แต่ในมุมคนที่รู้สึกว่าทุกสิ่งบนโลกย่อมมีด้านดีและด้านไม่ดี เราเชื่อว่าการเกิดขึ้นของนวัตกรรมสิ่งก่อสร้างประเภทนี้ น่าจะเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ต่อมนุษยชาติไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง บวกกับกระแส #โครงการผันน้ำยวม เมกกะโปรเจกต์ที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของคนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและคนกรุงเทพฯ ที่เป็น talk of the town ในช่วงเดือนก่อน รู้ตัวอีกทีเราก็คันไม้คันมือ อยากเริ่มต้นทำความรู้จักเขื่อน ในมิติที่แฟร์กับตัวมันมากขึ้น
ทว่าหนึ่งในบทเรียนสำคัญที่เราได้รับมาจากอดีตฮีโร่คนนี้ คือการได้รู้จักทบทวนว่าความหวังในการมีชีวิตที่ดีขึ้น ที่ใครบางคนหยิบยื่นมาให้นั้น เบื้องลึกเบื้องหลังของมันมีการเหยียบย่ำชีวิตหรือความฝันของใครบ้างหรือเปล่า
เขื่อนมีไว้ทำไม?
พอย้อนกลับไปดูหลักฐานทางประวัติศาสตร์ มนุษย์เรารู้จักการสร้างเขื่อนมาตั้งแต่ 3,000 ปีก่อนคริสตกาลด้วยซ้ำ อ้างอิงจากเขื่อน Jawa ประเทศจอร์แดน ที่ถูกบันทึกไว้ว่าเป็นเขื่อนที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มันถูกประกอบร่างด้วยวัสดุอย่างดินและหิน แม้จะไม่แข็งแกร่งเหมือนเขื่อนสมัยนี้ที่ทำจากซีเมนต์และเหล็กกล้า แต่มันก็ทำหน้าที่ปกป้องพื้นที่ตอนกลางของจอร์แดนจากน้ำท่วมฉับพลัน ทำให้เมืองและวัฒนธรรมแถบนั้นอยู่รอดมายาวนานถึง 1,500 ปี
ฝั่งอียิปต์ก็มีหลักฐานว่ามีการก่อสร้างเขื่อนทางตอนใต้ของกรุงไคโรเพื่อป้องกันน้ำท่วมในอีก 200-400 ปีให้หลัง ประเทศอินเดียที่ใกล้ตัวเรามาอีกหน่อย ก็มีการสร้างอ่างเก็บน้ำและคลองส่งน้ำมานานหลายพันปี หนึ่งในเขื่อนน่าสนใจที่เกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่ส่งน้ำให้กับเมืองคือเขื่อน Kallanai แห่งรัฐทมิฬนาฑู มีอายุราวๆ 2,000 ปี และที่บอกว่ามันน่าสนใจก็เพราะ Kallanai เป็นผู้ยืนหนึ่งในตำแหน่งเขื่อนโบราณที่ยังแอ็คทีฟอยู่ ณ เวลานี้
หน้าที่หลักของเขื่อนคือช่วยให้คนมีน้ำใช้ไม่ขาด ด้วยโครงสร้างปิดกั้นทางไหลของน้ำ ในฤดูที่ฝนตกชุก เขื่อนจะช่วยกักเก็บน้ำไม่ให้ไหลมาสมทบกับปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ใต้เขื่อน (แต่ในกรณีที่เขื่อนเต็มก็อาจจะต้องมีการตัดสินใจค่อยๆ ระบายออกเพื่อรักษาโครงสร้างเขื่อนไว้) เขื่อนจึงรับหน้าที่ป้องกันปัญหาน้ำท่วมไปด้วยในตัว เขื่อนกั้นแม่น้ำที่อยู่ใกล้ทะเลยังทำหน้าที่เป็นวาล์วเปิดปิดการไหลของน้ำจืดลงสู่ทะเล รวมทั้งเป็นแนวกั้นน้ำจืดและน้ำเค็ม ยามน้ำทะเลหนุน เขื่อนจะเป็นปราการที่ช่วยบรรเทาปัญหา ‘น้ำเค็มรุก’ ให้กับชาวบ้าน และช่วยบาลานซ์ระบบนิเวศตรงนั้น
และเมื่อประตูระบายน้ำเปิดออก พลังงานศักย์ที่สะสมอยู่ในมวลน้ำเหนือเขื่อนจะเปลี่ยนสภาพเป็นพลังงานจลน์ ความฉลาดของมนุษย์ก็ใช้พลังงานการไหลของน้ำตรงนี้มาปั่นเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งถือว่าเป็นพลังงานสะอาด ไม่ทิ้งของเสีย ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แถมเป็นทรัพยากรที่มีให้ใช้อย่างไม่มีวันหมด เว้นแต่แห้งแล้งสุดๆ หรือทางน้ำเปลี่ยน
อีกหนึ่งประโยชน์ที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้ คือการเป็นแลนด์มาร์กที่ชวนให้คนรักสิ่งก่อสร้างขนาดมหึมา หรือคนรักวิวแอ่งน้ำขนาดใหญ่ยอมจ่ายเงินไปสัมผัสประสบการณ์ มีเขื่อนขนาดใหญ่ที่ไหน ที่แห่งนั้นก็จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งถือว่ามันช่วยสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน เอื้อต่อระบบเศรษฐกิจ ณ ที่ตรงนั้น
คำถามที่ว่ามีเขื่อนแล้วดีหรือไม่ดี ก็เป็นปัญหาที่มนุษยชาติเถียงกันไม่จบสิ้นเหมือนกัน เพราะโครงการเขื่อนต่างๆ ถูกร่างขึ้นด้วยเหตุผลของการพัฒนา infrastucture นั่นก็ทำให้เราเถียงไม่ออกเหมือนกันแหละว่า เขื่อนเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาของเมืองระดับหนึ่ง
Dam it! แล้วทำไมเขื่อนถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายกันนะ
เรารู้จักการสร้างเขื่อนมาเป็นพันๆ ปี แต่อย่าลืมว่าเขื่อนก็เหมือนเหรียญสองด้าน ทุกๆ การสร้างสิ่งก่อสร้าง ยิ่งเบอร์ใหญ่ก็ยิ่งมีหลายสิ่งมากๆ ที่เราต้องแลก บ้างก็ว่าการที่เขื่อนถูกมองว่าเป็น ‘ผู้ร้าย’ นั้นเป็นเพียงวาทกรรมของนักอนุรักษ์หรือกลุ่มคนไม่เอาเขื่อน แต่ในฐานะมนุษย์ที่ได้ประโยชน์จากเขื่อน (ทั้งเขื่อนที่มีอยู่ตอนนี้และเขื่อนในอนาคต) ความขาวและความดำของมันควรเป็นสิ่งที่เราต้องเข้าใจ
เริ่มต้นด้วยเรื่องที่เราต่างรู้กันดีอย่าง การสร้างเขื่อนไม่ได้กินพื้นที่แค่แม่น้ำเท่านั้น แต่ที่ราบหรือผืนป่าที่อยู่ใกล้เคียงก็ต้องแปรสภาพเป็นผืนดินที่จมอยู่ใต้เขื่อนด้วย การที่นิเวศของแม่น้ำเปลี่ยนและสูญเสียพื้นที่ป่า เท่ากับว่าสัตว์ประจำถิ่นที่อยู่ตรงนั้นก็ต้องเดือดร้อนไปด้วย
อย่างเมื่อ 7 ปีก่อน WWF และนักอนุรักษ์ได้ตำหนิการสร้างเขื่อนไซยะบุรีของประเทศลาวไว้ว่า ตำแหน่งที่สร้างเขื่อนนั้นกีดขวางการอพยพไปวางไข่บริเวณต้นน้ำของปลาบึก อาจส่งผลให้ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่สายพันธุ์หายากชนิดนี้เสี่ยงสูญพันธุ์ และไม่ได้มีแค่ปลาบึกเท่านั้น อีกกว่าร้อยสายพันธุ์ปลาน้ำจืดก็เจอปัญหานี้เช่นกัน (เรื่องน่าถอนหายใจคือ ท้ายที่สุดแล้วทางการลาวก็ตัดสินใจสร้างเขื่อนนี้อยู่ดี)
ไม่ได้มีแค่สัตว์ที่ต้องยอมจำนน ชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนริมสองฝั่งแม่น้ำก็ต้องเซย์กู้ดบายบ้านตัวเองด้วย เรื่องแบบนี้จะไม่เจ็บปวดเลย ถ้าทุกคนยินดีที่จะโยกย้าย แต่ถ้าใจเขาใจเราสักหน่อย การจากลาบ้านและละทิ้งวิถีชีวิตที่ใช้มาตั้งแต่เกิด ไม่ใช่เรื่องที่จะตัดสินใจได้ง่ายๆ
การที่เขื่อนกั้นการไหลของตะกอน อาหารของสัตว์น้ำจืด ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เหมือนจะไกลตัวคนใต้เขื่อน แต่จริงๆ ก็กระทบเราในประเด็นใกล้ตัวอย่างเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ยิ่งเป็นคนชอบกินก็ต้องทำใจเลยว่าโอกาสในการลิ้มรสปลาน้ำจืดจะหดหายเพราะปลาธรรมชาติไม่มีโอกาสเติบโตเนื่องจากขาดอาหาร และเมื่อไม่มีปลา วิถีประมงน้ำจืดก็โบกมือลาเราตามไปด้วย
เขื่อน in this universe
วันนี้ทั่วโลกมีเขื่อนขนาดใหญ่ 57,985 แห่ง และยังมีอีกมากมายที่รอดำเนินการสร้าง ทว่าในหลายๆ ประเทศจากฝั่งยุโรปและหลายรัฐในอเมริกา aka ประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้เข้าสู่ยุครื้อเขื่อนที่เสื่อมสภาพทิ้ง (อย่างอเมริกาเริ่มรื้อจริงจังตั้งแต่ปี 1980)
ซึ่งเงื่อนไขหรือเหตุผลที่รื้อก็มีหลากหลาย เช่น ตัวเขื่อนมีอายุมากกว่า 60 ปี การลงทุนปรับปรุงเขื่อนคิดมาแล้วว่าไม่คุ้ม หรือเปอร์เซ็นต์การใช้ประโยชน์จากการผลิตไฟฟ้าและการกักเก็บน้ำของเขื่อนนั้นมีค่าน้อยมากๆ จนเป็นที่ประจักษ์ว่าเอางบประมาณและเวลามาทุ่มให้กับการฟื้นฟูชีวิตแม่น้ำให้กลับมาอุดมสมบูรณ์เป็นเรื่องที่คุ้มค่ามากกว่า แต่ทั้งนี้ การรื้อเขื่อนเป็นงานที่ใช้งบประมาณเยอะมากๆ ซึ่งพูดได้เต็มปากเลยว่า นี่ไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทุกประเทศ
นอกจากมูฟเมนต์ของรัฐในต่างประเทศแล้ว ในระดับนานาชาติยังมีองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับเขื่อน เช่น คณะกรรมการเขื่อนโลกที่มีแบ็คอัพเป็นธนาคารโลก ทำหน้าที่เป็นทั้งที่ปรึกษาและพัฒนาแนวทางในการประเมินความเหมาะสม ช่วยทดข้อดีและข้อเสียของการสร้างเขื่อน และมีกลุ่มก้อนของคนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อน 20 ประเทศ (หนึ่งในนั้นมีไทยด้วย) ที่รวมตัวกันมาตั้งแต่ปี 1997 จัดงานประชุมทุกปีเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการต่อสู้เรื่องเขื่อน ให้กำลังใจกันและกันว่าการต่อต้านสิ่งก่อสร้างนี้ เราไม่ได้สู้อยู่คนเดียว! (ฮื้อ อยากตบบ่าให้กำลังใจทุกคน) และพวกเขาก็ได้กำหนดให้วันที่ 14 มีนาคมของทุกปีเป็น ‘วันหยุดเขื่อนโลก’ โดยหวังว่าการมีอยู่ของวันๆ นี้จะช่วยสร้างการตระหนักรู้เรื่องหายนะจากเขื่อน
ไทยแลนด์วันนี้ หันซ้ายเจอ #โครงการผันน้ำยวม
ที่เราสนอกสนใจโครงการนี้เป็นพิเศษก็เพราะว่าแม่น้ำยวม เป็นแม่น้ำที่เรารู้จักมาตั้งแต่เกิด (ข้าเจ้าเป๋นคนเหนือ) และโครงการจัดการน้ำที่ใช้งบกว่า 7 หมื่นล้านนี้ ไม่ใช่โครงการใหม่กริบอะไรเลย แต่เป็นโครงการที่ชาวบ้าน 36 หมู่บ้านริมแม่น้ำยวมจากแม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่ คัดค้านมาตั้งแต่ พ.ศ. 2537 หรือ 27 ปีที่แล้ว
สรุปคือเคยพับไปแล้ว แต่ก็กลับมาอีกครั้งในยุครัฐบาลนี้ ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันคือ รอเข้า ครม.ปีหน้า เพราะเพิ่งผ่านการพิจารณารายงานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือ EIA มาหมาดๆ แต่ก็เป็น EIA ที่มีข้อกังขาว่า ฮัลโหล พี่คะ ฟังเสียงชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจริงๆ หรือเปล่า (ตามต่อได้ในแฮชแท็ก #EIAร้านลาบ) ไม่ต้องเป็น active citizen ก็ยังรู้สึกว่ามันแปลกอยู่นะ
โครงการผันน้ำยวมหรือชื่อเต็ม ‘โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำภูมิพล’ เป็นโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อผันน้ำจืดจากแม่น้ำยวม 1,700 ล้านลูกบาศก์เมตรที่เคยไหลลงทะเลอย่างสูญเปล่าที่เมืองเมาะตะมะ ประเทศเมียนมาร์ มาเติมน้ำให้เขื่อนภูมิพล โดยมีจุดประสงค์คือแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งในภาคการเกษตรและน้ำประปาสำหรับคนกรุงเทพฯ
การก่อสร้างเพื่อผันน้ำแม่น้ำยวม แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักคือ หนึ่ง สร้างเขื่อนน้ำยวมความสูงเท่าตึก 24 ชั้น และสอง ขุดอุโมงค์ใต้ดินความยาว 61 กิโลเมตรเพื่อผันน้ำไปส่งที่เขื่อนภูมิพล คาดกันว่าเราจะต้องสละพื้นที่ป่า 1,426 ไร่ พื้นที่เพาะปลูก 39 ไร่ และพื้นที่ที่มีปลูกสร้างอีก 4 ไร่ แน่นอนแหละว่า มีชาวบ้านริมน้ำต้องย้ายถิ่นฐาน แต่เรื่องที่สำคัญกว่านั้นคือ พื้นที่ป่าที่สูญเสียเป็นพื้นที่ลุ่นน้ำชั้น 1 A (พื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารที่ควรค่าแก่การสงวน เพราะหากความสมบูรณ์ของป่ามีการเปลี่ยนแปลงใดๆ จะสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศรุนแรง) ที่ชาวบ้านช่วยกันดูแล และไม่ใช่แค่กับคนที่เจ็บใจ เพราะสัตว์ป่าคุ้มครอง 153 ชนิดต้องพาลเดือดร้อน หาที่อยู่ใหม่ (ที่ไม่รู้ว่าอยู่ได้จริงมั้ย) ไปด้วย
ไม่จบแค่นั้น การสร้างเขื่อนคือการลงทุนก้อนใหญ่มหึมา สิ่งที่คนลุ่มน้ำและกรุงเทพฯ อาจจะต้องเจอคือการต้องจ่ายค่าน้ำประปาที่แพงขึ้น เพื่อกลบต้นทุนการสร้าง รวมทั้งการดำเนินการของเขื่อนและอุโมงค์ผันน้ำนั่นเอง แถมมีข่าวคราวว่านายกคนปัจจุบันของพวกเรานั้นเห็นดีเห็นงามที่วิสาหกิจจากจีนเสนอเป็นผู้ลงทุนค่าก่อสร้างให้ 4 หมื่นล้าน แลกกับการที่คนไทยต้องซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนสาละวิน ฝั่งประเทศเมียนมาร์ (สร้างโดยผู้ให้ทุนคนเดียวกัน) มาใช้..
ถึงวินาทีนี้เราจะยังบอกไม่ได้ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นยังไง แต่สิ่งที่เราทำได้เลยคือการตั้งข้อสงสัยว่า ใครกันแน่ที่เป็นคนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ตัวจริง ซึ่งก็แน่นอนอีกแหละว่าตัดชาวบ้านริมน้ำยวมออกไปจากสมการนี้ได้เลย
และหันขวาก็จะเจอ #โครงการผันน้ำโขงเลยชีมูล
ความคืบหน้าของ EIA โครงการผันน้ำยวม ได้ส่งต่อความกลัวมายังชาวบ้านในภาคอีสานด้วย เพราะล่าสุด ทางกรมชลประทานได้ออกแรงผลักดัน ‘โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ’ ให้เข้าสู่การพิจารณา EIA เจริญรอยตามรุ่นพี่เป็นที่เรียบร้อย
และเหมือนเดจาวู เพราะโครงการผันน้ำในพื้นที่ภาคอีสานนี้ มีจุดเริ่มต้นจากนโยบายหาเสียงของนายกสมัคร สุนทรเวช ที่อยากช่วยแก้ปัญหาน้ำแล้งและอุทกภัยในพื้นที่อีสาน ซึ่งเคยถูกผลักดันและตีตกไปด้วยเหตุผลความไม่คุ้มค่าการลงทุน เพราะถ้าหากโครงการนี้ผ่าน จำนวนเงินที่ใช้จะอยู่ในหลักล้านล้านบาท แถมระยะเวลาที่ใช้ในการก่อสร้างทั้งโครงการอาจนานถึง 20 ปี ซึ่งไม่มีใครการันตีได้อีกว่า ใน 1-2 ทศวรรษข้างหน้า น้ำโขงจะมีปริมาณพอให้กักเก็บเท่ากับวันนี้หรือเปล่า (เนื่องจากตลอดแนวน้ำโขงในลาวมีเขื่อนขนาดใหญ่หลายสิบแห่งกีดขวางทางน้ำ)
แม้จะเป็นโครงการเพื่อคนอีสาน แต่เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสานเลือกที่จะเห็นต่าง ที่เป็นแบบนี้เพราะ หนึ่ง ในขั้นตอนการจัดทำ EIA นั้นได้ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงของคนลุ่มน้ำภาคอีสาน สอง พวกเขารู้สึกว่านโยบายเพิ่มพื้นที่ชลประทานเพื่อยกระดับการสร้างรายได้ให้กับคนอีสาน เป็นวาทกรรมที่ถูกผลิตซ้ำอยู่เรื่อยๆ ตลอดเวลาที่ผ่านมา การดำเนินการโครงการก็ยังขาดการเข้าใจทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ภาคอีสานจริงๆ และในแง่ผลกระทบ ก็มีการคาดการณ์ว่าพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในภาคอีสานอาจหายไปกว่า 7 พันไร่ และสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านอีกกว่า 1 หมื่นครัวเรือนเลยทีเดียว
แต่ที่แซ่บสุดเลยคือ เดือนกันยายนที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ออกประกาศว่า การที่ชาวบ้านตาสีตาสา (ในที่นี้คือผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการโดยตรง) จะขอสำเนา EIA มาดูเพื่อตรวจสอบนั้นจะต้องจ่ายเงินมากถึง 20,000 บาท ซึ่งการกระทำนี้ส่อแววชัดเจนว่าหน่วยงานรัฐต้องการขัดขวางการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน
ในวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสานก็ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกไปยัง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อร้องขอให้มีการทบทวนกระบวนการจัดทำ EIA ฉบับที่ว่าไปแล้ว ฟีดแบ็คจะเป็นอย่างไรนั้น ขอให้ทุกคนจับตามองไปพร้อมกันนะ
เขื่อนที่ดีคือเขื่อนที่ฟังเสียงประชาชน
8 ปีก่อนหน้านี้ WWF เคยประกาศรายงาน ‘บาปเจ็ดประการของการสร้างเขื่อน’ หรือ Seven Sins of Dam Building สำหรับเราแล้วมันคือรายงานที่ว่าด้วยไกด์ไลน์แห่งการสร้างเขื่อนที่อาจนำไปสู่ความผิดพลาด ซึ่งประกอบด้วย
- สร้างเขื่อนผิดที่ผิดทางหรือบนแม่น้ำผิดสาย
- มองข้ามการไหลของกระแสน้ำใต้เขื่อน
- มองข้ามความหลากหลายทางชีวภาพ
- เทียบต้นทุนกับประโยชน์ที่ได้แล้วขาดทุน
- ดำเนินการโดยที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม
- จัดการความเสี่ยงและผลกระทบอย่างผิดพลาด
- สร้างเขื่อนด้วยการพิจารณาจากข้อมูลเพียงด้านเดียว
เมื่ออ่านและทดในใจแบบเร็วๆ ก็เริ่มไม่ค่อยแน่ใจแล้วว่าเบื้องหลังของการผลักดันโครงการจัดการน้ำทั้ง 2 โครงการที่อยู่ในความสนใจเราตอนนี้ ถูกทำขึ้นโดยคำนึงถึงบทเรียนเก่าๆ ที่มนุษย์เรียนรู้จากการสร้างเขื่อนมาหลายพันปีบ้างหรือเปล่า
แต่ถ้าให้พูดจากก้นบึ้งหัวใจ สำหรับเราแล้วการสร้างเขื่อนไม่ผิด แต่ที่ผิดคือคนสร้างเขื่อนที่ไม่เข้าใจธรรมชาติและไม่เห็นหัวใจคนอื่นเสียมากกว่า และอย่างน้อยๆ ถ้ามีการฟังเสียงประชาชนบ้าง (ไม่ใช่แค่กับเรื่องนี้อย่างเดียวด้วยจ้ะ) เราก็เชื่อว่าความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นจากการก่อสร้างเขื่อนอาจเบาลง และเผลอๆ เราอาจจะได้มีวิธีการแก้ปัญหาที่ตรงจุดมากกว่านี้ด้วย
ความหวังหรือความเป็นไปได้ในการจัดการน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำแล้งหรืออุทกภัยมันควรจะมีความเป็นไปได้มากกว่า 1 หรือเปล่านะ นี่คือคำถามที่ติดค้างอยู่ในหัวเราตลอดเดือนที่ผ่านมา
และก็หวังว่าคำถามนี้จะวนเวียนอยู่ในหัวใครหลายคนเช่นกัน
Read More:
ไหว้เจ้า 9 ศาล กับ 9 คำอธิษฐานเพื่อเมืองที่ดีกว่านี้
รวมคำอธิษฐานจากเมือง ที่อยากให้เมืองนี้ดีและน่าอยู่มากขึ้น
แด่ผู้สูญหายที่ไม่อาจกลับมา
อะไรบ้างที่หายไป พร้อมการถูกบังคับสูญหาย
ครอบครัวที่รัก และ___________
ครอบครัวที่ต้องเติมคำในช่องว่าง และความรักที่มีแต่…เสมอ