Eat —— สาระสำคัญ

ส่องวัตถุดิบรสนัว ก้นครัวชนพื้นเมือง

ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 70 กลุ่ม ในจำนวนนี้มี 43 กลุ่มนิยามตนเองว่าเป็นกลุ่มชนพื้นเมือง และตามปฏิทินสากล UN ก็ได้กำหนดให้วันที่ 9 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันชนเผ่าพื้นเมืองโลก แน่นอนว่า มันเป็นวันที่มีความหมายต่อพี่น้องชาวชนพื้นเมืองบ้านเราเช่นเดียวกัน!

จะเรียกว่าเป็นวาระแห่งการเฉลิมฉลองของพวกเขา ก็ไม่ถูกซะทีเดียว เพราะนัยของวันสำคัญวันนี้ คือการกระตุ้นให้สาธารณชนหรือรัฐ ยอมรับความหลากหลายของเชื้อชาติ และเข้าอกเข้าใจวิถีชีวิตของกลุ่มคนที่อยู่ในเขตป่า ขณะเดียวกัน ก็เป็นวันแห่งการรณรงค์ให้ชาวชนเผ่าพื้นเมือง ภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของตนเอง

เชื่อว่าหลายคนแถวนี้น่าจะเคยมีส่วนร่วมในแฮชแท็ก #saveบางกลอย หรือได้ร่วมลงชื่อผลักดัน ร่าง พรบ. สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ไปเมื่อตอนต้นปี ขออัปเดตว่าตอนนี้ ร่าง พรบ. กำลังอยู่ในขั้นตอนตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อ (ยังไม่ผ่าน 100%) สาระสำคัญของร่างนี้ คือการกระตุ้นให้รัฐออกมาตรการคุ้มครองวิถีชีวิตของชนพื้นเมืองอย่างจริงจัง เพราะตั้งแต่ที่รัฐไทยร่วมลงนามในปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง รัฐไทยยังไม่เคยเทคแอคชั่น ร่างกฎหมายลูกที่ให้สิทธิกับชนเผ่าพื้นเมืองเทียบเท่ากับคนทั่วไปเลยนะ (พูดแล้วก็กำหมัดแน่น) 

ในฐานะคนชอบกิน เราเชื่อว่าการกินอาหารพื้นเมืองเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราได้ยินเสียงของชนพื้นเมืองชัดขึ้น การที่มีคนนอกเห็นคุณค่าของวิถีอาหารชนเผ่า ก็ถือเป็นอีกแรงหนึ่งที่ช่วยเซฟวิถีชีวิตดั้งเดิมของพวกเขาด้วย ที่สำคัญ ยังช่วยเปลี่ยน perception ทั้งฝั่งคนเมืองแบบเราๆ และพี่น้องชนเผ่าว่า ไม่ว่าโลกจะเดินไปข้างหน้าเร็วแค่ไหน คนที่มีวัฒนธรรมต่างกันสามารถอยู่ร่วมกันได้ อย่างน้อยๆ ก็เรื่องกินของอร่อยเนี่ยแหละ ที่เปิดโอกาสให้เรามีบทสนทนาร่วมกันมากขึ้น

ด้วยความที่แต่ละชนเผ่ามีผืนป่าเป็นแหล่งวัตถุดิบ แม้กระทั่งการทำการเกษตรเพื่อสร้างอาหาร ก็ถูกออกแบบมาให้เฟรนด์ลี่กับป่ามากสุด ความแตกต่างของวิถีชีวิต ประเพณีและวัฒนธรรม ส่งผลให้โลกวัตถุดิบและอาหารชนเผ่า เต็มไปด้วยความหลากหลายและความสนุก ขอขายแรงๆ ด้วยว่า มันเป็นรสชาติพิเศษที่หากินจากร้านหรือหาซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ตในเมืองไม่ได้! 

และแน่นอนว่า ถ้าวิถีชีวิตของพวกเขาถูกทำให้เลือนหายไป (โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดจากข้อบังคับที่ออกโดยคนเมือง ที่ไม่เข้าใจวิถีชีวิตจริงๆ ของชนพื้นเมือง) ความอร่อยที่เป็นเอกลักษณ์เหล่านี้ก็จะหายไปด้วย! ดังนั้น ระหว่างที่รอรัฐสภาพิจารณาร่าง พรบ. เราขอใช้วาระวันชนเผ่าพื้นเมือง ชวนทุกคนมาส่องวัตถุดิบก้นครัวของ 4 ชนเผ่าพื้นเมืองทางภาคเหนือและภาคอีสาน ที่เราติดใจรสชาติอาหารและความเจ๋งของวัตถุดิบติดครัวของพวกเขา จะมีอะไรบ้าง ตามมาดูกันเลย! 

ห่อวอ

สมุนไพรชูรส สัญลักษณ์แห่งวิถีชีวิตที่หมุนเวียนไปกับป่าของชาวปกาเกอะญอ

‘ห่อวอ’ หรือ ‘ฮ่อวอ’ เป็นส่วนประกอบที่อยู่ในเมนูปกาเกอะญอแทบจะทุกเมนู ที่พิเศษขนาดนี้ เป็นเพราะห่อวอมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ บ้างว่ารสคล้ายผักสมุนไพรอย่างข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด แมงลัก โหระพา (ลักษณะใบก็คล้ายๆ โหระพา เพราะจัดอยู่ในวงศ์เดียวกัน) รวมกันอยู่ในต้นห่อวอต้นเดียว จะใส่แกง หรือหยิบมาตำน้ำพริก หรือกินแกล้ม ห่อวอก็รวบหมด หรือไม่ว่าจะโปะบนหน้าพิซซ่าแทนเบซิล หรือโรยผงห่อวอเพิ่มกลิ่นและรสแปลกใหม่ ในกลุ่มคนชอบรสอาหารโลคอล ห่อวอคือวัตถุดิบที่น่าตื่นเต้นสุดๆ

ถึงห่อวอมีคุณสมบัติสารพัดขนาดนี้ แต่ตัวมันเองไม่เคยจะแมสเหมือนพริกหม่าล่าหรือเครื่องเทศอื่นๆ ส่วนหนึ่งก็เพราะห่อวอเป็นพืชสมุนไพรสุดแรร์ ที่เติบโตบนพื้นที่ไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอะญอเท่านั้น!

‘ที่ใดมีชาวปกาเกอะญอ ที่นั่นมีห่อวอ’ ประโยคนี้จริงแสนจริง เพราะเมล็ดห่อวอมีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอ โดยเฉพาะการทำไร่หมุนเวียน ที่เรียกเป็นภาษาปกาเกอะญอว่า ‘คึ-ฉึ่ย’ เมล็ดห่อวอเป็นหนึ่งในเมล็ดพืชพื้นบ้านที่ชาวปกาเกอะญอจะหว่านลงดินช่วงกลางเดือนพฤษภาคม เมื่อฝนเริ่มโปรยปราย พืชพรรณเหล่านี้จะแตกหน่อ เติบโตและออกผล เป็นแหล่งอาหารให้พวกเขาทยอยเก็บกินอีกหลายเดือนหลังจากนั้น (แถมงานนี้ยังได้เก็บเมล็ดพันธุ์ล็อตใหม่ ที่จะกลายเป็นต้นทุนสำหรับฤดูกาลเพาะปลูกฤดูต่อไปด้วย) อย่างห่อวอ นอกจากจะเก็บมากินสด ยังมีการแปรรูปเป็นห่อวอแห้ง เก็บใช้ในฤดูกาลอื่นๆ แบบนี้ไม่เรียกพึ่งพาตัวเองได้เก่งมากๆ ก็ไม่รู้จะนิยามพวกเขาว่ายังไงแล้ว

การรู้จักห่อวอทำให้เราได้รู้ด้วยว่า คึ-ฉึ่ย คือภูมิปัญญาที่หล่อเลี้ยงชีวิตและจิตวิญญาณคนปกาเกอะญอ เมื่อต้องกินและอยู่กับป่า ป่าจึงเป็นสิ่งที่พวกเขาเคารพกันมาก การปลูกห่อวอและพืชชนิดอื่นๆ ที่เรียกรวมๆ ว่าเป็นการสร้างแหล่งอาหารจึงต้องไม่เบียดเบียนธรรมชาติ และยังต้องมีมิติของการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพอยู่ด้วย

รูปแบบการทำไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอะญอ เป็นการใช้พื้นที่ปลูกซ้ำ (ปลูกพืชหลายชนิดเวียนๆ กัน) 1 ปี และพักดิน ทิ้งให้ไร่ฟื้นตัว 6-10 ปี ก่อนจะเวียนกลับมาปลูกใหม่ในพื้นที่เดิม ไม่ใช่การบุกรุกป่า ทำไร่เลื่อนลอยอย่างที่ถูกปรักปรำ และยามที่ต้องถางพื้นที่ป่าทำไร่ พวกเขาจะไม่ใช้วิธีถางที่ทำลายหน้าดิน ไม่ขุดรากถอนโคนหรือตัดตอไม้ให้เหี้ยนเตียน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ต้นไม้ดั้งเดิมที่เคยอยู่ตรงนั้นแตกกิ่งเติบโต และคืนชีวิตที่อุดมสมบูรณ์ให้ผืนป่าได้อีกครั้ง

เมื่อใช้ประโยชน์จากเขาแล้วก็ต้องดูแลเขาให้ดี และต้องดีแบบยั่งยืนด้วย นี่คือ relationship ระหว่างคนกับป่า ที่เรามองเห็นจากวิธีคิดของคนปกาเกอะญอ ซึ่งพอเห็นแบบนี้ก็น้อยใจแทนพี่น้องชาวบางกลอย รวมทั้งหมู่บ้านปกาเกอะญออื่นๆ ที่ถูกบังคับให้พรัดพรากจากผืนป่าที่พึ่งพาและเพียรดูแลมาตลอด แถมหลายๆ ครั้งที่ทางที่รัฐจัดให้ใหม่ก็ไม่ได้เอื้อต่อไร่หมุนเวียน หรือเอื้อต่อวิถีชีวิตของพวกเขา ทั้งๆ ที่พี่น้องปกาเกอะญอก็มีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์เท่าๆ กับเราทุกคน แล้วทำไมรัฐถึงปฏิบัติกับพวกเขาแบบนั้นกัน (ฉงนสงสัย) 

การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ๆ จากชนเผ่าปกาเกอะญอ รวมทั้งชนเผ่าอื่นๆ เดี๋ยวนี้ไม่ได้แตกต่างจากวิถีชีวิตของคนในเมืองมาก ทว่าการเติบโตท่ามกลางบรรยากาศที่รัฐไทยไม่ค่อยสนใจสักเท่าไหร่ (แม้ว่านี่จะปี 2021 แล้ว มีคนปกาเกอะญออีกหลายพื้นที่ยังติดกับปัญหาการไม่มีสัญชาติอยู่เลย) เลือดนักสู้ของพวกเขาเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งในสถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้ คนจากชนเผ่าที่ยังไม่มีสัญชาติ ไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ ก็นับรวมเป็นกลุ่มเปราะบางด้วย ถ้าเราเชื่อในความเป็นมนุษย์กันจริงๆ เสียงของพวกเขาก็ควรจะดัง เทียบเท่ากับเสียงของพวกเรานะ

ถั่วเน่า

เครื่องปรุงจากถั่วเหลืองหมักตำรับโบราณ ความมั่นคงทางอาหารของชาวไต (ไทใหญ่)

เวลาพูดชื่อ ‘ถั่วเน่า’ สำหรับคนที่ไม่เคยรู้จักมักจี่ก็น่าจะมีสตั๊นต์ที่ได้ยินกันบ้าง เพราะคำว่า ‘เน่า’ ในความเข้าใจทั่วไปคือความบูดเสีย ทว่าจริงๆ แล้ววัตถุดิบก้นครัวของชาวเหนือ ที่มีต้นกำเนิดมาจากภูมิปัญญาการถนอมอาหารของชาวไตหรือไทใหญ่อันนี้ มันคือเคล็ดลับความอูมามิ ในเมนูน้ำพริกอ่อง จอผักกาด น้ำเงี้ยว และอีกสารพัด!

คนเหนือโดยกำเนิดแบบเรา ขอบอกเลยว่าถั่วเน่านี่เป็นเครื่องปรุงเบอร์เดียวกับกะปิของไทยคนภาคกลางและภาคใต้ รสชาติเค็มอ่อนๆ กับกลิ่นหอมฉุนอันเป็นเอกลักษณ์ เกิดจากการนำเมล็ดถั่วเหลืองไปต้ม 6 ชั่วโมง ยกขึ้นมาหมัก 2 วัน 2 คืน (แบบดั้งเดิมจะหมักในภาชนะที่รองและคลุมด้วยใบตองสักหรือใบตองตึง) ซึ่งในกระบวนการหมักที่ถูกต้องจะมีราดีที่กินได้เกิดขึ้น สร้างรสอูมามิและวิตามินที่มีประโยชน์ต่อร่างกายคนกิน 

ถั่วเน่ายังมีรูปแบบการกินหลากหลายด้วย ตั้งแต่การนำเมล็ดถั่วที่หมักแล้ว (ฟีลลิ่งเดียวกับนัตโตะ) มาคั่วเป็น ‘คั่วถั่วเน่าซา’ บดและปรุงรสเป็น ‘ถั่วเน่าเมอะ’ หรือทำเป็นแผ่นบางและตากแดดให้แห้งเป็น ‘ถั่วเน่าแข็บ’ ยืดอายุวัตถุดิบให้นานขึ้นอีก เวลาเข้าป่า ชาวไทใหญ่ในอดีตจะพกถั่วเน่าแบบแผ่น (ที่ปรุงรสมาแล้วนิดหน่อย) ย่างไฟให้กรุ่น กินกับข้าวเหนียว เรียบง่ายแบบนี้เลย

สลับกลับมาที่ชาวไทใหญ่ในปัจจุบัน ไม่ว่าโยกย้ายถิ่นฐานไปที่ไหน หรือกระทั่งคนรุ่นใหม่ที่กระจายตัวเข้าเรียนมหา’ลัยและทำงานประจำในที่ต่างถิ่น ถั่วเน่าแข็บ คือวัตถุดิบที่พวกเขาจะเอาติดตัวไปด้วย เพราะมันคือรสคุ้นปากตัวแทนของบ้านเกิด บางคนตำให้เป็นผงๆ ใส่ขวดแก้ว เอื้อให้พกพาและหยิบมาปรุงอาหารได้สะดวกมากขึ้น (เห็นแล้วอยากแพ็คผงถั่วเน่าและห่อวอ ติดแบรนด์ขายให้รู้แล้วรู้รอด)

ในครัวของคนไทใหญ่ไม่ได้มีวิธีการแปรรูปถั่วเหลืองด้วยการหมักเป็นถั่วเน่าเท่านั้น ยังมีการทำเต้าหู้ไทใหญ่หรือ ‘ถั่วพู’ (ใช่ค่ะคุณฟังไม่ผิด) ปรุงรสด้วยเครื่องปรุงสไตล์จีนๆ เป็น ‘เต้าหู้ยี้ไทใหญ่’ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เราเห็นความหลากหลายวัฒนธรรมผ่านตำรับอาหารไทใหญ่ คือมีทั้งที่รับมาจากวิถีอาหารของจีน และเมียนมาร์ (ด้วยเพราะเป็นชาติพันธุ์ที่อพยพมาจากรัฐฉาน) เครื่องเทศอย่าง ‘มะสล่า’ ก็คล้าย masala ของอินเดีย และใช้หอมกับกระเทียมเป็นหลักไม่ต่างกับวิถีอาหารของคนล้านนา

ที่สำคัญคือ วัตถุดิบตั้งต้นอย่างถั่วเหลือง ยังถือเป็นวัตถุดิบที่เปรียบเหมือนความมั่นคงทางอาหารของชาวไทใหญ่ด้วย เรียกได้ว่าจากอดีตจนถึงปัจจุบันนี้ ทุกบ้านต้องมีถั่วเหลือง (และมีถั่วเน่า!) ซึ่งมุมหนึ่งถั่วเหลืองก็สะท้อนวิถีการทำเกษตรของพวกเขาด้วย เพราะเกษตรกรชาวไทใหญ่ (โดยเฉพาะแถบจังหวัดแม่ฮ่องสอน) รวมทั้งกลุ่มชนพื้นเมืองอื่นๆ ที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงที่มักปลูกถั่วเหลืองสลับกับข้าว ที่เชื่อกันว่าเป็นการบำรุงแร่ธาตุให้ดินนั่นเอง มีข้าวและถั่วเหลืองที่ปลูกเอง แค่นี้ความอร่อยก็เกิดแล้ว!

รากชู

พืชผักบ้านๆ ที่ชุบชูชีวิตและจิตวิญญาณดั้งเดิมของชาวอาข่า

ต้นชูหรือหอมชู เป็นพืชล้มลุกที่พบได้ตั้งแต่ทางตอนใต้ของจีนเรื่อยมาจนถึงตอนเหนือของไทย ซึ่งส่วนที่ชาวอาข่านิยมรับประทานคือส่วนของราก มีลักษณะอวบน้ำ สีขาว คล้ายถั่วงอกแต่ยาวกว่า ให้รสชาติเผ็ดๆ หอมๆ และมีกลิ่นเหมือนกุยช่าย (เพราะเป็นพืชตระกูลเดียวกัน) ว่ากันว่า คนอาข่าไปอยู่ที่ไหนก็มักจะพกเมล็ดชูไปปลูกด้วย เพราะชูเป็นอาหารของชนเผ่า ทุกคนคุ้นเคยกับรสหอมชูกันมาตั้งแต่เด็กๆ

ชาวอาข่าไม่ได้ปลูกหอมชูเพื่อเป็นอาหารเท่านั้น แต่หอมชูยังเป็นพืชที่พวกเขาปลูกขาย ส่งออกไปยังแถบประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะคนกินรากชูมีทั้งจีน เมียนมาร์ ลาว รวมทั้งชาวอาข่าและชาวลาหู่กระจายตัวในพื้นที่ต่างๆ ทางตอนเหนือของไทย คนต่างถิ่นแบบเราๆ จะสามารถคว้ารากชูกลับบ้านได้ ก็ต้องไปเดินตลาดโลคอลในจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่เท่านั้น

อีกทั้งรากชูยังสามารถต้ม ผัด แกง และทำน้ำพริกได้หลากหลาย กินแนมกับลาบ หรือผัดพร้อมน้ำพริกอ่องก็อร่อย เรียกได้ว่าเกือบทุกเมนูบนสำรับของชาวอาข่า เพราะอาหารอาข่าเน้นความหอมและเผ็ด รสธรรมชาติของรากชูเลยช่วยชูรสไปโดยปริยาย นอกจากนี้ยังกินเป็นยาสมุนไพร บำรุงร่างกายไปในตัวด้วยนะ 

นอกจากนำมาปรุงอาหารหลากเมนูแล้ว ชาวอาข่ายังนิยมนำรากชูมาดองเป็นเครื่องเคียง คล้ายๆ กับวิถีอาหารของชาวเกาหลีที่ต้องมีกิมจิ ซึ่งวิธีการทำกิมจิสไตล์อาข่าก็ง่ายๆ แค่คลุกรากชู (บางสูตรนำรากชูไปตากแดดให้เหี่ยวก่อน) กับพริกแห้ง เกลือ และน้ำตาล ทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ ครบเวลาแล้วก็เป็นอันเรียบร้อย ถ้าใครอยากลองเปิดโลกกิมจิสไตล์อาข่า ก็สามารถเสิร์ชตามเฟซบุ๊ก เพราะเดี๋ยวนี้ชาวอาข่าฮิตทำรากชูดองจำหน่ายออนไลน์กันมากขึ้น

ความภูมิใจในวิถีอาหารของลูกหลานชาวอาข่า ยังถูกต่อยอดออกมาในรูปแบบที่ร่วมสมัยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเพจเล่าเรื่องอาหารชนเผ่า หรือทำ chef table โดยเฉพาะเชฟเทเบิลของเชฟน้ำ-กัลยา เชอหมื่อ คนทำอาหารรุ่นใหม่ชาวอาข่า ผู้ก่อตั้งเพจ Seeds Journey ที่ส่วนตัว เราหมายมั่นปั้นมือว่าอยากไปชิมอาหารที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าของเธอสักครั้ง

พริกพราน

เครื่องเทศรสแซ่บจากชายป่าที่สะท้อนวิถีเรียบง่ายของชาวไทยทรงดำ

สำหรับชาวไทยทรงดำ หรือลาวโซ่ง ชนพื้นเมืองในภาคอีสาน ‘พริกพราน’ หรือ ‘มะแข่น’ ถือเป็นเครื่องเทศที่มีความผูกพันกับวิถีอาหารสูงมากๆ วิถีการกินโดยทั่วไปของชาวไทยทรงดำ จะเน้นการกินน้ำพริก ผัก และปลา ซึ่งล้วนเป็นวัตถุดิบที่หาได้ใกล้ตัว โดยมีพริกเป็นวัตถุดิบที่ให้รสเผ็ดนำ และมีเครื่องเทศอย่างพริกพราน ช่วยกลบกลิ่นคาวของเนื้อและปลาร้า 

ลักษณะของพริกพรานจะเป็นช่อดอกแห้งๆ ขนาดเมล็ดเท่ากับเม็ดพริกไทย ซึ่งส่วนที่นำมาใช้จะเป็นส่วนของเปลือกหุ้มเมล็ด นิยมผสมในเครื่องแกงเผ็ด ต้มยำ จุ๊บผัก (ยำผักที่หาได้ตามรั้วบ้าน ลวกและคลุกเคล้ากับเครื่องแกงที่เติมความเผ็ดหอมของพริกพราน) และน้ำพริกแจ่วหรือ ‘แจ่วเอือดด้าน’ เมนูขึ้นชื่อของตำรับไทยทรงดำ

พริกพราน เป็นชื่อเรียกที่พี่น้องชาวไทยทรงดำ กร่อนเสียงจากคำว่า พริกนายพราน เพราะมีตำนานที่เล่าปากต่อปากกันมาว่า ผู้ค้นพบความแซ่บของพริกป่าชนิดนี้คือนายพรานที่เข้าป่าล่าสัตว์ ระหว่างที่ปรุงเนื้อเป็นอาหารก็เหลือบไปเห็นช่อดอกของต้นมะแข่น ดมแล้วมีกลิ่นหอมฉุนดี เมื่อลองมาจิ้มกับเนื้อย่างก็ได้พบว่ามันให้รสเผ็ดซ่า เหมาะเป็นเครื่องจิ้มกับเนื้อหรือดับกลิ่นคาวเนื้อ เจ้าตัวจึงเก็บกลับมาแบ่งปันให้คนรอบตัวได้ลิ้มรสด้วย มะแข่นเลยได้สมญานามว่าพริกพรานมานับแต่นั้น

ทว่าทุกวันนี้ การเข้าป่าเก็บพริกพรานอาจเลือนหายไปจากวิถีชีวิตคนไทยทรงดำรุ่นใหม่ๆ ความเป็นเมืองที่ขยับเข้าใกล้หมู่บ้าน ก็ได้เปิดโอกาสให้คนรุ่นลูกหลานได้ร่ำเรียนและใช้ชีวิตในเมืองมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นพริกพรานก็ยังเป็นเครื่องเทศที่พวกเขาต้องมีติดบ้าน การตามหาวัตถุดิบจากที่เมื่อก่อนต้องไปเก็บเอง ก็ถูกปรับให้สะดวกสบายมากขึ้น อย่างพริกพราน เดี๋ยวนี้พ่อค้าแม่ค้าชาวไทยทรงดำ ก็นิยมนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านมาวางขายในตลาดแทน

ความจริงแล้ว รสเผ็ดซ่าและกลิ่นหอมฉุนแบบพริกพราน ไม่ได้เป็นขวัญใจแค่กับชาวลาวโซ่งในภาคอีสานเท่านั้น ใครที่ชอบอาหารเหนือน่าจะพอคุ้นชื่อเครื่องเทศอย่าง ‘มะแขว่น’ ที่พบมากสุดในจังหวัดน่าน ทั้งมะแข่นและมะแขว่นมีความใกล้เคียงกันมากๆ (เพราะเป็นไม้ยืนต้นตระกูลเดียวกัน เติบโตในชายป่าที่มีสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกัน) ต่างกันตรงที่มะแข่นจะมีขนาดเมล็ดโตกว่า และมีรสเผ็ดที่ชาลิ้นมากกว่า ใครที่ชอบกินหม่าล่าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว บอกเลยว่ามะแข่นถูกปากคุณแน่นอน

มาถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายคนคงรู้สึกเหมือนๆ กันว่า ทั้งห่อวอ ถั่วเน่า รากชู และพริกพราน วัตถุดิบที่เราหยิบมาเล่าในวันนี้มีจุดร่วมหลายอย่างเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นสื่อกลางที่ทำให้คนนอกอย่างเราๆ จับต้องวัฒนธรรมของชาวชนพื้นเมืองได้ง่ายขึ้น ยิ่งถ้าเป็นคนชอบทำอาหารอยู่แล้ว การหยิบสิ่งเหล่านี้เข้าครัว รับรองเลยว่ารสในกับข้าวของเราจะสนุกขึ้นอีกหนึ่งเบอร์! แถมเบื้องหลังของวัตถุดิบเหล่านี้ยังมีเรื่องราวที่ว่าด้วยวิถีชีวิตที่ผูกพันกับพื้นที่ ผูกพันกับผืนป่าที่พวกเขาใกล้ชิดติดหนึบอยู่ด้วย

คนที่มีวัฒนธรรมการกินเป็นของตัวเองและยังพยายามรักษาอัตลักษณ์เหล่านี้ไม่ให้เลือนหายไปไหนเนี่ย มันเท่สุดๆ ไปเลยเนอะ คุณว่ามั้ย?

Graphic Designer

#กราฟิกดีไซเนอร์ #เป็นเด็กหญิงMoodyGirl #แต่ถ้าได้กินของอร่อยฟังเพลงเพราะนอนเต็มอิ่มจะจิตใจแจ่มใสและหัวใจพองโต

Read More:

Eat ผลการทดลอง

ว่างนัก เลยทดลองหมักอาหารกินเอง

ผลการทดลองทำกินจิหมักๆ และเหล้าบ๊วยดองๆ ของคน WFH

Eat มนุษยสัมพันธ์

ถ้ารักกันจริง แค่เรื่องซื้อผักเราก็ต้องแคร์

คุยกับ 'Happy Grocers' ร้านผักเดลิเวอรี่ที่อยากเห็น คนปลูกและคนกินได้แฮปปี้กับโลกใบนี้ไปด้วยกัน

Eat สาระสำคัญ

อย่าหลอ(ด)กฉันเลย!

หลอดที่บอกว่าย่อยได้ แท้จริงอาจหลอกกันก็ได้