เราเชื่อว่า ศิลปะควรมีอิสระ และไม่ผิดเลยที่จะแตะประเด็นที่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองจนกลายเป็นหนึ่งเสียงเรียกร้องประชาธิปไตยได้ ส่งท้ายเดือนตุลาแห่งความหวังนี้ เราเลยอยากชวนทุกคนไปคุยกับ 4 ศิลปินรุ่นใหม่ที่ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการส่งเสียง และบอกเราว่าประเทศเรานี้ยังมีหวัง
PrachathipaType
เรียกร้องประชาธิปไตยผ่านตัวอักษร
“ผมรู้สึกว่าการที่ชนชั้นกลางต้องเซ็นเซอร์ตัวเองในเรื่องของการแสดงออกทางศิลปะ มันเป็นความสำเร็จของฝั่งผู้มีอำนาจ แต่เป็นความน่าเศร้าที่เราต้องอยู่ในสภาวะแบบนี้ พอเริ่มได้มาข้องเกี่ยวกับสังคมคนทำศิลปะเพื่อเรียกร้องเรื่องการเมือง ผมเลยคิดว่าเราลงมือทำบ้างดีกว่า เพราะผมรู้สึกว่าประเทศมันพังเพราะคนรุ่นเราในอดีต เลยอยากทำอะไรเพื่อคนรุ่นนี้บ้าง”
ประโยคนี้เป็นจุดเริ่มต้นของ Prachathipatype เพจของนักออกแบบผู้มีความสนใจด้าน Typography หรือศิลปะการใช้ตัวอักษร หากจำได้เมื่อวันที่ 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎรปีที่แล้ว เขาและเพื่อนศิลปิน Headache Stencil ได้ฝากคำว่า ‘ศักดินา’ ตัวใหญ่เปล่งเสียงไว้มุมหนึ่งบนถนนราชดำเนิน ศิลปะแนวกราฟิตี้หรือการพ่นสีลงบนพื้นที่สาธารณะแบบนี้ ที่จริงแล้วก็เป็นหนึ่งในวิธีการที่ศิลปินต่างประเทศใช้สื่อสารกันโดยทั่วไป
“เราตั้งใจจะพ่นคำว่า ‘ศักดินาจงพินาศ’ ตอนนั้นเราก็เลยออกแบบคำโดยเล็งจาก Google Earth ลงมาว่าตัวอักษรมันควรใหญ่เท่าไร ต้องพาดถนนตรงไหน วางไว้ว่าถ้าถ่ายรูปจากตรงนี้จะเห็นซุ้มเฉลิมพระเกียรติอยู่ข้างหลัง แต่ว่าวันที่ทำจริง คนเยอะกว่าที่คิดมาก จุดที่เล็งไว้ใช้ไม่ได้แล้ว ฝนก็เริ่มตก ก็เลยได้คำว่า ‘ศักดินา’ คำเดียว
“ด้วยความฉุกละหุกและความน่ากลัวของผู้ใช้อำนาจในบ้านเรา พออยู่ดีๆ มีรถตู้วิ่งมาเทียบ เราก็กลัวว่าเราและเพื่อนจะโดนอุ้มไป ปรากฏว่าไม่ใช่ เขาแค่ลงมาปิดประตูรถเท่านั้น แค่นี้เราก็กลัวแล้ว พอตัดสินใจแยกย้าย เราเห็นคนเดินข้ามพอดีก็เลยหันไปถ่ายไว้ กลายเป็นว่า นี่เป็นคำที่คุณจะก้าวข้ามหรือเหยียบย่ำก็ได้”
จากคำว่า ‘ศักดินา’ ได้ถูกต่อยอดจนเกิดเป็นชุดตัวอักษรทางม้าลายที่สื่อถึงความย้อนแย้งของความปลอดภัยของทางม้าลายเมืองไทย คล้ายกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ทำให้ผู้แสดงออกรู้สึกไม่ปลอดภัยด้วย
“ภาพทางม้าลาย เราอยากเพิ่มตัวละครที่แทนคนในมูฟเมนต์นั้น เลยคิดถึงทนายอานนท์ที่เป็นแต่งตัวเป็นแฮรี่พอตเตอร์ นักเรียนหญิงโบว์ขาว เสรีเทยพลัส น้องแฮมทาโร่ เราก็ทำเป็นภาพนี้ขึ้น นึกสนุกเลยเปิดเทมเพลตชวนคนไปครีเอตต่อ ว่าใครจะเดินข้ามทางม้าลายนี้บ้าง ก็กลายเป็นอีกมูฟเมนต์หนึ่ง
“เราอยากกลับมาทำฟอนต์ต่อบ้าง ตอนนั้นพอเขาปัดตกร่างรัฐธรรมนูญที่ ilaw รวมชื่อมาได้แสนชื่อ เราเห็นว่าเขาไม่เห็นหัวประชาชนเลย เราเลยเลือกฟอนต์ ‘สารบัญ’ ที่เป็นฟอนต์เอกสารทางราชการ แล้วเอามาตัดหัวออก ก็อยากจะพูดว่า รัฐไม่เห็นหัวประชาชนเลยจริงๆ”
ล่าสุดที่เราเห็นคำว่า ‘พอเพียง’ ที่ถูกออกแบบโดยกราฟหลากสี
“ตอนนั้นมีข่าวงบสถาบันพระมหากษัตริย์ออกมา มันรู้สึกย้อนแย้งมาก ตอนแรกเรียงเป็นคำว่า ‘งบประมาณ’ ก่อน แล้วรู้สึกว่ามันไม่ค่อยมีชั้นเชิง ก็เลยใช้คำว่า ‘พอเพียง’ และก็กลายมาเป็นเสื้อ สติ๊กเกอร์ต่างๆ ผมอยากพูดเรื่องความฟุ่มเฟือยตรงๆ แต่เคลือบไว้ด้วยความน่ารักๆ แบบนี้”
Prachathipatype อาจจะเป็นศิลปินคนแรกๆ ที่เราเห็นเรื่องการจับตัวอักษรมาส่งเสียงทางการเมือง หากมีศิลปินหลากหลายแขนงออกมาด้วยน่าจะเป็นอีกหนึ่งมูฟเมนต์ที่เพิ่มความหวังได้ดี
“การที่มีศิลปินออกมาทำงานตรงนี้หลากหลายขึ้น ในฐานะคนออกแบบผมว่ามันเป็นหน้าที่หนึ่งที่เราควรจะเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้สังคม ไม่ใช่ชี้นำ แต่เป็นการเพิ่มทางเลือกในการสื่อสาร ซึ่งในกรณีที่ทำออกมาแล้วโดนแบน ผมคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องแค่การเมืองอย่างเดียว มันคือการเขย่าระบบโครงสร้างและอำนาจอุปถัมภ์ที่มันครอบงำทั้งประเทศ ดังนั้นการแบนจึงเป็นการบริหารอำนาจของฝั่งผู้มีอำนาจ ฟังดูก็เศร้า แต่อีกใจ ก็รู้สึกว่าเขาก็ต้องรู้สึกอะไรกับงานที่เราทำประมาณหนึ่งแล้วล่ะ”
“ท้ายสุดแล้ว ผมอยู่ด้วยความหวังที่ว่าอยากเป็นคนที่โชคดีที่ได้เห็น Before and After ของสภาพบ้านเมืองไทย หวังไกลๆ ว่าสังคมเราที่คิดต่างกันมาก จะอยู่ด้วยกัน พูดคุยกันได้ โดยที่ไม่ต้องด่าว่าร้ายให้อีกฝั่งหนึ่งเป็นปีศาจ และอยากเห็นสังคมที่ยอมรับกันที่ความสามารถมากกว่าชาติกำเนิดหรือเส้นสาย เห็นสังคมไทยที่ธุรกิจขนาดเล็กหรืออาชีพสุจริตเล็กๆ น้อยๆ อยู่ได้แบบมีศักดิ์ศรี มันน่าจะรื่นรมย์กว่านี้เยอะ”
ติดตาม Prachathipatype ได้ที่
www.facebook.com/prachathipatype
www.instagram.com/prachathipatype
Thai Political Tarot
วาดหวังและกำลังใจ ลงไพ่ทาโรต์การเมือง
“จิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ทำให้เราตัดสินใจทำเพจไพ่ทาไรต์คือ ช่วงก่อนโควิดเราไปอยู่ออสเตรีย แล้วได้เห็นว่าโลกเสรีนิยมในประเทศที่ภาษีแพง แต่มันย้อนกลับมาถึงคนจ่ายภาษีจริงๆ มันเป็นยังไง บวกกับตอนเรากลับมาเริ่มมีการชุมนุมประท้วงเกิดขึ้น ช่วงนั้นเรากำลังศึกษาไพ่ทาโรต์อยู่ด้วย และมองเห็นแพตเทิร์นของไพ่ในรูปแบบการต่อสู้ ความฝัน ความหวัง เลยอยากทำเพจนี้ขึ้นมาเพื่อให้กำลังใจคนที่อยู่ในมูฟเมนต์นี้”
Thai Political Tarot คือ เพจของศิลปินหญิงที่วาดรูปสื่อสารประเด็นการเมืองลงบนไพ่ทาโรต์ จุดเด่นคือการหยิบจับประเด็นในสังคมมาเข้ากับคาแรกเตอร์ไพ่แต่ละใบในรูปแบบสีสันสนใสที่เธอถนัด เธอเขียนกำกับไว้ที่หน้าเพจว่า ไม่ได้รับดูดวงหรือพยากรณ์การเมืองใดๆ แต่สิ่งที่เธอทำเป็นการส่งเสียงเรียงร้องเพื่อประชาธิปไตยเท่านั้น
“เราว่าไพ่ทาโรต์เป็นการตกตะกอนเพื่อเข้าใจมนุษย์ มีทั้งหมด 78 ใบ ตามสภาวะต่างๆ ของความเป็นมนุษย์รวมกัน นอกเหนือจากการต่อสู้มันก็แสดงออกความเป็นมนุษย์ในหมวดต่างๆ ได้อีกมาก
“เรามองว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองคือการต่อสู้ในความเป็นมนุษย์แบบหนึ่ง อย่างไพ่ The Hanged Man ที่มีคาแรกเตอร์เป็นคนโดนแขวน มีความหมายคือความอดทน ความเสียสละ ซึ่งแกนนำหรือคนที่เคลื่อนไหวแล้วถูกขัง ตอนนี้พวกเขาก็คือ The Hanged Man เช่นกัน เราเลยเลือกวาดเพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) เรามองว่าตอนเพนกวินอดอาหารในคุก เขาต้องเสียสละตัวเองมากเลย เขาอดอาหารเพื่อเป็นสัญลักษณ์ เรารู้สึกว่ามันเป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญ และส่งเสียงให้คนจำนวนมากหรือคนที่ยังไม่ตื่นตัวทางการเมืองหันมาสนใจเหมือนกัน”
ถึงการดึงประเด็นการเมืองมาวาดไพ่ให้ครบทั้งสำรับดูเป็นชาเล้นจ์ที่น่าสนใจ แต่ขณะเดียวกันก็มีสิ่งต้องระวังในระหว่างทางของการวาดเหมือนกัน เพราะการวาดภาพในประเด็นที่ยังไม่นิ่ง อาจส่งผลต่อการตีความหมายของไพ่ได้
“ซีรีส์ของไพ่มี 78 ใบ เราอยากวาดให้ครบ แต่มันมีสิ่งที่เราต้องระวังหลายอย่างมาก อย่างเช่น คนเรามันเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าสมมติว่าเราอยากวาดไพ่ที่วางคาแรกเตอร์เป็นนาย A ที่สู้เพื่อประชาธิปไตยมาตลอด แต่หากวันหนึ่งนาย A เกิดเป็นงูเห่าขึ้นมา ไพ่ใบนั้นก็เน่าเลย
“บางครั้งมันมีประเด็นเกิดขึ้นแต่เรายังคิดเป็นภาพไม่ออก แต่เราค่อนข้างเชื่อว่าพอมันเป็นเรื่องของโหราศาสตร์แล้ว บางใบเรายังไม่รู้ว่าจะวาดอะไร มันก็อาจจะเป็นเพราะยังไม่ถึงเวลาที่จะวาด ยังไม่ถึงเวลาที่เราจะเรียนรู้เรื่องนั้นก็ได้”
เธอบอกว่าเพจของเธอยังไม่เจอฟีดแบ็กในแง่ลบ เหล่าไอโอยังไม่ได้ย่างกรายเข้ามา อาจเพราะเพจยังเล็กอยู่และยังมีคนเสพไม่มาก แต่ก็มีบางฟีดแบ็กที่ทำให้เธอได้เรียนผู้คนรอบตัวมากขึ้น
“มีครั้งหนึ่งที่เราลงไพ่ Ignorant แล้วฟีดแบ็กทางบวกก็เยอะมาก ในขณะเดียวกันฟีดแบ็กทางลบก็เยอะมากด้วย อันนี้ทำให้เราทำความเข้าใจคนเป็น ignorant นะว่าทำไมเขาถึงโกรธคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม เราเรียนรู้ว่าคนที่เราคิดว่าเขาเป็นกลาง ไม่สนใจการเมือง บางทีเขาก็กลัวการถูกตัดสิน เขาเลยอยู่ตรงกลางไม่ไปซ้ายหรือขวา การที่มีไพ่ใบนี้ขึ้นมาวิจารณ์เขา มันก็เลยเหมือนเป็นการโดนต่อว่า เขาก็เลยมาต่อว่าเราอีกที อันนี้เราเข้าใจนะ แต่สุดท้ายเราว่าการเมืองมันเกี่ยวข้องกับทุกคน แต่ว่าสังคมเราพยายามหล่อหลอมให้คนรู้สึกว่ามันไกลตัวและเป็นเรื่องไม่ดี”
เธอเล่าว่าตอนยังเด็กกว่านี้ เธอได้รู้จักคนที่อยู่ในพรรคการเมืองคนหนึ่ง และได้รับรู้เรื่องรุนแรงที่เกิดขึ้นภายใน จนช่วงนั้นเธอเลือกที่จะไม่ยุ่งกับการเมืองไปเลย ยิ่งสังคมพยายามพูดซ้ำๆ ว่าอย่าไปยุ่งกับการเมืองเพราะภาพจำที่ว่าการเมืองคือเรื่องไม่ดี การออกมาพูดเรื่องการเมืองจึงกลายเป็นเรื่องที่ไม่ดีไปด้วย
“เราคิดว่าการหล่อมหลอมเรื่องคนดีทำให้หลายคนรู้สึกแบบนั้น แต่คำว่า ‘ดี’ เนี่ยแหละคือปัญหา ถ้าคนมองว่าการมายุ่งการเมืองหรือการเลือกข้างแล้วเราจะเสียความเป็นคนดีไป มันไม่สมเหตุผล ควรจะต้องมาทำความเข้าใจคอนเซปต์ของความดีหรือถกเถียงเรื่องนี้กันใหม่”
ในช่วงที่บ้านเมืองอยู่ในมู้ดดำเศร้าต่อไปแบบนี้ เราอาจจะชวนเธอเปิดไพ่ทำนายทายทักบ้านเมืองไม่ได้ แต่ก็อยากให้เธอพูดถึงความหวังในบ้านเมืองสักหน่อย
“เราเป็นคนที่ความหวังติดๆ ดับๆ เหมือนกัน สังคมรู้สึกยังไง เราก็รู้สึกคล้ายกัน ตอนนี้เรามองว่าความหวังของเรา คือ เวลาและโลกมันเปลี่ยนไป ใครที่พยายามยึดติดกับสิ่งเก่าๆ เวลาก็จะสั่งสอนเขาเอง
“สถานการณ์ตอนนี้ที่มีคนโดนขัง หรือกระทั้่งโควิดที่ตัดกำลังสู้ของสังคมลงไป แต่เราก็ยังเห็นว่ามีคนที่พยายามทำอะไรออกมาเรื่อยๆ กลุ่มคนทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชน ช่วยเหลือคนโดนฟ้อง และอีกหลายกลุ่ม ต่อให้บางทีความหวังเราลดลง แต่ยังมีความหวังของคนเล็กคนน้อยที่เราเห็น จุดนี้มันทำให้เราไปต่อได้เหมือนกัน”
ติดตาม Thai Political Tarot ได้ที่
www.facebook.com/thaipoliticaltarot
www.instagram.com/thaipoliticaltarot/
Poontany
ย่อยข้อมูลการเมืองหนักๆ เป็น Data Visualization
“งานที่เราทำเป็นการใช้ข้อมูล ใช้สถิติ ใช้ช่วงเวลามาย่อยใหม่ให้เป็น Data Visualization เลยทำให้รู้ว่าทุกๆ ช่วงเวลามันมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น สิ่งที่เราควรมีตอนนี้คือ มีความหวังไว้มากๆ เพื่อรอผลของการเปลี่ยนแปลง”
Poontany คือเพจของนักออกแบบข้อมูลที่สะสมความเป็นคนชอบจดบันทึกมาตั้งแต่เด็ก บวกกับการเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่ต้องใช้ตรรกะและการคำนวณเพื่อทำความเข้าใจระบบยากๆ ด้วยความที่เป็นคนที่เข้าใจอะไรยาก เลยต้องการสิ่งที่ย่อยง่าย และคิดว่าน่าจะมีหลายคนที่เป็นเหมือนกัน ในฐานะนักออกแบบเขาเลยเลือกที่จะย่อยข้อมูลออกมาเป็นภาพ เพื่อให้คนเสพเข้าใจง่ายที่สุด
ภาพแรกที่พาเราไปรู้จักกับงาน Data Visualization ของ Poontany คือภาพโทนสีพาสเทลสุดละมุนแต่มีดีเทลยิบย่อยให้อ่านในภาพ ซึ่งมู้ดของภาพกลับแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับชื่อของงานที่ว่า ‘Mood Tracker Political Version 2021: หัวข้อที่คนไทยด่ารัฐบาลมากที่สุดในครึ่งปีแรกคือเรื่องอะไร?’
“ภาพนี้มันต่อยอดมาจากการทำ Mood Tracker ประจำวันของเรามาตลอด 2 ปี ปีแรกคือปีที่เรียนจบ ปีที่สองคือปีที่มีโควิด ปีนี้เริ่มมีคนตามงานมากขึ้น เลยอยากเปลี่ยนหัวข้อเป็นสิ่งที่คนพูดถึงเยอะขึ้นซึ่งก็คือ ‘การเมือง’ ทีนี้เราก็มาคิดต่อว่า ทำยังไงให้คนที่มาดูงานเข้าใจเรื่องการเมืองในมุมการวิเคราะห์ของเรามากขึ้น
“เราเริ่มจดพฤติกรรมและหัวข้อที่คนพูดถึงเรื่องการเมืองในแต่ละวันตลอดครึ่งปี อาจจะไม่ได้เป็นคำด่าทั้งหมด แต่เป็นสิ่งที่คนวิพากษ์วิจารณ์ โดยเราจะจดในสมุดเล่มเล็กและลงสีเก็บไว้ทุกวัน แต่ถ้าบันทึกแค่มู้ดโทนลงสีตามอารมณ์ที่เกิดขึ้นเฉยๆ มันก็อาจไม่น่าเชื่อถือ วิธีการแก้ไขของเราก็คือจดให้ละเอียดขึ้นโดยแบ่งหัวข้อที่คนพูดถึงมากที่สุดและลงดีเทลสถานการณ์ในช่วงวันนั้นๆ”
หากตามเข้าไปดูเซ็ตภาพฉบับเต็มจะเห็นว่า Mood Tracker Political Version 2021 จะแสดงหัวข้อที่คนไทยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยแบ่งเป็น 5 หัวข้อตามสี เช่น สีแดง = เรื่องการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาล สีน้ำเงิน = เรื่องปัญหาสาธารณสุข สีเขียว = เรื่องปัญหาเศรษฐกิจ สีเหลือง = เรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชน และสีส้ม = เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม
“อย่างช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เป็นช่วงที่ค่อนข้างหนัก ถ้าดูจากในตารางจะเห็นว่ามีหลายหัวข้อมากๆ ที่ถูกพูดถึง เราก็จะเริ่มจัดลำดับความสำคัญโดยตัวเราเองโดยเลือกเรื่องที่อิมแพ็กมากที่สุด สมมุติว่ามี 3 เรื่องที่เกิดพร้อมกัน เช่น การบริหารจัดการวัคซีนที่แย่ นายกฯ ไปเยี่ยมน้ำท่วม โปรโมตคลองโอ่งอ่าง ก็เอาสามเรื่องนี้มาจัดลำดับว่าเรื่องไหนกำลังเป็นประเด็นมากที่สุด หรือถ้าคนพูดถึงเรื่องวัคซีนตลอดอาทิตย์นั้น วัคซีนก็จะเป็นวงใหญ่อยู่นอกสุด”
เพราะมิติทางความคิดต่อสังคมมีหลากหลาย เราอาจจะไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์แค่หัวข้อเดียวได้ จึงมีการเชื่อมโยงไปอีกเรื่องเสมอ เขาเลยใช้วิธี Gradient สีของปัญหาเข้าหากัน และหากใครจำไม่ได้แล้วว่าแต่ละวันพูดถึงเรื่องอะไรบ้าง ในแต่ละภาพก็จะมีการโน้ตรายละเอียดเพิ่มเข้าไปด้วย
“เวลาทำ Information Design ต้องคิดกลับไปกลับมา คิดว่าเราในฐานะดีไซเนอร์จะสื่อสารอะไรกับคนที่มาอ่านงานเรา แล้วก็คิดว่าถ้าเราเป็นคนอ่านงาน เราจะต้องการข้อมูลแบบไหนให้เข้าใจที่สุด อีกหนึ่งอย่างที่สำคัญคือ ประเด็นที่เรานำมาเสนอ ต้องทำให้คนที่ดูเกิด Critical Thinking ต่อด้วย”
สีสุดละมุนและความเชื่อมโยงดีเทลที่อัดแน่น ยังคงเป็นเอกลักษณ์ของเขาเสมอ รวมถึงงานถัดมาอย่าง ‘The Cliché of Thommayanti’s main characters: เขียนหนังสือมา 60 ปี ทำไมตัวละครทำอยู่ไม่กี่อาชีพ?’ ก็เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์บทประพันธ์และงานเขียนของนักเขียนในตำนานอย่าง ‘ทมยันตี’ และการส่งต่อแนวคิดในสังคมไทย
“งานชิ้นนี้มาจากการสงสัยของตัวเอง อยากรู้ว่านักเขียนที่สนับสนุนเหตุการณ์ 6 ตุลาเนี่ย ตัวละครในหนังสือทำอาชีพอะไร โดยเลือกจากหนังสือที่ขายดีและถูกเอามาผลิตซ้ำบ่อยที่สุดจำนวน 10 เล่ม จะเห็นว่าจาก 10 เรื่องมีตัวละครหลักชายที่ทำอาชีพทหารไปแล้ว 4 เรื่อง หนึ่งในนั้นคือ ‘คู่กรรม’ ซึ่งในปี 2533 ก็เกิดคู่กรรมเวอร์ชั่นละครที่แสดงโดยเบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ ที่เรตติ้ง 40% สูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย และเรื่องนี้ก็ถูกเอามาทำซ้ำบ่อยที่สุด
“คำถามก็คือ เรตติ้ง 40% ของคู่กรรมนี้มีปัญหาอะไร ในปีนั้นมีคนไทยทั้งหมด 53 ล้านคน แต่ไม่ใช่ทุกบ้านที่มีทีวีหรืออยากดูพี่เบิร์ดกลับทางช้างเผือก สมมติว่า 1 ล้านคน คนดูคู่กรรมตอนจบ 40% เท่ากับมีคนดู 4 แสนคนที่ดูอยู่ และถูกสื่อสร้างความชอบธรรมให้ทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกไปแล้ว โดยลืมนึกถึงความโหดร้ายที่ทหารญี่ปุ่นทำเอาไว้ทั่วเอเชีย และนี่คือปัญหาของละครไทยที่สร้างจากหนังสือของนักเขียนที่ใช้งานในการสร้างความเกลียดชังและอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความวุ่นวายในประเทศไทย”
ส่วนงานล่าสุดของ Poontany ที่ชื่อว่า ‘How to get rid of a dictatorship in Asia: คู่มือการกำจัดเผด็จการในทวีปเอเชีย’ งานที่พูดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในทวีปเอเชียที่เขาถนัด ก็ถ่ายทอดประเด็นการเมืองได้เข้มข้นในระดับภูมิภาค
“งานนี้เป็น Data Visualization เพื่ออุทิศให้แก่ทุกชีวิตในเอเชียที่ต่อสู้เผื่ออิสรภาพและประชาธิปไตย ตลอด 100 ปีที่ผ่านมา โดยเล่าวิธีการกำจัดประชาชนของเผด็จการผ่าน 4 ประเทศในเอเชียที่ผ่านเรื่องราวมากมาย ได้แก่ ไทย เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็น 4 ประเทศที่ผ่านการเรียกร้องประชาธิปไตยและอิสรภาพมาตลอด
“สิ่งที่มีเหมือนกันในทวีเอเชียคือ ผ่านการปกครองมาทุกรูปแบบแล้ว โดยในภาพจะอธิบายรูปแบบการปกครองตามช่วงเวลานั้น แบ่งเป็นสีต่างๆ ใช้ภาพที่มีลักษณะเป็นคลื่นมาอธิบายช่วงเวลาที่ถูกยึดครองเป็นอาณานิคม สาเหตุที่เป็นคลื่น เพราะเมื่อก่อนเวลายึดอาณานิคม จะเดินทางข้ามมหาสมุทรมายึดครองกัน แล้วก็เพิ่มเส้นสีขาวให้เหมือนลายภาพพิมพ์ที่ปรากฎในเอเชียสมัยก่อน
“เราลองยกตัวอย่าง Diagram เพื่อให้เข้าใจง่าย การเข้ามาของประยุทธ์เริ่มจากรัฐประหารปี 2014 ทหารเข้ามาปกครองอ้างความสงบ 5 ปี คนไทยไม่ยอม ออกมาเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ได้เลือกตั้งจริง แต่พรรคที่ชนะก็เป็นพรรคของทหารที่โกงเข้ามา”
หากคุณสนใจเกี่ยวกับการจับประเด็นมาดีไซน์ เราขอผายมือให้เข้าไปอ่านต่อในทวิตเตอร์ Poonaty หากตั้งใจอ่านงานของเขาดีๆ จะเห็นเรื่องราวของทุกจุดที่ซ่อนอยู่ในภาพที่เกิดขึ้นมาอย่างตั้งใจ
“เราอยากให้คนดูงานเราแล้ว คิดว่าโลกนี้มันยังมีอีกหลายเฉด เลยอยากให้คนเห็นงานเราแล้วเกิดคำถามมากขึ้น แล้วก็มองมิติทางสังคมในภาพกว้าง ถ้าเกิดว่างานของตัวเองช่วยในจุดนั้นได้ ก็จะดีมากๆ”
ติดตาม Poontany ได้ที่
Sally Creates Things
ส่งเสียงผ่านภาพสไตล์ Simple Illustration
“เราไม่มีโอกาสได้ไปร่วมม็อบ เลยใช้ภาพวาดของเราส่งเสียงแทน เราอยากวาดออกมาให้สม่ำเสมอ เลยหาสไตล์ที่ง่ายกับตัวเอง เพื่อให้เร็วและทันกับข่าวในช่วงนั้น และถ้ามีคนเห็นด้วยกับเรา ก็อยากให้ภาพที่เราวาดส่งเสียงแทนเขาด้วย”
ภาพสีสันสดใสเส้นน้อยย่อยง่าย แต่แฝงไปด้วยความจิกกัดของศิลปินเจ้าของเพจ Sally Creates Things ในอินสตาแกรม ชวนดึงดูดใจให้คลิกและแชร์ทุกภาพ
“เราเริ่มใช้แพลตฟอร์มนี้มาเป็นเสียงแทนคนที่อยากพูดเรื่องบ้านเมือง แต่ยังไม่กล้า ไม่สามารถได้พูดแบบเต็มปาก หรืออยากไปม็อบเหมือนกันกับเรา แต่ไม่มีโอกาส”
หากไม่ได้มองรายละเอียดด้านในภาพ คงคิดว่านี่เป็นงาน Illustration ทั่วไป หากลองมองให้ชัด ก็จะเห็นประเด็นบ้านเมืองที่กำลังถูกฉาบด้วยความน่ารัก แม้ว่าแก่นประเด็นที่ถูกพูดจะน่าเศร้ามากก็ตาม
“มีงานหนึ่งที่เราใช้ Meme มาสื่อสารประเด็นการเมือง พูดถึงช่วงเวลาที่เกิดโควิด-19 พุ่งสูงสุด และประชาชนก็ได้รับวัคซีนกันจำนวนมาก แต่เป็นวัคซีน Sinovac ที่แสนแพงและใกล้จะหมดอายุแล้ว อาจดูเหมือนเป็นมีมตลก แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย หรือช่วงที่ประเทศเรากำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิด เตียงไม่พอสำหรับการรักษา เราก็คิดว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร จะต้องวางเตียงไว้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวด้วยหรือเปล่า ก็น่าคิด”
ประเด็นข่าวการเมืองอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเรา เธอก็จับมันมาเล่าได้อย่างแสบสันต์ ทั้งในเรื่องระบบการศึกษา คนที่ส่งเสียงและกลายเป็นเป้าของรัฐ ความครอบงำของทหาร หรือแม้แต่การเรียกร้องให้กลุ่มแกนนำที่ถูกคุมขัง
แต่เธอไม่ได้ใช้ภาพเป็นปากเสียงแค่ประเด็นในไทยเท่านั้น ยังพูดถึงประเด็นที่เกิดขึ้นในต่างประเทศด้วย
“บางภาพที่เราวาดก็สะท้อนเหตุการณ์ของต่างประเทศ ซึ่งกลายเป็นที่ถกเถียงกันในวงกว้างถึงต่างประเทศเลยเหมือนกัน มีทั้งคอมเมนต์ติ ชม แชร์ และหลายคนก็ปกป้องงานเรา เรารู้สึกว่ามันดีนะที่ทำให้คนถกเถียงกันได้ เลยทำให้เราอยากเป็นแพลตฟอร์มที่ Speak Up ประเด็นที่เกิดขึ้นทั่วโลก
“เหตุผลที่เราวาดภาพอยู่ทุกวันนี้ เพราะมันเป็นหนึ่งในทางสู้ของเรา ถ้าเราไม่สู้มันก็ไม่เปลี่ยนอะไร เราอยากให้การเมืองดี อยากให้คนส่งเสียงของตัวเองได้ มีอิสระ เราก็ต้องสู้เพื่อความหวังในอนาคต
“ความหวังของเราคือ อยากให้ทุกคนมี Freedom of Speech อยากทำอะไร อยากพูดอะไรก็ได้ ขณะที่เราวาดภาพอยู่ มันก็ยังน่ากลัวนะ เพราะศิลปินก็ยังไม่มีอิสระในการส่งเสียงขนาดนั้น แต่ก็มีหลายคนสนับสนุนให้เราทำต่อตรงนี้ทำให้เราไม่อยากหยุดวาด”
ติดตาม Sally Creates Things ได้ที่
Read More:
คุยกับ ‘แก้ว-มณีวรรณ’ เด็ก ม.ปลาย ที่เลือกตอบความฝันด้วยการศึกษานอกระบบ
"ครูคะ หนูขอลาออก"
เป็นแม่ค้าออนไลน์เวอร์ชั่นชังชาติก็ได้ แค่อยากช่วยเพื่อนร่วมชาติบ้าง
เปลี่ยนความโกรธให้มีมูลค่า ด้วยแชร์ริตี้ช้อปเวอร์ชั่นจิ๋วและส่วนตัวมาก
เผลอทำร้ายสัตว์โดยไม่ได้ตั้งใจอยู่รึเปล่า?
เข้าใจ Animal Welfare แล้วหาวิธีใจดีกับเหล่าสัตว์ขึ้นอีกนิด