2020 เริ่มด้วยไฟป่าที่ออสเตรเลีย / น้ำท่วมที่อินโดฯ / พายุไซโคลนลูกใหญ่ถล่มชายฝั่งอินเดีย / น้ำท่วมเคนย่า / ไฟป่าใหญ่ที่ป่าแอมะซอนในบราซิล / เฮอริเคนครั้งประวัติศาสตร์ในมหาสมุทรแอตแลนติก / กระโดดมากลางปี 2021 เกิดโดมความร้อนแถวๆ อเมริกาและแคนาดาจนพืชไหม้+ถนนแตกร้าว+สายเคเบิลรถรางละลาย / น้ำท่วมรุนแรงระดับที่มีผู้เสียชีวิตในยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือ / และเกิดสิ่งเดียวกันนี้อีกทีที่จีน
ยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันเลวร้าย และการนั่งอ่านข่าวร้ายอยู่เฉยๆ บางทีก็ทำให้เรารู้สึกไร้อำนาจจังเลย แต่ไม่ใช่แค่เราคนเดียวที่รู้สึกสิ้นหวังหรอกนะ เพราะ
จากการสำรวจในเดือนธันวาคม 2020 ยังพบว่าชาวอเมริกัน 40% รู้สึกหมดหนทางกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 29% รู้สึกสิ้นหวังกับเรื่องนี้
จนเกิดคำนิยามของสภาวะอารมณ์ที่ไร้หนทางต่อสู้กับสภาพอากาศนี้ว่า ‘Climate Despair’ ขึ้นมา ซี่งอารมณ์ไร้หวังนี้มักเกิดเมื่อเราได้ตระหนักรู้ว่า ไอ้การต่อสู้ระดับปัจเจกด้วยการรียูส รีดิวซ์ รีไซเคิล มันโคตรจะเป็นอิมแพ็กที่เล็กจิ๋วมากๆ เมื่อเทียบกับความรับผิดชอบที่รัฐ บริษัท และองค์กรใหญ่ควรลงมือทำ
ตบบ่ากันอีกครั้ง เราคือเพื่อนกัน แต่ยังไม่อยากให้สิ้นหวังกันไปดื้อๆ ชาวโลกบอกว่ายังพอมีวิธีหนีจาก Climate Despair ได้อยู่ ลองเอาความรู้และ mindset ที่เรารวบรวมมาให้ ไปเปลี่ยนเป็นพลังสู้โลกรวนกันดูอีกสักตั้ง
1
อย่านอยด์เกินไปกับคำเตือน Code Red for Humanity
ยอมรับว่าความนอยด์ของเราชาวมนุษย์โลก มักมาจากการอ่านคำเตือนและข้อมูลแบบไม่แตกฉาน พอเจอประกาศของ IPCC (คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ UN ซึ่งก็คือเหล่านักวิทยาศาสตร์นานาชาติหลายร้อยคนที่ตรวจสอบรายงานที่ตีพิมพ์หลายหมื่นฉบับ) ที่ออกมาเปิดเผยบทวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสภาพอากาศเป็นครั้งแรกในรอบเกือบทศวรรษว่า
ทศวรรษที่ผ่านมานี้เป็นช่วงที่ร้อนที่สุดในรอบ 125,000 ปี ธารน้ำแข็งละลายเร็วกว่าเวลาใดๆ ในช่วง 2,000 ปีที่ผ่านมา ระดับคาร์บอนในชั้นบรรยากาศสูงที่สุดในรอบอย่างน้อย 2 ล้านปี และอัตราการเพิ่มของระดับมหาสมุทรเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าตั้งแต่ปี 2006 – แถมยังบอกด้วยว่า ‘นี่คือรหัสเตือนสีแดงสำหรับมนุษยชาติแล้วนะพวก!’
เอาจริงๆ ถ้าอ่านสรุปเท่านี้แล้วนอยด์ก็ไม่แปลก แต่มันไม่ได้แปลว่ามวลมนุษยชาติจะถึงวาระสุดท้ายแล้วในตอนนี้
ถ้าหาข้อมูลอ่านต่ออีกหน่อย จะพบว่าเป้าหมายนอกเหนือจากการสรุปข้อมูลเพื่อให้ผู้คนตื่นตัวจนยอมลุกจากโซฟานุ่มนิ่มของตัวเอง รายงานของ IPCC กำลังบอกเราว่าให้โฟกัสที่การลงมือทำและการแก้ปัญหา เพราะข้อมูลทั้งหมดที่ยกมาตอกย้ำและยืนยันเราว่า
- โลกร้อนเร็วขึ้นกว่าเดิม เพราะฝีมือมนุษย์เป็นคนทำ เพราะฉะนั้นมนุษย์จงยอมรับเสียทีว่าการที่โลกร้อนขึ้นไม่ใช่ทฤษฎีสมคบคิด แต่เป็นสิ่งที่พวกเราต้องรับผิดชอบแล้วนะ
- พอโลกร้อน (Global Warming) ก็ส่งผลให้โลกรวน (Climate Change) ซึ่งผลกระทบไม่ใช่แค่อากาศร้อนขึ้นนิดเดียวหรือน้ำแข็งขั้วโลกละลาย แต่มันคือภัยธรรมชาติ คลื่นความร้อน สภาพอากาศร้อนสุดขั้ว ระดับน้ำทะเลสุดขั้ว ไฟป่า พายุลูกใหญ่ ความแห้งแล้ง ฯลฯ และมนุษย์ในทุกภูมิภาคของโลกกำลังรับผลจากการกระทำนี้ไปด้วยกัน
- เราต้องลงมือทันที เพื่อไม่ให้โลกร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามข้อตกลงปารีสที่แต่ละประเทศเคยให้สัญญาไว้ ซึ่งถ้าเรายังโนสนแล้วปล่อยมลพิษเท่าเดิม โลกอาจร้อนขึ้นถึง 4 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแบบกู่ไม่กลับเลย แปลว่ายังทันนะ
แต่ประเด็นก็คือ แค่ลดใช้ถุงพลาสติก งดกินเนื้อสัตว์ หรือลุกขึ้นไปปิดแอร์ตอนนี้มันไม่พอแล้วล่ะ วินาทีนี้ทุกการตัดสินใจของรัฐและหน่วยงานที่กำกับดูแลสำคัญมาก ฉะนั้นแทนที่จะแบกทุกข์และความรับผิดชอบเรื่องโลกรวนเอาไว้บนบ่าเราคนเดียว ทางออกคือการลุกมาช่วยกันขับเคลื่อนเชิงนโยบายแทนแล้วล่ะ
2
เปลี่ยน Climate Despair ให้เป็น Climate Justice Movement
ความสิ้นหวังมันทำประโยชน์ได้นะ
ความรับผิดชอบต่อเรื่องโลกรวน บางครั้งก็ถูกโยนมาที่ผู้บริโภคแบบไม่แฟร์เหมือนกัน จนกลายเป็นว่าบางทีเราก็เผลอซื้อสินค้าที่แปะป้ายว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากเกินไป (ทั้งที่จริงๆ ควรลดซื้อต่างหาก) ขอตั้งคำถามย้อนกลับไปว่าการโบ้ยมาที่ผู้บริโภค คือการบดบังคนทำผิดที่แท้จริงรึเปล่า ไม่ว่าจะเหล่าบริษัทที่ยังคงใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจำนวนมาก (ซึ่งสร้างก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับต้นๆ ให้โลก) และรัฐบาลที่แสนจะเชื่องช้าในการออกนโยบายเพื่อปัญหาโลกร้อนนี้ (หรือบางทีก็ไม่แยแสเลยด้วยซ้ำ)
นี่คือทัศนคติของผู้คนในประเทศที่เจริญแล้ว ซึ่งส่งผลให้เกิดมูฟเมนต์เพื่อ Climate Justice หรือการที่ผู้คนออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ พูดง่ายๆ ก็คือในฐานะพลเมือง เรามีสิทธิ์จะร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะผ่านกระบวนการทางรัฐสภานะ และถ้ายุทธศาสตร์ชาติหรือโร้ดแมปของประเทศล้มเหลวเพราะถูกรัฐละเลย พลเมืองเองก็มีสิทธิ์ที่จะแสดงออกว่าไม่พอใจผู้นำทางการเมืองได้เช่นกัน
แล้วความสิ้นหวังมีประโยชน์ยังไงกับเรื่องนี้ ถ้าจะให้ยกตัวอย่าง มันกลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีให้กับคนรุ่นใหม่อย่าง เกรียตา ทุนแบร์ย (Greta Thunburg) เธอเองก็เริ่มต้นจากความสิ้นหวังกับปัญหาสิ่งแวดล้อม หลังจากซึมเศร้าและเก็บตัวไม่พูดกับใคร สุดท้ายเธอก็ตัดสินใจเปลี่ยนมันเป็นการกระทำ เกรียตาหยุดเรียนประท้วงเพื่อสภาพภูมิอากาศทุกวันศุกร์ และจากที่เคยทำคนเดียว วันนี้มันกลายเป็นคอมมูนิตี้ที่มีชื่อว่า Friday For Future และความเป็นธรรมที่เธอเรียกร้องมันก็ส่งเสียงไปไกลจนผู้นำโลกได้ยิน ทุกคำที่เธอพูดกลายเป็นพาดหัวข่าวที่โลกต้องฟังเสมอ
ไม่ใช่แค่เกรียตา แต่ยังมีมูฟเมนต์ของคนรุ่นใหม่ทั่วโลกที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ เพราะสุดทนแล้วที่จะต้องนั่งรอผู้ใหญ่ลงมือทำ ไม่ว่าจะเป็น อิสรา เฮอร์ซี่ นักเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศตัวน้อยผู้ร่วมก่อตั้ง US Youth Climate Strike กลุ่ม Sunrise Movement วัยรุ่นนักเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนพรรคการเมืองที่ดำเนินการเรื่องสภาพภูมิอากาศในอเมริกา ส่วนในไทยเองเราก็มีนักเคลื่อนไหวอย่าง หลิง-นันทิชา โอเจริญชัย ผู้ก่อตั้ง Climate Strike Thailand และ ลิลลี่-ระริน สถิตธนาสาร Yunus & Youth Ambassador 2019 ด้านสิ่งแวดล้อม ที่แม้จะวัย 12 ก็ขับเคลื่อนโปรเจกต์ Green Brand และเคยเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เรียกร้องให้เพิ่มวิชาว่าด้วยสิ่งแวดล้อมหรือ Eco Education มาแล้ว!
3
ข่าวร้ายคือวิทยาศาสตร์ ที่ทำให้เรามีข่าวดีในการเมืองระดับโลก
ข่าวร้ายทำให้เรามีความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้น และแม้ว่า Climate Despair จะเป็นเรื่องที่ดูไม่เป็นประโยชน์ในมุมของวิทยาศาสตร์ แต่ต้องยอมรับว่าวาทกรรมที่เกิดขึ้นนี้ มันกลายเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับพวกเรา โดยเฉพาะกับเรื่องการเมือง แม้ว่าผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศจะเลวร้ายมาตั้งแต่ปี 2020 แต่ก็ไม่เคยมีโมเมนตัมของการเมืองเกี่ยวกับ Climate Change ที่คึกคักเท่ากับช่วงเวลานี้มาก่อนเหมือนกัน
ว่าแต่ข่าวดีมีอะไรบ้าง:
– กลุ่มทุนใหญ่เริ่มหนีการลงทุนในเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไม่ยั่งยืน เพราะมันมีแนวโน้มว่าจะสูญเสีย value และผลประโยชน์เชิงการเมืองไปอย่างรวดเร็วในสองปีที่ผ่านมานี้
– หลังจากมีทีท่าจะถอนตัว ในที่สุดมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาก็เข้าร่วม Paris Agreement (ข้อตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ปี 2020) สักที ในยุคของประธานาธิบดีโจ ไบเดน และส่งผลให้อีกขั้วมหาอำนาจอย่างประเทศจีนต้องมาจับมือด้วย ในวงเล็บที่สำคัญว่า จีนเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนรายใหญ่ที่สุดในโลก
– และเมื่อมหาอำนาจสองขั้วจับมือกันในเรื่องนี้ ทำให้จำนวนประเทศที่เข้าร่วม net-zero commitments มีเยอะขึ้นมาก และผลกระทบสะสมของคำมั่นสัญญาล่าสุดของประเทศต่างๆ (หากทุกประเทศช่วยกันทำอย่างเต็มที่) อาจทำให้ภาวะที่โลกร้อนขึ้น 2.1 องศาเซลเซียสขยายเวลาออกไปเป็นภายในปี 2100 ซึ่งบรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีส
อีกหนึ่งความหวังเชิงการเมืองที่อาจจะไม่ใช่ลมๆ แล้งๆ คือการระบาดของโควิดทำให้เห็นว่าสังคมและเศรษฐกิจของแต่ละประเทศบนโลก ตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นการฟื้นตัวหลังโควิดก็น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่พวกเราจะ ‘กลับมาทำให้ดีกว่าเดิม’
4
อย่าโบยตีตัวเอง เลือกทำสิ่งที่อิมแพ็กต่อโลกที่สุดบนเงื่อนไขชีวิตเรา, พอ
นิยามที่สมบูรณ์แบบของ ‘พฤติกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ หลายครั้งมันก็ไม่ได้เป็นมิตรกับเราเท่าไหร่ เผลอๆ อาจทำให้บางคนสิ้นหวังกว่าเดิม
พูดให้ตรงขึ้นอีกก็คือ การกระทำของเราคนเดียวมันไม่หยุดโลกร้อนได้หรอก และก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะลดการสร้างคาร์บอนได้เท่าเทียมกันด้วย เพราะต้นทุนและเงื่อนไขชีวิตของเราต่างกัน (คงไม่ใช่ทุกคนที่จะมีแผงโซล่าร์เซลล์บนหลังคาบ้านได้) แถมการลดบริโภคหรือลดการสร้างของเสียมันต้องใช้พลัง เวลา และแรงกายพอตัว ทำให้ภาระนี้ไปตกอยู่ที่ผู้หญิงหรือเหล่าแม่บ้านแบบไม่ค่อยแฟร์สักเท่าไหร่
ทางออกของเราไม่ได้บอกให้คุณเลิกทำเพื่อโลกหรอกนะ แต่การทำเพื่อโลก ไม่ได้แปลว่าต้องทำทุกอย่าง (รวมทั้งไม่ไปตำหนิคนที่เขาไม่ทำด้วยล่ะ)
– เราสามารถเลือกทำเฉพาะ ‘สิ่งที่อิมแพ็กที่สุด เท่าที่จะทำได้’ ได้เช่นกัน –
โดยหลักคิดง่ายๆ คือทำให้มันเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์และรายได้ของเรา เช่น ถ้าคุณมองว่า การเดินทางด้วยเครื่องบินให้น้อยลง ขับรถให้น้อยลง หรือการลดการกินเนื้อสัตว์ มันเวิร์กและส่งผลกระทบในการลดคาร์บอนส่วนบุคคลของคุณมากที่สุดแล้ว คุณจะเลือกทำแค่ที่คุณไหวและกระทบชีวิตก็ย่อมได้ ไม่ผิดเลย
ถ้าถามว่าเพราะอะไร คำตอบคือเราไม่ได้มีอำนาจของตนแค่ในฐานะผู้บริโภคอย่างเดียวนะ การลงมือทำในระดับบุคคลเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่อยากให้เซฟพลังไปทำในแง่มุมอื่นๆ ด้วย อย่าลืมว่าเรามีอำนาจในฐานะพลเมืองและสมาชิกในชุมชนด้วยเช่นกัน
5
คิดในระดับส่วนตัวให้น้อยลง คิดแบบส่วนรวมให้มากขึ้น (และคิดให้ไกลกว่าเดิมอีกหน่อย)
รวมตัวกันลดความสิ้นหวังได้ และอิมแพ็กมากกว่า แทนที่จะรู้สึกไร้อำนาจที่ลงมือเปลี่ยนแปลงอยู่คนเดียว ลองคิดว่าเราจะขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบส่วนรวมได้ยังไง
ยกตัวอย่างวิธีการของกลุ่ม Sunrise Movement ที่รวมตัวกันขับเคลื่อนด้านการเมืองที่อเมริกา กลยุทธ์สุดฉลาดของพวกเขาก็คือ ฉวยจังหวะที่โลกกำลังมีการเปลี่ยนแปลง จัดเดินขบวนทั่วประเทศเพื่อดึงความสนใจของฝ่ายบริหารมาที่ปัญหาเรื่อง Climate Change ขณะเดียวกันก็พยายามสื่อสารสิ่งนี้ให้ไปถึงพลเมืองสหรัฐฯ ที่กำลังจะเลือกตั้งด้วย
แต่ถ้าคุณเป็นอินโทรเวิร์ตที่ไม่ถนัดการออกไปรวมกลุ่มเดินขบวน เริ่มต้นจากสิ่งที่คุณถนัดก็ได้ โดยเริ่มจากคอมมูนิตี้ที่ใกล้ตัวก่อน เช่น องค์กรหรือบริษัทที่ทำงานอยู่ หรือในชุมชน คอนโด ท้องถิ่นของคุณ เพราะที่จริงแล้วผู้คนก็มักจะพยายามหาวิธีแก้ไขความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตัวเองมาตลอดอยู่แล้ว แถวบ้านของคุณอาจจะมีคนรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือ หรือแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมกันอยู่ ลองมองหาพวกเขาดูแล้วเอาความถนัดของคุณไปใช้ประโยชน์ตรงนั้น
และสุดท้ายง่ายที่สุด คือถอยกลับมาที่เบสิกของพลเมือง เราทำได้ตั้งแต่เลือกผู้นำที่ใส่ใจนโยบายเรื่อง Climate Change กดดันและเรียกร้องให้ผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งสนับสนุนการลงทุนเพื่อสภาพอากาศ การขนส่งสาธารณะ และมาตรฐานพลังงานสะอาด เป็นต้น
อย่าลืมว่าการต่อสู้กับโลกรวนเป็นกระบวนการที่กินเวลาระยะยาว และการเคลื่อนไหวเพื่ออะไรก็ตามจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว
6
อย่าลืมมีความสุขบ้างนะ
It’s also okay to feel the awfulness of the world. แต่การคิดแง่บวกก็จำเป็นต่อจิตใจเหมือนกัน ซึ่งมันไม่ใช่คำว่าโลกสวยนะ แต่อาจจะเป็นแค่การอ่านข่าวความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมง่ายๆ แล้วแฮปปี้กับมันบ้าง
ความน่ารัก คือบรรดาคนเครียดเรื่องโลกรวนในหลายๆ ประเทศ เขาใช้ความสิ้นหวังนี่แหละ เป็นจุดนัดพบกันของคนในชุมชน จนเกิดเป็นคาเฟ่ปรับทุกข์ที่เรียกกันว่า Climate Cafe แม้ว่าที่มาของคาเฟ่นี้จะไม่แน่ชัดว่ามีจุดเริ่มต้นจากอะไร แต่ Climate Cafe ที่คาดว่าจะเป็นแห่งแรกของโลกเกิดขึ้นที่สก็อตแลนด์ เมื่อปี 2015 จนปัจจุบัน กระแสของคาเฟ่ประเภทนี้ก็ได้กระจายตัวไปยังหลายเมืองในอังกฤษ แคนาดา อเมริกา และฝรั่งเศสอีกด้วย เป้าหมายหลักๆ คือการพูดคุยเรื่องผลกระทบทางจิตใจในการทำงานของกลุ่มคนที่กำลังเคลื่อนไหว
งานวิจัยที่ศึกษาเรื่อง Climate Despair บอกว่าการทำให้คนรู้สึกปัจเจกน้อยลงเป็นทางออกในการต่อสู้กับความสิ้นหวังจากวิกฤตสภาพอากาศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว พวกเขารับรู้เรื่องนี้มานาน แต่ปัญหาก็ยังถูกละเลยซ้ำแล้วซ้ำเล่า
“ลองหาคนอื่นๆ ที่รู้สึกแบบเดียวกัน แล้วออกไปจิบกาแฟปรับทุกข์บ้าง”
อ้างอิง
Read More:
แด่ผู้สูญหายที่ไม่อาจกลับมา
อะไรบ้างที่หายไป พร้อมการถูกบังคับสูญหาย
เข้าใจ ‘เฟม’ มากขึ้น ผ่าน 4 หนังสือเฟมินิสต์น่าอ่าน
ทำความเข้าใจว่าเฟมินิสต์คืออะไร จำเป็นต่อสังคมแค่ไหน ผ่านหนังสือน่าสนใจที่เราแนะนำ
ที่พูดไป ใช่ freedom of speech ไหมนะ?
ทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่าง freedom of speech และ hate speech เพื่อให้ใช้สิทธิบนโลกออนไลน์ได้อย่างเหมาะสม