จากที่เราไปค้นหาสารพัดวิธีการมากมาย ที่รวมกันแล้วสามารถกลายเป็นเบาะนุ่มๆ เซฟใจได้ในวันเหน็ดเหนื่อยเพราะคลื่นความกังวล บทความนี้เลยมีหลายวิธีที่คิดว่าลองดูก็ไม่เสียหาย ท้ายบทความยังมีวิธีเซฟใจที่เราดีไซน์ออกมาให้เป็น ‘วอลเปเปอร์โทรศัพท์’ ตามระดับความกังวลที่คุณเผชิญอยู่ ขอให้คำบนภาพช่วยประโลมใจในวันที่ใจไม่ไหวนะ
Worry VS Anxiety
ก่อนที่จะรู้ว่าความกังวลของตัวเองอยู่ในระดับใด เรามาลองรู้จักคำว่า ‘กังวล’ กันก่อน
ความกังวล (Worry) และ ความวิตกกังวล (Anxiety) ถึงอาการจะคล้ายๆ กัน แต่เลเวลต่างกันค่อนข้างมาก ความกังวลเป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นได้ในมนุษย์ทุกคน แต่มันจะกลายเป็นปัญหา เมื่อทำให้คุณต้องหยุดใช้ชีวิตอย่างที่ต้องการ ทำให้รู้สึกเสียขวัญ หมดแรง อัดแน่นในอกเพราะความกังวลที่มีอยู่เพิ่มระดับเป็นก้อนที่ใหญ่ขึ้นกลายเป็นความวิตกกังวล หนึ่งในสาเหตุการเกิด โรคแพนิค (Panic Disorder), โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD), โรคกลัวสังคม (Social Phobia) และอีกหลายโรคที่หลายคนในปัจจุบันกำลังเผชิญอยู่
ตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดความวิตกกังวลมีหลายแบบ เช่น เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่เราคาดเดาไม่ได้ไม่รู้แน่ชัดว่าสิ่งต่างๆ จะเป็นอย่างไรต่อไป เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่แปลกใหม่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน หรืออยู่ในสถานการณ์ที่คลุมเครือทำให้เราตีความได้หลายอย่าง ซึ่งสถานการณ์ของโลกและประเทศเราตรงทุกข้อเลย เลยไม่แปลกที่ผู้คนจะรู้สึกกังวลกับความไม่แน่นอนแบบนี้
เบื้องต้นเราขอชวนคุณมาประเมินจิตใจกันก่อน ว่าตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีความรู้สึกเหล่านี้ก่อกวนจิตใจไหม ถ้าได้ผลลัพธ์ระดับใด ค่อยกลับมาคุยและรับมือกันนะ
คลิกที่นี่ เพื่อทำแบบประเมินใจ
ถ้าทำแบบประเมินเสร็จแล้ว
ลองดูว่าระดับความกังวลใจของคุณ
มีวิธีผ่อนให้เบาลงอย่างไรได้บ้าง
ก้อนวิตกกังวลขนาดเล็กจะลดลงได้
แค่ระบายออก
เมื่อคุณพบว่าความกังวลของคุณอยู่ในในระดับไม่สูงกว่าเกณฑ์มาก เราสามารถทำให้เล็กลงได้ด้วยการ ‘ระบาย’ การระบายออกของความกังวลมีหลายวิธี จุดหนึ่งที่ใกล้เคียงกันคือเอาความกังวลที่อยู่ในใจแปรสภาพให้จับต้องได้หรือรู้สึกว่าความกังวลนั้นมีตัวตน จะช่วยให้การปัดเป่าง่ายขึ้น เรามีวิธีที่หลากหลายมาแนะนำ ลองเอาไปปรับใช้กันดูนะ
วาดหรือเขียนความรู้สึกออกมา
ความต่างของการวาดและเขียน คือ การเขียนจะเป็นการเรียบเรียงทบทวนความคิดออกมาเป็นตัวอักษร การวาดภาพจะใช้การระบายอารมณ์ที่อยู่ภายในออกมาเป็นภาพ เพราะบางความรู้สึกก็ยากที่จะถ่ายทอดมาเป็นตัวหนังสือ หากใครถนัดเขียนลองใช้เทคนิค Morning Page ที่ตื่นขึ้นมาปุ๊บจะต้องเขียนอะไรก็ได้ลงบนกระดาษเป็นสิ่งแรกของวัน ประมาณ 750 คำ หรือจนกว่าเรื่องราวตอนเช้าที่ค้างคาใจจะออกไปจนหมด วิธีนี้จะช่วยให้ความคิดความกังวลก้อนเก่าถูกระบายออกและชะล้างไป ไม่สะสมจนพอกพูน หรือหากอยากเขียนช่วงอื่นของวันก็สามารถเขียนได้เลย ซึ่งเราเรียกว่า Free Writing ตามชื่อเลย อยากเขียนอะไรก็เขียน เขียนต่อเนื่องโดยไม่วางปากกาเป็นเวลา 10-15 นาที ไม่ต้องห่วงว่าจะถูกหรือผิด ความคิดช่วงนั้นเราจะเป็นอิสระและสบายหัวขึ้นเพราะได้ปล่อยความยุ่งเหยิงภายในออกไปเป็นตัวหนังสือจนหมด
หากใครถนัดระบายออกมาเป็นภาพลองทำ Art Journaling คือการใช้เวลาอยู่กับตัวเองโดยใช้อุปกรณ์เพียงสีและกระดาษ เริ่มลงมือลากเส้นตามความรู้สึก ไม่มีคำว่าสวยหรือไม่สวย ให้กระดาษเป็นพื้นที่รับฟังเราโดยที่ไม่ตัดสิน ลองใช้เวลาประมาณ 10 นาที หรือจนกว่าจะพอใจ นอกจากนั้นยังมีศาสตร์ที่เรียกว่า Art Therapy ที่ไม่ได้มีแค่การวาดภาพลงกระดาษ โดยจะมีศิลปะหลายแขนงให้เราลองผ่อนคลายจิตใจเช่น การปั้น การเต้น เป็นต้น
คุยกับตัวเองหน้ากระจกหรือระบายให้คนที่ไว้ใจฟัง
การพูดคุยหน้ากระจกที่ดูเหมือนไม่ได้มีผลลัพธ์จับต้องได้ แต่จริงๆ ช่วยได้นะ เพราะการพูดหน้ากระจกจะทำให้เราโฟกัสกับคำพูดตัวเองชัดขึ้น เห็นท่าทาง เห็นสีหน้าตัวเอง ถ้าไม่รู้จะเริ่มยังไง ให้ลองยืนหน้ากระจกสักพัก ทำตัวให้สบายให้รู้สึกว่าตัวเองปลอดภัย ก่อนจะเริ่มถามคำถามง่ายๆ เช่น วันนี้รู้สึกอย่างไร กังวลเรื่องอะไร คิดอะไรอยู่ วันนี้ใจดีกับตัวเองหรือยัง เป็นต้น
อีกวิธีหนึ่งคือการระบายให้คนที่ไว้ใจฟัง เรารู้ว่าวิธีนี้ค่อนข้างยากเพราะคนที่วิตกกังวลจะคิดเองเออเองไปเสียหมดว่า เรื่องของฉันที่จะเล่าให้เขาฟังเขาจะรำคาญไหม เขาจะอยากฟังหรือเปล่า จนสุดท้ายก็เก็บไว้ในใจคนเดียว วิธีการขั้นต้นคือหาคนที่เราไว้ใจได้จริงๆ และบอกเขาไปว่าจะเป็นอะไรไหมถ้าตอนไหนที่ฉันกังวลมากจะขอโทรไปหา เธออาจไม่ต้องพูดอะไรกลับมาก็ได้ ขอแค่ฟังเฉยๆ ก็พอ เริ่มต้นด้วยการตกลงใจกันทั้งสองฝ่ายก็อาจเป็นตัวเลือกที่ดี
ขอเสริมอีกหนึ่งวิธีที่น่าจะช่วยได้คือการ ‘ตั้งชื่อ’ ให้ความกังวล เป็นหนึ่งในเทคนิคการนำปัญหาออกสู่ภายนอก (Externalizing Problem) พอแยกปัญหาออกมาจากตัวทำให้จัดการง่ายขึ้น เช่น ตั้งชื่อความกังวลว่า ‘สปริงเคิล’ เมื่อไหร่ที่รู้สึกว่ามวลความกังวลก่อในตัวเรา ให้คุยกับเขาไปว่า “ช่วงนี้เจอกันบ่อยจังนะ สปริงเคิล” “สปริงเคิลเธอไม่พักหน่อยหรอ เราเหนื่อยแล้วน้า” เป็นต้น วิธีนี้จะช่วยให้เราและความกังวลแยกออกจากกันชัดเจน ทำให้เราไม่ถูกกัดกลืนจนเสียความเป็นตัวเอง และเมื่อเริ่มแยกความกังวลออกได้ ก้อนความกังวลนั้นก็สามารถจางลงไปได้เช่นกัน
ถึงก้อนวิตกกังวลยังเล็กอยู่
ก็อย่าลืมเช็กอินความรู้สึกปัจจุบันบ่อยๆ
ถ้าก้อนระดับความกังวลยังอยู่ในเกณฑ์ไม่สูงมาก เรายังหาวิธีควบคุมมันได้ แต่ความกังวลมันก็ช่างรบกวนจิตใจ เมื่อไหร่ที่มันเข้ามามันจะชวนให้คุณมีส่วนร่วมกับมันเดี๋ยวนั้น การฝึกตัวเองให้มีสติทันท่วงทีจะช่วยให้เราปล่อยวางความกังวลและดึงตัวเองกลับมา ‘ปัจจุบัน’ ได้ หรือการมีภาวะตระหนักรู้ตัวอยู่กับปัจจุบัน (Consciousness) ที่รู้ว่าตัวเองอยู่ที่ไหน กำลังทำอะไรอยู่ กำลังอยู่ในอารมณ์ไหน เช็กอารมณ์และความรู้สึกตัวเองว่าเป็นบวกหรือลบ ก็ช่วยได้มากเช่นเดียวกัน
และเมื่อความกังวลเข้ามาหาเรา มันจะมาแบบคลื่นใหญ่ถาโถมเข้าใส่ กว่าเราจะว่ายขึ้นมาเหนือน้ำได้ก็เหนื่อยสุดใจ แล้วยังจะต้องหาวิธีฮีลใจให้กลับมาปัจจุบันอีก หากคุณเคยประสบเหตุการณ์แบบนี้ครั้งต่อไปถ้าจมคลื่นความกังวล ลองนั่งเฉยๆ หลับตาแล้วจดจ่อไปกับเสียงรอบตัว ถ้าเสียงรอบตัวไม่จรรโลงใจพอ ลองเปิดวีดีโอ ASMR ที่มีเสียงดนตรีให้ความผ่อนคลาย อาจเป็นเสียงของธรรมชาติ ฟ้าฝน เวลาฟังให้ลองหลับตาปล่อยทุกความกังวลออกไปและปล่อยใจให้ผ่อนคลายตามเสียง จิตใจจะสงบและกลับมาปัจจุบันง่ายขึ้น
ตัวอย่าง
https://www.youtube.com/watch?v=79kpoGF8KWU
หากใครต้องการคำพูดปลอบประโลมหัวใจในวันที่ไม่ไหวจริงๆ แต่ไม่รู้จะโทรหาใคร ลองเปิดวิดีโอ ASMR ที่มีเสียงคนคอยถามไถ่คอยคุยเป็นเพื่อนดูได้ ลองหาคนที่เราชอบทั้งน้ำเสียง ทั้งท่าทางหรือคำพูด และให้วีดีโอของเขาคอยช่วยใจของเราในวันหมดแรงนะ
ตัวอย่าง
www.youtube.com/watch?v=ccKGKDRk88o
www.youtube.com/watch?v=Ito3WvJT__g
ถ้าเจอก้อนวิตกกังวลขนาดกลาง
ก็ไม่เป็นไรนะ พักหายใจก่อน
เมื่อคุณพบว่าความกังวลกำลังเกาะกินใจคุณระดับปานกลาง ไม่เป็นไรนะ เราทำให้ค่อยๆ จางไปได้ เรากำลังพูดถึงวิธีทำให้ก้อนนี้ไม่ขยายตัวไปเป็นอย่างอื่น เช่น โรคแพนิค (Panic Disorder) ซึ่งแพนิคเป็นหนึ่งในอาการของอีกหลายโรค เช่น โรคซึมเศร้า ไม่ได้มีอันตรายถึงชีวิตแต่ทำให้เกิดความกังวลใจกับผู้ที่เป็น และต้องรักษาจริงจังหากกระทบกับการใช้ชีวิตประจำ หากเกิดอาการแพนิคจนคุมตัวเองไม่ได้ ก็ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญนะ
วิธีเบื้องต้นในการเสริมปัจจัยปกป้องให้ตัวเองเพื่อให้ใจแข็งแรงก่อนเจออาการแพนิครุกเร้าคือ ‘ฝึกการหายใจ’ คุมสติ อีกวิธีในการลดความเครียด ลดความวิตกกังวล ลดความแพนิคได้
ลองเริ่มด้วยการนั่งในพื้นที่ที่รู้สึกปลอดภัย อยู่ในท่าที่สบาย หลับตาลง หายใจเข้าลึกๆ นับ 1-5 และหายใจออกยาวๆ นับ 1-5 โฟกัสที่ลมหายใจเข้าและออก จะหายใจทางจมูกหรือปากก็ได้ (ข้อดีของการหายใจทางปากคือหายใจง่ายกว่า) และบอกตัวเองว่าอาการที่เกิดขึ้นไม่เป็นอันตรายนะ เดี๋ยวก็ดีขึ้น ทำซ้ำ 5-6 ครั้ง เมื่อมีอาการหรือบ่อยครั้งเท่าที่ต้องการ ทั้งยังเป็นวิธีการพักสมองชั่วคราวด้วย
เจอก้อนวิตกกังวลขนาดใหญ่กำลังทับใจ
ไปคุยกับใครสักคนดีกว่า
เมื่อผลการประเมินทำให้รู้ว่าระดับความกังวลของคุณอยู่ระดับสูงสุด การเยียวยาใจเบื้องต้นอาจช่วยคุณได้เพียงนิดหน่อย ควรไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญดูดีกว่านะ แต่ต้องไปปรึกษาใครล่ะ?
อยากพูดคุยประเมินใจ ให้คุยกับนักจิตวิทยา
นักจิตวิทยาจะมีความเชี่ยวชาญในการเยียวยาใจ ช่วยเราจัดการอารมณ์และความรู้สึกที่เป็นอยู่ จะให้ความสำคัญกับพฤติกรรมของเรา การรักษาจะเน้นไปที่การบำบัดพูดคุย ให้เราพูดถึงเรื่องราวกังวลใจออกมา โดยนักจิตวิทยาพร้อมจะรับฟังโดยไม่ตัดสินเรา คล้ายว่าเรามีเพื่อนคอยฟังอยู่ ซึ่งการพูดคุยกับนักจิตวิทยาควรเป็นไปอย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามอาการ อาจมีการบ้านเกี่ยวกับการปรับพฤติกรรมมาให้ทำก็ได้ แต่นักจิตวิทยาจะไม่สามารถจ่ายยาให้เราได้ เพราะการจ่ายยารักษาโรคนั้นเป็นหน้าที่ของจิตแพทย์
ลองปรึกษานักจิตวิทยาแบบออนไลน์
TalkMoment / KnowingMindGroup
อยากรักษาอาการทางใจ ให้คุยกับจิตแพทย์
หากอาการดังกล่าวรบกวนจิตใจจนใช้ชีวิตแบบปกติไม่ได้ อาจต้องไปหาจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการและรักษาโรคทางใจ และอาจมีการจ่ายยากินกันไว้ เพื่อช่วยควบคุมระดับสารเคมีในสมองที่เปลี่ยนไป ก่อนอาการทางใจจะส่งผลต่อร่างกายและสมองมากกว่านี้ การรักษามักจะเน้นรักษาโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ หรืออื่นๆ ที่ต้องใช้ยา และจิตแพทย์ก็ยังทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและทำจิตบำบัดได้เหมือนนักจิตวิทยาด้วย
ลองปรึกษาจิตแพทย์
โรงพยาบาลมนารมย์ / Let’ talk / Ooca/
กังวลแบบนี้แล้วไปหา ‘หมอดู’ ดีไหม?
การเชื่อเรื่องมูเตลูต่างๆ ทั้งสีเสื้อมงคล วอลเปเปอร์เสริมดวง ฯลฯ ก็อาจช่วยเสริมความมั่นใจให้หลายๆ คนใช้ชีวิตอย่างปกติได้ ส่วนการดูดวงหรือหาหมอดูเราอาจต้องเตรียมใจรับกับคำตอบเหล่านั้นให้ได้ก่อน ถ้าเรารับได้ทั้งเรื่องลบหรือบวกก็ไปดูได้เลย แต่หากรู้ตัวว่ารับคำตอบในแง่ลบไม่ได้แน่ๆ เพราะจะทำให้กังวลกว่าเดิม ก็รอให้ใจแข็งแรงก่อนดีกว่า
อยากขอฝากอีกอย่างถ้าจะไปหาหมอดู ลองดูรีวิวจากคนก่อนๆ ที่เคยไปดูหน่อยก็ดี จะได้รู้ว่าสไตล์ของหมอดูคนนี้เป็นแบบไหน วิธีการพูดแบบชวนคุยชวนเม้าส์ไปเรื่อยๆ หรือแบบจริงจังไม่ค่อยพูดเราต้องเตรียมคำถามไปเยอะ หรือเป็นคนพูดตรงโผงผาง เราจะได้เตรียมใจไว้ก่อน
(ไม่มีช่องทางหมอดูให้หรอกนะ ถ้าใครมีแนะนำก็บอกได้)
จะเซฟภาพจากเว็บไซต์ไปตั้งหน้าจอโทรศัพท์เลยก็ได้
แต่ถ้าอยากได้ภาพชัดๆ ดาวน์โหลดได้ที่นี่
ท้ายสุด หวังว่าก้อนความกังวลที่อยู่ในใจคุณจะเบาบางและจางลงได้ หวังว่าคุณคนเดิมจะกลับมาใช้ชีวิตให้สนุกอีกครั้ง คุณเก่งกว่าที่คุณคิดนะ อย่าลืมใจดีกับตัวเองด้วย
อ้างอิง
Read More:
แฮ็กชีวิตเฉาสิ้นปี ด้วยการ 'ใจดี' กับคนที่เราก็ไม่รู้ว่าใคร
MY RANDOM ACTS OF NO-SELFISHNESS
#MushroomMission ปฏิบัติการเห็ดแปลงร่าง สื่อสารโครงการปันอาหารให้คนหิว
คุยกับผู้ริเริ่ม social project ชวนผู้คนมาวาดรูปเห็ด เปลี่ยนเรื่องหิวให้คิวท์และน่าเข้าร่วม
เขาบอกว่า ศิลปะไม่ควรยุ่งกับการเมือง?
คุยกับ 4 ศิลปินรุ่นใหม่ที่ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือวาดหวัง