Eat —— สาระสำคัญ

อย่าหลอ(ด)กฉันเลย!

“แล้วเต่าทะเลล่ะ” คือวลีเด็ดของคุณฟาโรส ยูทูเบอร์รายการไกลบ้าน ที่คนรอบตัวเราใช้หยอกกันขำขันเมื่อมีใครสักคนรับหลอดมาใช้ แม้จะพูดกันเล่นๆ แต่บางทีวลีนี้ก็เหมือนคาถาวิเศษ ทำให้เรายอมคืนหลอดกับพนักงานเสิร์ฟ เพราะเกิดนึกถึงเต่าทะเลขึ้นมาจริงๆ

เราเริ่มมาจริงจังกับการไม่ใช้หลอดอย่างไม่ค่อยมีทางเลือกนัก ในตอนที่โรงอาหารในมหาวิทยาลัยเริ่มโครงการไม่แจกหลอด แจกพลาสติก แล้วให้ร้านน้ำส่วนใหญ่แจกหลอดผักบุ้งให้ใช้แทน ด้วยความที่ไม่อยากดื่มน้ำรสหลอดผักบุ้งรสชาติประหลาด สุดท้ายเราก็พยายามละๆ การใช้หลอดไปเพื่ออรรถรสในการกิน

พักหลัง การไม่มีหลอดเลยแทบไม่ใช่อุปสรรคของเราแล้ว จนอาจเรียกว่าติดเป็นนิสัย ไปร้านอาหารที่แจกหลอดแยกมาเราก็จะปฏิเสธหลอดทันที เหลือแค่วาระใหญ่ๆ เช่น เวลาซื้อน้ำที่ปักหลอดมาเลย หรือชานมไข่มุกที่เลี่ยงหลอดใหญ่ไม่ได้เท่านั้น

กระทั่งการมาถึงของโควิด-19 ที่ทำให้อัตราการใช้หลอดของเรากลับมาพุ่งกระฉูดอีกครั้ง จากความไม่ไว้ใจเรื่องสุขอนามัยด้วย จากการที่ร้านหลายแห่งเลิกรับแก้วส่วนตัวด้วย และด้วยความที่ยุคหลังมีตัวเลือกหลอดสุดแฟนซีให้ลองใช้มากขึ้น พอเห็นเขียนเข้าหน่อยว่ามาจากธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เราก็คิดว่า อืมๆ ใช้สักหน่อยคงไม่เป็นไรหรอกมั้ง จนได้มารู้ความจริงทีหลังว่า หลายหลอดที่บอกว่าย่อยได้สบาย อาจจะกำลังหลอกให้เราเข้าใจผิดอยู่ก็ได้นะ!! 

ภารกิจในธีม No ___ November ในเดือนนี้ เราเลยตั้งเป้าว่าจะต้องลดการใช้หลอดอย่างจริงจังให้ได้ พร้อมกับอยากชวนทุกคนมาทำความเข้าใจเรื่องหลอดที่ว่าย่อยได้กันใหม่ด้วย

หลอดพลาสติกชีวภาพ ที่ (ควรจะ) ย่อยสลายได้จริง แต่…

หากสังเกตดูให้ดีก่อนแกะหลอดใช้ เราจะพบว่าร้านกาแฟชื่อดังส่วนใหญ่ หันมาใช้หลอดที่ระบุว่าเป็นพลาสติกชีวภาพ หรือ PLA หรือ Biodegradable หรือ Compostable กันหมดแล้ว

เอาเป็นว่าจะเรียกด้วยชื่อไหน หลอดเหล่านี้ก็คือหลอดที่มีหน้าตาเหมือนพลาสติกเป๊ะ แค่บางชนิดอาจไม่ถูกกับของร้อนเท่าไหร่ มีความบอบบางกว่าพลาสติกปกตินิดๆ แต่โดยรวมหลอดพวกนี้ก็แทบไม่ต่างอะไรกับหลอดพลาสติกเลย

พลาสติกชีวภาพเหล่านี้ ส่วนใหญ่ผลิตด้วยกรรมวิธีคล้ายคลึงกัน คือการนำกากทางการเกษตร เช่น มันสำปะปังหลัง ข้าวโพด อ้อย หรือโปรตีนจากถั่วมาหมัก แล้วนำไปผ่านกระบวนการทางเคมีจนมีหน้าตาและเนื้อสัมผัสเหมือนพลาสติก

พอบอกว่าเป็นพลาสติกจากพืชก็ต้องดีไม่ใช่เหรอ? จริงๆ จะบอกว่าดีก็ได้ เพราะหากมีการจัดการระบบย่อยสลายให้ดีจริงได้ พวกมันก็จะย่อยสลายหายวับไปตามธรรมชาติ แต่ในความเป็นจริง กระบวนการเหล่านั้นไม่ได้ง่ายแบบที่จะโยนลงดิน ลงสวนแล้วหายไปเฉยๆ หรือทิ้งลงถังขยะทั่วไปแล้วจะย่อยตัวเองได้ เพราะมันยังมีปัจจัยยิบย่อยอีกมากที่เป็นหัวใจในการย่อยสลายเจ้าหลอดพลาสติกชีวภาพพวกนี้

การย่อยสลายหลอดพลาสติกชีวภาพต้องอาศัยอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสม หลักๆ คือควรมีถังหมักปุ๋ยชีวภาพแบบอุตสาหกรรมที่มีอุณหภูมิพร้อมช่วยในการย่อยสลาย (ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ราว 50-60 องศาเซลเซียส) แม้พลาสติกประเภทนี้มักจะเคลมว่าสามารถย่อยสลายได้เมื่อฝังกลบหรือในถังปุ๋ยหมักทั่วไป แต่เราก็ต้องสังเกตต้นทางของมันให้ดีอีกว่าผลิตมาด้วยกรรมวิธีแบบไหน เนื่องจากหลอดพลาสติกชีวภาพคนละแบบ คนละชื่อ คนละชนิดกันก็มีวิธีการกำจัดที่แตกต่างกันไป บางชนิดสลายตัวได้ด้วยแสงแดด บางชนิดสลายตัวได้ด้วยความชื้น บางชนิดสลายตัวเมื่อฝังกลบอย่างถูกต้อง แต่เมื่อสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม การย่อยสลายนั้นอาจกลายเป็นก๊าซมีเทนทำลายโลกอีก หรือบางทีทิ้งไม่ดีหลอดก็ไม่ย่อยสลาย กลายเป็นวังวนเล็ดลอดลงทะเลไปจิ้มจมูกเต่าอีกอยู่ดี

ปัญหาคือหลอดพลาสติกชีวภาพส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยมีข้อมูลระบุละเอียดบนหีบห่อว่ามันย่อยสลายด้วยวิธีไหน หรือมีมาตรฐานรับรองไหม (พลาสติกประเภทนี้จะเชื่อว่าย่อยได้แน่ก็ต่อเมื่อเมื่อมีตราสัญลักษณ์ มอก. หรือ ISO เท่านั้น) ซึ่งต่อให้มีสัญลักษณ์รับรองแล้ว เราก็ไม่มีทางรู้เลยว่าเมื่อทิ้งไป พวกมันจะไปเข้ากระบวนการย่อยสลายที่ถูกต้องตามที่โชคชะตาของมันกำหนดไว้หรือเปล่า หรือจะวนกลับไปรวมกับพลาสติกปกติไหม เพราะอย่างที่รู้อีกว่าไทยเรายังไม่มีมาตรการกำจัดพลาสติกชีวภาพอย่างจริงจัง เหมือนต่างประเทศที่ออกกฎชัดเจนว่าขอความร่วมมือให้ใช้พลาสติกชีวภาพที่ทำแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะ ควรทิ้งและย่อยสลายอย่างไร เพื่อให้การกำจัดขยะเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบที่สุด 

และอีกหนึ่งปัญหาที่ตามมาติดๆ คือพลาสติกชีวภาพมีกระบวนการรีไซเคิลที่ต่างจากพลาสติกทั่วไป จึงเป็นเรื่องยากที่จะนำหลอดเหล่านี้ไปทิ้งรวมกับพลาสติกปกติ (เอ้อ ก็มันไม่ใช่พลาสติกนะ) หนำซ้ำการส่งไปรีไซเคิลรวมกันยังกลายเป็นการทำลายระบบรีไซเคิลของพลาสติกปกติด้วย 

เพื่อความชัวร์ เราว่าการหลีกเลี่ยงหลอดพลาสติกและหลอดที่มีหน้าตาเหมือนพลาสติกไปเลยจึงเป็นทางเลือกเดียวที่เรามี เพราะสุดท้ายเมื่อเราทิ้งหลอดพวกนี้ไป เราเองก็ตอบไม่ได้เลยว่าพวกมันจะมีจุดจบอยู่ที่ไหน จะย่อยสลายหายไปตามคำที่ระบุบนซองหรือเปล่า

หลอดฟางข้าว ชื่อนี้มีหลายแบบ! (และมีหลอกด้วย)

แม้จะเรียกว่า ‘หลอดฟางข้าว’ เหมือนกัน แต่จริงๆ เจ้าหลอดที่ทำมาจากฟางข้าวนี้มี 2 แบบ ซึ่งมีรูปร่างหน้าตา ประสิทธิภาพ และดีกรีความหลอกต่างกันโดยสิ้นเชิง

  • หลอดฟางข้าวแบบแข็ง 

หลอดแบบนี้จะมีหน้าตาเหมือนหลอดใช้ซ้ำได้ส่วนใหญ่ที่เป็นพลาสติก คือแข็งหน่อย และถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่ามีเศษเล็กๆ ของฟางผสมอยู่ด้วย เพราะมันคือการนำผลผลิตทางการเกษตรที่หลงเหลือจากการเก็บเกี่ยวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ที่สุด

ฟังดูดี แต่พลาสติกประเภทนี้มีกระบวนการผลิตที่หลากหลาย และส่วนใหญ่การผลิตพลาสติกจากฟางข้าวแบบแข็งมักมาจากการผสมฟางข้าวกับพลาสติกเพื่อขึ้นรูป ในเปอร์เซ็นต์มากน้อยแตกต่างกันไป จะเรียกว่าเป็นพลาสติกปกติก็เรียกได้ไม่เต็มปาก หรือจะบอกว่าเป็นพลาสติกชีวภาพธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ไม่ได้อีก 

ปัญหาที่ตามมาก็คือหลอดฟางข้าวแบบแข็งพวกนี้ แม้จะใช้ซ้ำได้ก็ไม่ค่อยเหมาะนัก (ถ้าอยากใช้ซ้ำก็ควรเช็กมาตรฐานการผลิตดีๆ ว่าทนร้อนได้ ไม่มีสารเคมีปนเปื้อน) แถมการนำพลาสติกมาผสมกับกากทางการเกษตรส่วนใหญ่ยังทำให้หลอดมีอายุสั้น ไม่แข็งแรงเหมือนพลาสติกทั่วไป นำไปรีไซเคิลไม่ได้เพราะไม่ใช่พลาสติกล้วน จะนำไปเข้ากระบวนการย่อยสลายก็ไม่ได้ เพราะหากย่อยไปก็อาจทำให้เกิดไมโครพลาสติกจากส่วนผสมอื่นๆ ที่ปนอยู่ หลอดฟางข้าวแบบแข็ง จึงเป็นหลอดอีกหนึ่งชนิดที่เราว่าเลี่ยงได้ก็เลี่ยงเถอะนะ

  • หลอดฟางข้าวแบบอ่อน

ถ้าอยากเลือกใช้หลอดจากฟางข้าว เราก็ขอแนะนำหลอดจากฟางข้าวแบบอ่อนแทนดีกว่า หลอดแบบนี้ทำจากฟางข้าวที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวล้วนๆ ไม่มีอะไรผสม กรรมวิธีการผลิตก็แสนธรรมชาติ แค่เอาลำต้นของข้าวที่มีรูตรงกลางอยู่แล้วมาตากแห้ง แค่นี้ก็ได้เป็นหลอดแล้ว

หลอดฟางข้าวแบบอ่อนส่วนใหญ่จึงมีขนาดเล็ก ทำให้ดูดน้ำไม่สนุกเท่าไหร่ และบอบบางนิดๆ อาจแตกและรั่วง่ายเมื่อจับแรงๆ แต่ข้อดีก็คือ มันย่อยสลายได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เมื่อเราทิ้งรวมกับเศษอาหารหรือในถังหมักปุ๋ย และเราว่าจริงๆ เมื่อเทียบกับหลอดที่ย่อยสลายได้ร้อยเปอร์เซ็นต์อื่นๆ หลอดจากฟางข้าวก็ใช้งานได้สะดวกและราบรื่นที่สุดแล้วล่ะ

แล้วหลอดจากธรรมชาติแบบไหนที่ไม่มีหลอก

พูดถึงหลอดที่ดูเหมือนจะเป็นมิตร แต่แท้จริงแล้วเป็นศัตรูกับสิ่งแวดล้อมมาเยอะแล้ว มาลองดูตัวเลือกที่ใช้ได้ และพอจะโอเคอื่นๆ กันดีกว่า เดี๋ยวนี้เราเริ่มเห็นหลอดทางเลือกจากวัตถุดิบแปลกๆ มาให้ตื่นตาตื่นใจเวลาสั่งน้ำมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นหลอดจากข้าว ที่ทำมาจากข้าวจริงๆ เคี้ยวหนึบๆ ได้เลยเวลามันเริ่มละลาย หลอดจากแป้ง ที่บางทีเป็นแป้งขึ้นรูป หรือบางครั้งก็คือเส้นพาสต้าแข็งๆ ที่กินได้เช่นกัน (แต่อย่าเลยเดี๋ยวท้องอืด) หรือหลอดจากกระดาษม้วน (คู่ปรับตัวร้ายของลูกค้าสตาร์บักส์เมื่อหลายปีก่อน)

หลอดพวกนี้แน่นอนว่าย่อยสลายได้และหายวับในเวลาไม่กี่เดือนหากทิ้งลงถังย่อยสลายหรือถังหมักปุ๋ยอย่างถูกต้อง หรือจะกินให้หมดก็ได้สำหรับใครที่ชอบแทะหลอดข้าวกับหลอดแป้ง แต่ปัญหาใหญ่ที่สุดของหลอดเหล่านี้คือบางทีพวกมันก็แทบจะสลายหายไปต่อหน้าต่อตาระหว่างที่เรากินอยู่แล้ว โดนน้ำนิดๆ ก็เปื่อย ยุ่ย งอ แทนที่จะได้ดื่มน้ำอย่างราบรื่น เลยเหมือนมาแข่งกินวิบากแทนซะงั้น 

ถึงอย่างนั้นเราก็เริ่มเห็นการพัฒนาของหลอดแก๊งนี้อยู่บ้าง คือเริ่มมีการออกแบบให้แข็งแรงทนทานขึ้น ใช้วัตถุดิบที่หลากหลายขึ้น และอาจกลายเป็นตัวแทนหมู่บ้าน ไม่ให้แก๊งหลอดย่อยสลายได้ร้อยเปอร์เซ็นต์โดนครหาเหมือนเดิมแล้วล่ะ

#NOSTRAWNOVEMBER สามสิบวันนี้ ไม่เอาหลอด

ถ้าหลอดมันปัญหาเยอะนัก งั้นมาลองลดหลอดอย่างจริงจังกันเถอะ ไหนๆ เดือนนี้ก็เข้าธีม No___November แล้ว เราเลยอยากชวนทุกคนมาลอง No Straw November แบบจริงจังให้ครบ 30 วันกันดู!

แคมเปญ No Straw November เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือนพฤศจิกายนในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกา มีตัวตั้งตัวตีเป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมในรัฐต่างๆ ที่ไปจับมือกับร้านอาหาร คาเฟ่ และผู้คนในชุมชน เพื่อช่วยกันลดการใช้หลอด ความจริงจังก็คือหลายองค์กรเขาทำงานร่วมกับชุมชนต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว โดยส่วนใหญ่การร่วมกิจกรรมก็ง่ายๆ แค่ให้เราไปลงชื่อเพื่อรับป้ายไม่เอาหลอด นำไปติดที่หน้าร้านของตัวเอง แก้วน้ำของเรา หรือจุดต่างๆ ที่มีการแจกหลอด เพื่อเชิญชวนให้ผู้มาใช้บริการรู้ว่าไม่ขอหลอดในร้านนี้ก็ได้นะ หรือไม่ต้องแจกหลอดให้ฉันล่ะ ในบางรัฐคนที่ลงชื่อรับป้ายไม่เอาหลอด ยังจะได้หลอดใช้ซ้ำส่งไปให้ใช้ที่บ้านด้วย น่ารักและครบวงจรสุดๆ

แม้ประเทศไทยจะยังไม่มีแคมเปญ No Straw November อย่างจริงจัง (มีแค่ #ไม่หลอดเนาะ ของ Greenery Challenge) แต่ข้อเท็จจริงที่เราก็รู้กันดีอยู่แล้วก็คือ หลอดเป็นขยะที่อายุการใช้งานแสนสั้นเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ประมาณ 20 นาที แต่กลับมีอายุอยู่ต่อไปจนกว่าจะย่อยสลายนานแสนนานนับร้อยปี การกำจัดก็ยากเพราะไม่ค่อยเหมะกับการนำไปรีไซเคิลนัก แถมยังมีขนาดเล็ก หลุดลอดออกจากระบบได้ง่าย หลอดจึงยังเป็นมลพิษอันดับต้นๆ ในท้องทะเล เมื่อนานเข้า มันยังสามารถสลายตัวกลายเป็นไมโครพลาสติกได้อีก ซ้ำร้ายหลอดเหล่านั้นยังอาจหลุดเข้าไปทิ่มจมูกหรือทิ่มท้องของสัตว์ทะเล ทำให้พวกมันเสียชีวิตและเป็นแผลได้แบบที่เราเห็นกันอยู่บ่อยๆ ด้วย

เริ่มต้นง่ายๆ ลองมา #NoStrawNovember ไปพร้อมกับเรากัน! บอกเลยว่ามันไม่ได้ยากอย่างที่คิด ยิ่งเดี๋ยวนี้ร้านกาแฟส่วนใหญ่เขาออกแบบฝาแก้วมาให้เราดื่มจากฝาโดยไม่จำเป็นต้องจิ้มหลอดได้แล้ว สะดวกสบายมากๆ หรือใครที่ขยันหน่อย จะพกหลอดใช้ซ้ำได้ หรือพกแก้วที่ดื่มได้ทันทีไปใช้เองเพื่อลดพลาสติกแบบครบวงจรเลยก็ยิ่งดี (ข้อมูลล่าสุด ร้านกาแฟส่วนใหญ่กลับมารับกระติกส่วนตัวที่ล้างสะอาดแล้วล่ะ) ส่วนใครที่ไม่สะดวกขนาดนั้น จริงๆ ร้านกาแฟหลายแห่งมีแก้วนั่งดื่มในร้านให้เราขอได้ เพื่อจะได้ดื่มเครื่องดื่มจากแก้วที่ร้านได้เลย โดยไม่ต้องใช้ทั้งหลอด ทั้งแก้วพลาสติก แล้วยังไม่ต้องกลับบ้านไปเสียเวลาล้างกระติกอีกต่างหาก

ใครที่ลองทำแล้วพบว่านี่เป็นแค่เรื่องจิ๊บจ๊อย ไม่ท้าทายเลยอ้ะ เราก็อยากชวนมา No Straw กันอย่างจริงจังแบบยาวๆ ไม่ต้องรอให้มีแค่เฉพาะเดือน November ไปเลยนะ!

Content Designer

#อดีตนิสิตภาควารสารฯ #เรียนจบแล้ว #นักเขียน

Graphic Designer

#กราฟิกดีไซเนอร์ #เป็นเด็กหญิงMoodyGirl #แต่ถ้าได้กินของอร่อยฟังเพลงเพราะนอนเต็มอิ่มจะจิตใจแจ่มใสและหัวใจพองโต

Read More:

Eat มนุษยสัมพันธ์

ทริกทำ meal plan แบบไม่มี food waste เหลือทิ้ง

คุยกับคนจริงเรื่องกินไม่เหลือ แถมวางแผนเผื่อแบบมือโปร!

Eat ผลการทดลอง

ทดลองเป็น Flexitarian ใน 21 วัน

ถ้าสายเนื้ออยากจะลดกินเนื้อดูสักตั้ง มันจะไปยากอาไร๊!

Eat สาระสำคัญ

Cooking in a Crisis มีสกิลแค่ต้มมาม่าใส่ไข่ ก็อยู่รอดได้ในยามนี้!

สกิลทำอาหารที่ควรอัพโหลดติดตัวไว้ในสถานการณ์วิกฤต