
ส่วนเวอร์ชั่นบ้านๆ แบบเรา ขั้นตอนก็ไม่ซับซ้อนอะไร เราแค่อยากรู้ว่าเราสร้างขยะไปเยอะเท่าไหร่ น้อยอย่างที่คิดไว้ไหม หรือถ้าเยอะไป เราพอจะลดอะไรได้บ้าง เลยมีขึ้นตอนง่ายๆ แค่นี้
- กำหนดระยะเวลาการเก็บขยะ
- นับจำนวนขยะเป็นชิ้น (หรือใครสะดวกนับเป็นน้ำหนักก็ได้)
- สรุปจำนวน
- วางแผนว่าจะจัดการยังไงต่อไป
สถิติ waste audit ตลอดหนึ่งเดือนของฉัน
ออกตัวก่อนว่าเราไม่ได้เก็บขยะอาหาร เพราะไม่รู้จะรวมไว้ที่ไหน เลยเลือกเก็บขยะที่นับได้เป็นชิ้นเท่านั้น แยกเป็นประเภทง่ายๆ ได้แก่ พลาสติก กระดาษ ส่วนเศษอาหารซึ่งไม่ได้นับจริงจัง ก็ใช้การสังเกตเอาเป็นมื้อๆ แทน
ส่วนใครที่อยากรู้ว่าตัวเองทิ้งอาหารไปเยอะเท่าไหร่แบบเป๊ะๆ เราก็เคยเห็นคนที่เก็บใส่ถุงซิปล็อกเป็นวันๆ เพื่อมาชั่งน้ำหนักดูเหมือนกัน โดยเขาจะรวมขยะทั้งหมดจากการกินเหลือแล้วก็การทำอาหารต่างๆ ด้วย
สรุปผลการทำ waste audit
ขยะพลาสติก มีเยอะไม่ไหวแล้ว!
เมื่อครบหนึ่งเดือนก็ไม่ผิดคาดเท่าไหร่ ขยะพลาสติกมาแรงแซงทุกโค้ง แต่ประเภทที่เยอะที่สุดกลับไม่ใช่ห่อพลาสติกใส่ของอย่างที่คิด แต่เป็นหลอดและกล่องจากการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ เราพบว่าในแต่ละสัปดาห์ เราสั่งอาหารมาเยอะมาก ทั้งซื้อเองบ้าง ที่บ้านซื้อเข้ามาบ้าง ทำให้มีกล่องใส่อาหารและแก้วน้ำหลายรูปแบบ แถมยังมีหลอดจากกล่องนมอีก ดีหน่อยที่ขยะเหล่านี้นำไปล้าง ตาก แล้วรีไซเคิลได้ หรือถุงหูหิ้วที่มาพร้อมกันเราก็เก็บไว้ใส่ขยะที่บ้านต่อได้อีก
ถึงอย่างนั้นเราก็ทิ้งถุงพลาสติกไปเยอะพอสมควร โดยเฉพาะถุงแกงที่เลอะๆ มันๆ และถุงซอสขนาดจิ๋ว ซึ่งยากมากที่จะล้างให้สะอาด
ในเมื่อขยะพลาสติกส่วนใหญ่มาจากการสั่งอาหาร ต่อไปเราเลยตั้งใจว่า หากร้านอาหารไหนอยู่ใกล้บ้าน ก็จะเอากล่องข้าวไปใส่แทน จะได้ไม่มีขยะจากการแยกกับข้าวเกินจำเป็น แถมยังสะดวกกินง่ายด้วย และเมื่อสถานการณ์บ้านเมืองดีขึ้นเราก็หวังจะได้ใช้กระติกน้ำของตัวเองให้เป็นประโยชน์อีกครั้ง
ขยะกระดาษมีไม่เยอะเท่าพลาสติก แต่ทิ้งเพียบ
ขยะประเภทที่เยอะรองลงมาก็คือกระดาษประเภทต่างๆ ส่วนหลักมาจากกล่องนมและน้ำผลไม้ที่กินเกือบทุกวัน ขยะส่วนนี้เราทิ้งบ้างไม่ทิ้งบ้างแล้วแต่อารมณ์ ถ้าไม่ขี้เกียจจะเอาไปล้างตากเพื่อรีไซเคิล ส่วนที่ทิ้งหมดไม่มีเหลือก็คือจานชามใส่อาหาร ซึ่งพอกินเสร็จก็ได้แต่ทำตาปริบๆ ไม่รู้จะทำยังไงต่อ ล้างแล้วจะเหี่ยวไหม ล้างได้จริงหรือเปล่า สุดท้ายเลยตัดใจทิ้งไปทั้งหมด
เราพบว่าปัญหาหลักๆ ของขยะประเภทนี้อยู่ที่การล้างกล่องนม ซึ่งล้างได้แน่นอนแต่เราไม่ยอมทำ หลังจากนี้คงจะพึ่งอารมณ์อย่างเดียวไม่ได้อีกแล้ว!
มีเศษอาหารเล็กน้อยจากการกินเหลือ
สุดท้ายคือขยะอาหารที่ถึงจะน้อยแต่ก็มีนะ อาจเพราะเราไม่ได้ทำอาหารเอง แล้วก็เน้นกินข้าวเหลือจากมื้อก่อน เลยไม่มีวัตถุดิบเหลือทิ้งเท่าไหร่ ขยะอาหารหลักๆ จึงมาจากการเขี่ยอาหารที่ไม่กินออก ถึงแม้จะดูน้อยนิดมากแต่ก็มีแทบทุกมื้อเลยล่ะ
ในเมื่อการกินให้เกลี้ยงไม่ใช่เรื่องยาก เป้าหมายหลังจากนี้ เราเลยตั้งใจจะลองบอกพ่อค้าแม่ค้าเวลาสั่งอาหาร ว่ามีอะไรที่เรากินไม่ได้บ้าง และขอไม่ใส่ได้ไหม เพราะบางทีเราก็ไม่อยากเพิ่มความยุ่งยากเวลาสั่งอาหาร จนมาพบว่าความจริงสิ่งที่เราทิ้งประจำก็คือผักและเนื้อสัตว์บางประเภทที่เราไม่กินนี่แหละ น่าเสียดายไม่ต่างจากการกินข้าวไม่หมดเลย
ทำ waste audit เสร็จแล้วไงต่อ…
การกำหนดเป้าหมายง่ายๆ แบบที่เราทำ เป็นแค่หนึ่งในสิ่งที่ต้องทำหลังทำ waste audit เสร็จเท่านั้น นอกจากนี้เรายังต้องถามตัวเองด้วยว่า ขยะที่เราสร้างนั้นเยอะเกินจำเป็นไปหรือเปล่า แล้วถ้าจะลด เราจะทำอย่างไรได้บ้าง เปลี่ยนข้าวของเครื่องใช้บางส่วนให้รียูสได้ดีไหม หรือถ้าไม่ไหว ลองจัดจุดแยกขยะเล็กๆ ในบ้านก็น่าสนใจ อาจเริ่มจากการแยกทิ้งเศษอาหาร หรือพลาสติกล้างสะอาด แล้วนำขยะส่วนนี้ไปวางหน้าบ้านตามวันทิ้งขยะปกติ พี่คนเก็บขยะเขาก็สามารถนำไปจัดการต่อให้ได้เหมือนกัน
เมื่อผ่านขั้นตอนการวางแผนไปแล้ว จะลองทำ waste audit อีกสักรอบก็ได้ เพื่อดูว่าสิ่งที่เราตั้งใจไว้นั้นเวิร์กหรือไม่เวิร์กอย่างไร หลังจากนั้นจึงค่อยๆ ปรับไปสู่การทิ้งขยะที่เป็นมิตรกับโลก และเราเองก็ทำได้แบบสบายใจในระยะยาว แล้วการจัดการขยะก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปแล้ว
Read More:
ทดลองพกถุงก๊อบแก๊บไปใช้ซ้ำในชีวิตประจำวัน (ฉบับคนขี้ลืม)
อยากรียูสถุงก๊อบแก๊บ แต่ลืมเอามาทุกที ก็ต้องหาวิธีแก้กันหน่อย
มนุษยสัมพันธ์ 04: ชวน อ.ธนาศรี คุยเรื่อง plant therapy ระดับทำเองได้ ไปจนถึงใช้เยียวยาเหยื่อข่มขืน และบำบัดคนในเมือง!
มาทำความรู้จักกับ plant therapy ตั้งแต่การปลูกต้นไม้เอง การใช้ต้นไม้บำบัดผู้ป่วย และการสร้างสวนเพื่อบำบัดคนในเมือง
ป้ายยาและรีวิวแก้วกาแฟเทกอะเวย์แบบมนุษย์วัตถุนิยม (และไม่มีโฆษณาเข้า)
ป้ายยาและรีวิวแก้วกาแฟด้วยประสบการณ์การใช้งานจริง