ไม่มีใครสมควรถูกทำให้สูญหาย แต่สิ่งนี้ก็ยังวนเวียนกลับมาให้เห็นอยู่เรื่อยๆ
ไม่มีใครควรชินกับการบังคับสูญหาย หรือการใช้ความรุนแรงจากรัฐ แต่ภาครัฐกลับพยายามทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องปกติ เหมือนอย่างที่เราเห็นภาพตำรวจลอยนวล จากการซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดียาเสพติดจนเสียชีวิต หรือการโพสต์ข้อความบนโลกออนไลน์ของวันเฉลิม ที่ทำให้เขาต้องหายตัวไปตลอดกาล
ในฐานะที่วันที่ 30 สิงหาคมถูกกำหนดให้เป็นวันแห่งการรำลึกถึงผู้ถูกบังคับสูญหายสากล เราจึงอยากชวนทุกคนมาตามหาสิ่งที่หายไปจากการบังคับสูญหาย เพื่อไม่ให้ชีวิตที่หายไปเหล่านั้นกลายเป็นเพียงเหยื่อของรัฐที่เราทำอะไรไม่ได้ และเพื่อไม่ให้มีใครต้องเจ็บปวดกับการกระทำที่ถือเป็นอาชญากรรมจากรัฐแบบนี้อีก
การบังคับสูญหายคืออะไร
การบังคับบุคคลให้สูญหาย คือการกักขัง ลักพา และลิดรอนสิทธิโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือหากรัฐไม่ได้ลงมือทำเองก็อาจมีส่วนในการสนับสนุน ซึ่งรวมไปถึงการไม่ให้ความร่วมมือในการสืบสวนคดี และเพิกเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยรัฐมักปกปิดชะตากรรมของบุคคลเหล่านั้นไม่ให้สาธารณชนได้รู้ความเป็นไป
การบังคับสูญหายเป็นที่ประจักษ์ครั้งแรกในยุคของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เขาได้ออกรัฐกฤษฎีกาที่ชื่อ ‘Night and Fog’ เพื่อกำจัดผู้ต่อต้านในประเทศและดินแดนในปกครอง โดยมีการจับกุมผู้ต่อต้านรัฐบาลไปพิพากษาในศาลพิเศษที่บุคคลรอบตัวไม่มีทางรู้ชะตากรรม
ต่อมาในยุค 70-80 การบังคับสูญหายก็กลายเป็นการกระทำแสนสามัญในประเทศรัฐบาลเผด็จการ เช่นในแถบละตินอเมริกา เพื่อกำจัดบุคคลที่พยายามแสดงออกทางการเมืองอันขัดแย้งกับหลักการของรัฐ แม้ในปัจจุบันการบังคับสูญหายจะถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงสุดๆ สำหรับประเทศประชาธิปไตย แต่ทำไมกันนะ ในประเทศที่อ้างตนว่าเป็นประชาธิปไตยอย่างไทยแลนด์ ถึงยังมีการบังคับสูญหายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การบังคับสูญหาย ทำให้ชีวิตหนึ่งชีวิตได้หายไป
การบังคับสูญหายในประเทศไทยเกิดขึ้นครั้งแรงช่วงรัฐประหารปี 2490 ซึ่งรัฐบาลพยายามปราบปรามกลุ่มนักเรียกร้องสิทธิที่เชื่อว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และจัดการกับผู้เห็นต่างทางการเมือง จนมีการคาดการณ์กันว่าอาจมีผู้ถูกอุ้มฆ่า อุ้มหายเหยียบพัน น่าเศร้าที่การอุ้มหายในครานั้นยังไม่ถูกจัดเป็นวาระสากลของสหประชาชาติ การส่งเสียงเรียกร้องเพื่อทวงคืนสิทธิให้กับชีวิตที่หายไปจึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
จนช่วงหลังที่องค์การสหประชาชาติเริ่มเข้ามาให้ความสำคัญกับปัญหาการบังคับสูญหาย ได้มีการระบุว่าในช่วงปี 2523-2561 มีคน 86 คนถูกอุ้มหายในประเทศไทย แน่นอนนี่เป็นเพียงตัวเลขในระยะเวลาหนึ่ง ที่ต้องขีดเส้นใต้อีกทีด้วยว่าได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการเท่านั้น นั่นหมายความว่าอาจมีชีวิตอีกมากมายที่สูญหายไปโดยที่เราไม่อาจรู้
หลักๆ เลยก็เพราะการบังคับสูญหายส่วนใหญ่ เป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างนายทุน ภาครัฐ และชาวบ้านในท้องถิ่นห่างไกล ซึ่งการต่อสู้ของพวกเขาอาจเป็นเพียงเสียงกระซิบของคนเมืองและสื่อหลัก แทบทุกคดีเหล่านั้นมักถูกละเลยจนหมดอายุความ และไม่สามารถเอาผิดกับผู้กระทำได้เลย
เช่นในกรณีของ พิทักษ์ โตนวุธ แกนนำคัดค้านโรงโม่หินเนินมะปราง ที่ไปพบข้อมูลว่าโรงโม่หินดังกล่าวถูกสร้างในพื้นที่เขตป่าสงวน ซึ่งไม่ตรงกับเอกสารสัมปทานที่ให้ไว้ แม้เขาจะต่อสู้จนโรงโม่หินปิดตัวได้สำเร็จ แต่พิทักษ์ก็ยังยืนหยัดสู้ต่อเพื่อให้เจ้าหน้าที่นำเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ออกไปจากพื้นที่ จนเป็นสาเหตุให้เขาถูกยิงเสียชีวิตในเวลาต่อมา
แม้การเสียชีวิตของพิทักษ์จะกลายเป็นแรงฮึดให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาปกป้องบ้านและผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ของพวกเขา แต่ตลอดช่วง 20 ปีของอายุความ (ซึ่งเพิ่งหมดอายุไปเมื่อเดือนพฤษภาคม) ตำรวจก็ไม่สามารถจับตัวคนร้ายมาเอาผิดได้ แม้ชาวบ้านจะพยายามเรียกร้องกันมากแค่ไหนก็ตาม
หรือในกรณีของ พ่อเด่น คำแหล้ แกนนำและนักต่อสู้เพื่อสิทธิทำกินที่ดินทุ่งลุยลาย ผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบาย ‘ทวงคืนผืนป่า’ เขาลุกขึ้นมาต่อสู้กับภาครัฐที่พยายามไล่รื้อที่ทำกินและนำชาวบ้านออกจากป่าชุมชน แม้กระบวนการต่อสู้ดังกล่าวจะทำให้ภาครัฐยอมชะลอการไล่รื้อพื้นที่ของชาวบ้าน แต่ต่อมาพ่อเด่นก็หายตัวไป หลังเข้าไปเก็บของป่าแล้วไม่กลับออกมาอีก
ภายหลังเจ้าหน้าที่ได้ค้นพบกระดูกที่มีดีเอ็นเอใกล้เคียงกับน้องสาวของพ่อเด่น และเสื้อผ้าชุดหนึ่งที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นของพ่อเด่นตกอยู่ในพื้นที่ แต่ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถสรุปได้ว่ากระดูกที่ว่าเป็นกระดูกของใคร และใครคือผู้สมรู้ร่วมคิดให้เหตุการณ์นี้
การบังคับสูญหาย ทำให้หัวหน้าครอบครัวได้หายไป
หนึ่งชีวิตที่หายไป เขาคนนั้นอาจเป็นเสาหลักของครอบครัว อาจเป็นพ่อที่อบอุ่นของลูกๆ และอาจเป็นสามีที่รักของภรรยา การหายไปของหนึ่งชีวิตจึงอาจเป็นผลกระทบอันยิ่งใหญ่ของครอบครัวผู้สูญหาย
ภรรยาของผู้สูญหายบางคนจำเป็นต้องลุกขึ้นมาทำงานมากขึ้นเพื่อรับผิดชอบภาระครอบครัว ส่งลูกๆ เรียนหนังสือ บ้างต้องสละเวลามาสู้คดีที่ยากจะได้รับความเป็นธรรม และอีกหลายคนตัดสินใจลุกขึ้นมาสานต่ออุดมการณ์ของผู้สูญหาย แม้พวกเธอจะรู้ดีว่าการต่อสู้ครั้งนี้อาจต้องแลกมาด้วยชีวิตไม่ต่างกัน
“ในช่วงที่ไม่มีตาเด่น แม่ภาพต้องออกโรง” คือคำที่ แม่สุภาพ คำแหล้ ภรรยาผู้สูญเสียสามีจากการเรียกร้องสิทธิทำกินของตัวเองกล่าวกับบีบีซีไทย หลังวันที่พ่อเด่นหายไป แม่ภาพตัดสินใจลุกขึ้นมาเป็นผู้นำชุมชนเต็มตัว แม้จะเคยถูกจำคุกในฐานะผู้บุกรุกผืนป่าเช่นกัน แต่แม่ภาพก็ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะต้องไม่มีชาวบ้านคนไหนมาเผชิญชะตากรรมอย่างเธออีก และต้นปีที่ผ่านมาเธอก็ตัดสินใจเป็นตัวแทนชาวบ้านลงไปปักหลักชุมนุมที่กรุงเทพฯ กับกลุ่มปฏิรูปที่ดินอีสาน เพื่อเรียกร้องให้ชาวบ้านมีสิทธิในพื้นที่ทำกินของตนเองมากขึ้น (ปัจจุบันแม่ภาพเสียชีวิตแล้วด้วยโรคมะเร็ง)
ก่อนหน้าจะมาสู่ความสำเร็จของการยึดคืนผืนป่าจากสัมปทานเหมืองหิน ตำบลดงมะไฟ ที่กินเวลาต่อสู้ยาวนานถึง 26 ปี ในชุมชนแห่งนี้ก็เคยมีแกนนำชาวบ้านถูกสั่งเก็บไปถึง 4 ราย หนึ่งในนั้นคือ กำนันทองม้วน คำแจ่ม สามีของ แม่สอน คำแจ่ม ซึ่งภายหลังลุกขึ้นมาเป็นแกนนำต่อสู้แทนสามี และพยายามเรียกร้องให้ดีเอสไอช่วยให้ความยุติธรรมกับคดีที่เกิดขึ้น (หลังตำรวจสรุปว่าผู้เสียชีวิตมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด) กระทั่งเหมืองหินหมดสัญญาสัมปทาน ชาวบ้านและกลุ่มอนุรักษ์จึงร่วมกันเข้ายึดคืนพื้นที่ และวางแผนเพื่อฟื้นฟูพื้นที่บริเวณนั้นให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม
เช่นเดียวกับชีวิตของ อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร นักกฎหมายและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนมุสลิมไทย หนึ่งในผู้เรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกในสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่ถูกอุ้มหายเมื่อปี 2547 อังคณาซึ่งเดิมทีเป็นพยาบาลและแม่ของลูกๆ 5 คน จึงต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรม ต่อสู้คดีในชั้นศาล และกลายเป็นนักต่อสู่เพื่อสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มตัว
การบังคับสูญหาย ทำให้สิทธิในการพูดความจริงได้หายไป
เพราะความคิดเห็นที่แตกต่าง และความจริงบางชุดที่แอบซุกไว้ใต้พรม คือสิ่งที่รัฐมองว่าเป็นอาชญากรรมร้ายแรงและต้องกำจัดให้สิ้นซาก การพยายามออกมาพูดความจริงซึ่งไม่เข้าหูภาครัฐ จึงทำให้มีผู้ถูกบังคับสูญหายมาแล้วนักต่อนัก
ย้อนกลับไปในยุครัฐประหารของพลเอกสุจินดา คราประยูร หรือช่วงคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ทนง โพธิ์อ่าน แกนนำแรงงานคนสำคัญ ได้พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลทหารยกเลิกการยุบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ และบรรจุสหภาพรัฐวิสาหกิจกลับเข้ากฎหมายแรงงานดังเดิม จนคณะแรงงานกลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มขบวนการแรงงานไทยและสากลมากมาย แต่ต่อมาทนงค์ก็ได้หายตัวไปอย่างลึกลับ และยังไม่มีใครรู้ว่าเขาไปอยู่ที่ไหน
และในกรณีของ บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ แกนนำกะเหรี่ยงบางกลอยบน นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิที่ทำกิน เขาและชาวบ้านบางกลอยพยายามต่อสู้กับภาครัฐเพื่อทวงคืนสิทธิที่ทำกินในพื้นที่ใจแผ่นดิน ป่าของชุมชน นอกจากนี้บิลลี่ยังเป็นพยานปากสำคัญ เตรียมฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐในเหตุการณ์เจ้าหน้าที่บุกเผาหมู่บ้านกะเหรี่ยงบางกลอยด้วย แต่แล้วเขาก็หายตัวไปนานถึง 5 ปี ก่อนถูกพบเป็นศพถูกฆ่าและอำพรางในถังน้ำมัน
การบังคับสูญหาย ทำให้ความปลอดภัยในการใช้ชีวิตหายไป
การสูญหายเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ทำไมเราถึงไม่เคยเห็นการจัดการอย่างเด็ดขาดซะที ทั้งๆ ที่บทบาทของรัฐประชาธิปไตยต่อกรณีอุ้มหาย คือการต้องพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อพิสูจน์ว่าตนเองโปร่งใส และไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
เหตุผลหลักๆ ก็เพราะประเทศไทยไม่ได้ลงนามใน ‘อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ’ ซึ่งบังคับให้การบังคับสูญหายเป็นคดีอาชญากรรมร้ายแรง สามารถเอาผิดตามกฎหมายอาญาได้ และในกรณีที่คนของรัฐถูกบังคับอุ้มหายหรือกระทำการอุ้มหายในต่างแดน รัฐก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการสืบสวนได้ รวมถึงมีการออกกฎให้รัฐต้องชดเชยและให้ความเป็นธรรมกับครอบครัวที่เป็นเหยื่อของคดีอุ้มหายอย่างเฉียบพลันทันที
เลือกจะไม่ลงนามในอนุสัญญาฯ ยังไม่พอ รัฐบาล คสช.ยังเคยปัดตกร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย (พ.ร.บ.ป้องกันการทรมาน-อุ้มหาย) ที่กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนพยายามเสนอเข้าสภา ด้วยเหตุผลว่ายังทำประชามติกันไม่เพียงพอด้วย ส่วนตอนนี้พ.ร.บ.ที่ว่าก็ยังค้างเติ่งอยู่ในสภา แบบนี้จึงหมายความว่า ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติ หากถูกอุ้มหายในไทยขึ้นมายังไงก็ไม่มีใครมารับผิดชอบ!
และใช่ว่าจะไม่เคยมีเคสของชาวต่างชาติที่ถูกอุ้มหายในไทย เพราะเมื่อปี 2558 กุ้ยหมินไห่ เจ้าของสื่อ Mighty Current Media และนักเขียนผู้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลจีน ก็เคยถูกอุ้มหายขึ้นรถตู้ไปจากคอนโดมิเนียมที่พัทยา ซึ่งภายหลังรัฐบาลจีนก็ออกมาให้การว่าได้จับกุมชายผู้นี้ไปจริงๆ และต่อมาเขาก็ถูกรัฐบาลจีนจับเข้าคุกไปในปี 2560
คุณอาจคิดว่านี่คือปัญหาของรัฐบาลจีนที่บังเอิญมาเกิดขึ้นในแผ่นดินไทยเท่านั้น แต่ปัญหาหลักก็คือ ในช่วงที่กุ้ยหมินไห่ถูกจับตัวอยู่ที่ไทย รัฐบาลไทยก็ไม่ได้กระตือรือร้นอยากจะช่วยตรวจสอบคดีและตามหาความจริงใดๆ เลย! ซ้ำยังทำเหมือนสิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นอีกต่างหาก!
การบังคับสูญหาย ทำให้ความโปร่งใสในฐานะพลเมืองโลกหายไป
หลับหูหลับตากับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศยังไม่พอ ช่วงหลังๆ ยังมีการระบุด้วยว่าการอุ้มหายนั้นลามไปถึงผู้ลี้ภัยทางการเมือง และดำเนินการข้ามแดนกันถึงต่างประเทศเลยทีเดียว (คงไม่ต้องสงสัยนะว่าใครมีเอี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง)
ซึ่งผู้ที่โดนอุ้มหายจากต่างแดนส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ โดนมาตรา 112 หรือถูกกล่าวอ้างว่าพยายามผลักดันสหพันธรัฐไท เช่น ในกรณีของ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ แกนนำกลุ่มสยามแดง อดีตนักโทษคดีคอมมิวนิสต์คนสุดท้ายของไทย ซึ่งได้รับหมายจับคดีล้มการประชุมอาเซียน และอดีตผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ก่อนได้รับการอภัยโทษในภายหลัง เขาตัดสินใจลี้ภัยทางการเมืองเมื่อรัฐบาล คสช. เข้ามามีอำนาจ แต่ต่อมาก็หายตัวไปอย่างปริศนาที่ประเทศลาว
คล้ายกันกับกรณีของ วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ ซึ่งถูกตำรวจระบุว่าเป็นสมาชิกกลุ่มสหพันธรัฐไท ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 และมีอาวุธในครอบครอง เขาได้ตัดสินใจลี้ภัยทางการเมืองไปยังประเทศลาว พร้อมเคลื่อนไหวด้วยคลิปใต้ดินและสื่อออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ก่อนต่อมามีการระบุว่าวุฒิพงศ์ถูกชายชุดดำพร้อมอาวุธเข้าจับกุมตัวไป
หรือในเคสล่าสุด การหายตัวไปของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ก็ทำให้การบังคับสูญหายกลับมาเป็นประเด็นเรียกร้องกันอีกครั้ง วันเฉลิมตัดสินใจลี้ภัยหลังโดนข้อหาโพสต์ข้อความบิดเบือนรัฐบาล คสช. ถูกระบุว่าเป็นแอดมินเพจ ‘กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ’ และเคยโดนข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเมื่อปี 2558 หลังจากลี้ภัยไปยังประเทศกัมพูชา เมื่อปี 2563 เขาก็ได้หายตัวไประหว่างกำลังคุยโทรศัพท์กับพี่สาว
ช่วยกันทวงคืนความยุติธรรม แล้วพาสิทธิที่หายไปของพวกเขากลับมา
ก่อนอื่น เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการเห็นต่างไม่ใช่เรื่องผิด และการแสดงความเห็นที่ตรงข้ามกับสิ่งที่รัฐกรอกหูเราอยู่ทุกวันก็ไม่ใช่อาชญากรรมร้ายแรง ดังนั้นจึงไม่ควรมีมนุษย์คนไหนถูกปิดปากหรือทำให้หายไปเพียงเพราะพวกเขาพยายามเรียกร้องสิทธิของตัวเอง (และหลายๆ ครั้งก็คือการเรียกร้องสิทธิเพื่อพวกเราทุกคนด้วย)
หลังจากนี้ หากมีการผลักดันร่างกฎหมายเกี่ยวกับการทรมานและอุ้มหายอีกครั้ง อย่าลืมช่วยกันส่งเสียงไม่ว่าจะทางโลกออนไลน์ หรือบอกเล่าเรื่องเหล่านี้ให้คนรอบข้างรู้เยอะๆ เพื่อให้กฎหมายดังกล่าวได้รับการอนุมัติและปรับใช้จริงสักที (ได้ข่าวว่าหลังเกิดกรณีตำรวจทรมานผู้ต้องหาคดียาเสพติด วาระนี้อาจจะกลับเข้าสู่สภาเป็นการเร่งด่วนอีกครั้งด้วย อย่าลืมจับตาดูกันนะ)
และที่สำคัญที่สุดอย่าทำให้เรื่องนี้เงียบหายไป ในโลกออนไลน์ยังมี #วันพฤหัสเพื่อวันเฉลิมเพื่อทวงความยุติธรรมให้กับผู้ถูกอุ้มหายเป็นประจำทุกวันพฤหัสบดี
อย่าให้มีเหยื่อจากการถูกบังคับสูญหายรายต่อไป เพราะไม่มีใครสมควรถูกทำให้หายไปจากการเรียกร้องประชาธิปไตยอีก
อ้างอิง
- 23 ปี ทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงาน ที่หายไป หลังต้านรัฐประหาร รสช.
- บุคคลที่สูญหายของประเทศไทย กับปัญหาการ ‘อุ้มหาย’ โดยเจ้าหน้าที่รัฐ
- “อุ้มหาย: ไม่มีศพ ไม่มีกฎหมาย ไม่มีความรับผิด” กับ ปกป้อง ศรีสนิท
- วันเฉลิม : ย้อนรอยผู้ลี้ภัย ใครถูก “อุ้มหาย” บ้างหลังรัฐประหาร 2557
- "สุภาพ คำแหล้" ติดคุกเพราะรุกที่ เสียสามีเพราะต่อสู้เรื่องสิทธิที่ดิน
- ญาติผู้ถูกอุ้มหายเรียกร้อง ‘กฎหมายป้องกันการอุ้มหาย’ ขอให้นำคนผิดมาลงโทษ
- 4 นักกิจกรรมหญิงบนเส้นทางการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน
- For Those Who Died Trying: นิทรรศการเพื่อนักสู้ไทยที่ถูกอุ้มหาย
- กุ้ย หมินไห่ เหยื่ออุ้มหายใต้กระบวนการยุติธรรมแบบจีน ๆ
- What is Enforced Disappearance?
- ‘หมดอายุความ’ คดีสังหารแกนนำต้านโรงโม่หินเนินมะปราง ‘พิทักษ์ โตนวุธ’ 20 ปีที่ความยุติธรรมมาไม่ถึง
- กลุ่มต้านเหมืองดงมะไฟยึดพื้นที่โรงโม่หินปลูกป่าคืนชุมชน
- หายไปกับ “สายน้ำ” ปริศนา “โกตี๋” ในอุ้งมือชายชุดดำ
- 300 วันแล้วที่ไม่มีข่าวจาก ‘สุรชัย แซ่ด่าน’ ภรรยาร้องกรมคุ้มครองสิทธิฯ ช่วยตามคดีผู้ลี้ภัยหายตัวลึกลับในประเทศเพื่อนบ้าน
Read More:
คุยกับ ‘แก้ว-มณีวรรณ’ เด็ก ม.ปลาย ที่เลือกตอบความฝันด้วยการศึกษานอกระบบ
"ครูคะ หนูขอลาออก"
เข้าใจ ‘เฟม’ มากขึ้น ผ่าน 4 หนังสือเฟมินิสต์น่าอ่าน
ทำความเข้าใจว่าเฟมินิสต์คืออะไร จำเป็นต่อสังคมแค่ไหน ผ่านหนังสือน่าสนใจที่เราแนะนำ
ไหว้เจ้า 9 ศาล กับ 9 คำอธิษฐานเพื่อเมืองที่ดีกว่านี้
รวมคำอธิษฐานจากเมือง ที่อยากให้เมืองนี้ดีและน่าอยู่มากขึ้น