Home —— ผลการทดลอง

ทดลองพกถุงก๊อบแก๊บไปใช้ซ้ำในชีวิตประจำวัน (ฉบับคนขี้ลืม)

กำลังจะจ่ายเงินอยู่ดีๆ รู้ตัวอีกทีก็ตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก สุดท้ายก็ต้องยอมรับถุงพลาสติกอีกแล้ว วันนี้ตั้งใจว่าจะไม่ลืม แต่ก็ลืมจนได้ ฉันต้องทำ…ทำอะไรสักอย่างแล้ว! 

การทดลองนี้เริ่มต้นจากการเก็บบ้าน แล้วพบว่าขยะกองพะเนินที่ต้องขนไปทิ้งเป็นถุงพลาสติกไปแล้วเกินครึ่ง จะทิ้งไปเฉยๆ ก็รู้สึกผิด จะเอาไปรีไซเคิลก็ไม่ค่อยมีที่ไหนรับ แต่ถ้าเก็บไว้ก็คงต้องซื้อบ้านเพิ่มอีกหลัง งั้น ‘การไม่เอาถุงเข้าบ้าน’ และ ‘การทยอยเอาถุงในบ้านออกไปใช้บ้าง’ คงเป็นวิธีที่ง่ายและเริ่มทำได้ในทันที ปัญหาต่อมาคือ ‘ลืม’ จบเฮ…

ถ้าอย่างนั้น น่าจะต้องเริ่มจากการเตือนตัวเองให้พกพาบรรดาน้องถุงไปเที่ยวนอกบ้านกันก่อน (ขี้ลืมก็เหนื่อยหน่อยนะ)

ลองดูสิว่าระยะเวลา 2 สัปดาห์เราจะแก้ ‘โรคลืมถุง’ ได้สำเร็จหรือเปล่า พร้อมแบ่งปันวิธีพกถุง การสังเกตความหนา และเรื่องชวนคิดต่างๆ เกี่ยวกับน้องถุง ใครที่กำลังประสบปัญหาคล้ายๆ กัน ลองเปิดใจกดอ่านวิธีเอาชนะความขี้ลืมและความเขินอายที่จะพกถุงพลาสติกไปใช้ซ้ำดู 

มาๆ ชูสามนิ้วขึ้นมา ตั้งปณิธานให้แน่วแน่ แล้วพูดพร้อมกันว่า “ต่อไปนี้บ้านฉันจะต้องมีถุงน้อยลงเรื่อยๆ และฉันจะไม่ยอมจ่ายตังค์ซื้อถุงเพิ่มแม้แต่บาทเดียว” เริ่ม!

ทำไมต้องใช้ซ้ำ เอาไปทำถุงขยะไม่พอหรอ?

ตอบสั้นๆ เลยว่า ‘ไม่พอ’ จริงอยู่ที่ว่าการเอาไปทำถุงขยะก็ถือเป็นวิธีรียูสแบบหนึ่ง แต่ก่อนที่จะเอาน้องไปทำถุงขยะ เราก็ควรใช้น้องให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะเมื่อใช้ทำถุงขยะแล้วน้องจะสกปรก จนเอาไปทำอย่างอื่นไม่ได้อีก (แม้แต่รีไซเคิล) ฉะนั้นเราควรรียูสน้องซ้ำไปซ้ำมาเพื่อลดปริมาณขยะที่จะถูกปล่อยสู่บ่อขยะและสิ่งแวดล้อม 

นอกจากนี้การใช้น้องซ้ำหลายๆ ครั้ง ยังคุ้มค่ากว่าเมื่อเทียบกับการนำไปรีไซเคิล เพราะกระบวนการรีไซเคิลใช้งบประมาณสูงและสิ้นเปลืองพลังงาน ทั้งน้ำมันในการขนย้ายขยะลำเลียงไปโรงงาน มลภาวะที่ปล่อยออกมาระหว่างกระบวนการ ในขณะที่การรียูสนั้น ฟรี! 

ยัง…น้องยังมีข้อดีอื่นๆ อีก ข้อแรก น้ำหนักเบา ไม่ว่าเราจะพกน้องเป็น 10 ใบ น้องก็จะไม่ทำให้รู้สึกหนัก ข้อสอง สะอาดกว่าที่เราคิด คุณซักถุงผ้าครั้งล่าสุดเมื่อไร? หลายครั้งเราวางถุงผ้าไว้บนพื้น หรือในรถเข็นที่คนเวียนใช้เป็นร้อย ไหนจะตอนที่ซื้อของสดแล้วมีน้ำซึมออกมาอีก ถ้าเผลอใส่อาหารหรือหิ้วแล้วไม่ได้ล้างมือเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายแน่นอน ในขณะที่ถุงพลาสติกจะไม่ซึมซับสิ่งสกปรกจากภายนอก แล้วส่งผ่านไปยังของที่ใส่ไว้ และข้อสุดท้าย ฟรี เพราะหาได้ในบ้านเราเอง

ถึงจะเป็น ‘BIODEGRADABLE’ ก็ต้องใช้ซ้ำ

พอได้ยินคำว่า ‘ถุง BIO’ พวกเราชาวรักโลกก็จะทึกทักเอาว่ามันน่าจะดีกว่าถุงพลาสติก ทั้งที่จริงๆ แล้ว ถุง BIO ก็เป็นพลาสติกประเภทหนึ่งที่ยังมีประเด็นอื่น ๆ ให้คำนึงถึงอีก

ความเชื่อที่ว่ายิ่งบางยิ่งย่อยสลายง่าย (ถุง BIO มักผลิตแบบบาง) เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกนัก ถุง BIO จะย่อยสลายได้หมดก็ต่อเมื่ออยู่ในอุณหภูมิพอเหมาะ (50-70°C) และ ความชื้นที่เหมาะสม (50-74%) 

ถึงถุง BIO จะเป็นถุงพลาสติกจากพืชก็จริง แต่ถ้าจัดการไม่ถูกวิธีก็จะสร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าถุงพลาสติกปกติ เพราะไม่สามารถนำไปรีไซเคิลหรือใช้ซ้ำได้ ทั้งยังต้องคิดต่อไปอีกว่าปริมาณน้ำและปุ๋ยที่ใช้ส่งผลต่อโลกอย่างไร ใช้พื้นที่ป่าเพื่อเพาะปลูกเยอะแค่ไหนถึงจะเพียงพอ คุ้มค่ามากน้อยเพียงใด

ถุงประเภทนี้มักถูกผลิตออกมาสำหรับใช้ครั้งเดียว บาง ฉีกขาดง่าย ปริมาณการใช้ต่อครั้งและปริมาณการใช้ถุงพลาสติกโดยรวมจึงสูงขึ้น เมื่อฉีกขาดก็จะกลายเป็นชิ้นเล็กๆ เศษพลาสติกพวกนี้ก็มักปลิวไปติดตามต้นไม้ ตกลงในแม่น้ำและทะเล ทำให้สัตว์บางชนิดกินเข้าไปเพราะคิดว่าเป็นอาหาร และสุดท้ายพลาสติกพวกนี้ที่อยู่ในรูปแบบของไมโครพลาสติกก็จะย้อนกลับมาหาเราในรูปแบบของอาหารอีกครั้ง

แม้ถุง BIO จะเป็นการเริ่มต้นตั้งคำถามเพื่อช่วยโลกที่ดี แต่ก็ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ระหว่างหาทางออกให้กับวิกฤตินี้ เราในฐานะผู้ร่วมอาศัยในโลกใบเดียวกัน จะทำอะไรได้บ้าง? ก็รียูสถุงก๊อบแก๊บวนไปไงล่ะ!

Tips: ดูยังไงว่าถุงหนากว่า 36 ไมครอน?

ที่ต้องเน้นย้ำความหนา 36 ไมครอน ก็เพราะว่าเป็นความหนามาตรฐานที่รัฐกำหนดไว้ และหนาพอที่จะนำไปใช้ซ้ำได้หลายครั้ง ถุงบางใบระบุความหนาไว้หน้าถุง แต่บางใบเราก็ต้องเขย่งมองห่อใส่ถุงในร้านเอาเอง บนห่อใส่ถุงเองก็จะมีทั้งที่บอกเป็นไมครอนและมิลลิเมตร (0.01 มม.= 1 ไมครอน) ส่วนถุงที่ไม่มีระบุไว้ ก็ต้องทำใจ ลองจับ หรือหาถุง 36 ไมครอนสักใบ ไว้เทียบก็จะช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น (เช่น ถุงเซเว่น) แต่ทางที่ดีอย่าเอาถุงกลับบ้านเลย พกไปเองดีกว่า (ถุงที่มีอยู่แล้วจะหนาเท่าไหร่ก็ได้ ขอแค่ใช้ซ้ำก็พอ)

Mission — 01

ถ้าอยากช่วยโลกแล้วไปซื้อถุงพลาสติกมาใช้ก็จะดูแปลกๆ ยังไงชอบกล ฉะนั้นเริ่มต้นจากค้นถุงที่มีในบ้านออกมา เฟ้นหาใบเหมาะๆ แล้วเอาไปใช้ดีกว่า 

ทางนี้คัดผู้เข้ารอบไฟนอลมาได้ 8 ใบ มาดูกันว่าแต่ละใบใช้งานจริงแล้วรอดไหม 

01 น้องคิโนะ – รับน้องใบนี้มาหลายปีแล้ว จากร้าน Kinokuniya หน้าตามีเอกลักษณ์ สีน้ำเงินใสเกือบทึบแสงน่าค้นหา ใช้แล้วรู้ถึงปากซอยว่าเลยว่าชอบอ่านหนังสือ แข็งแรง ใช้ซ้ำได้แบบอันลิมิเต็ด

ใช้งานจริง: พอพับแล้วอาจจะดูตุงอยู่บ้าง แต่เวลาใส่ของไม่ยวบยาบ จะแกว่งแขนแรงแค่ไหนก็ไม่ขาด เสียงเงียบไม่ดังก๊อบแก๊บ เหมาะจะพกติดตัวทุกวัน แต่มุมน้องแหลมมาก ใส่ขาสั้นต้องระวัง 

02 น้องมินิโซ — ถุงใบสี่เหลี่ยมจัตุรัส สกรีนโลโก้สีแดงบนพื้นขาว

ใช้งานจริง: หูหิ้วถือไม่ถนัดเมื่อเทียบกับถุงใบอื่นๆ แต่หลังจากได้ลองใช้ครั้งแรก ก็รู้เลยว่าใบนี้น่าจะอยู่กันไปหลายปีเพราะถึกทนมาก ด้วยขนาดที่ใหญ่ทำให้ไม่ค่อยได้ใช้บ่อย แต่พกติดกระเป๋าเป้ตลอด

03 น้องเซเว่น V.1 — ความพิเศษอันสุดจะธรรมดาของใบนี้คือไม่มีลายสกรีนบนหน้าถุงทั้งสองฝั่ง รู้สึกรักโลกไปอีกขั้นเพราะไม่เปลืองหมึก เชื่อเลยว่าน้องถูกทำมาเพื่อใช้ซ้ำจริงๆ ทั้งหนา ใช้สีเรียบง่าย และไม่มีโฆษณามากวนใจ 

ใช้งานจริง: ประทับใจมาก และใช้บ่อยที่สุด ขนาดใช้เป็น 10 ครั้ง น้องยังไม่มีวี่แววว่าจะขาด การไม่มีสกรีนหน้าถุงทำให้น้องดูใหม่อยู่เสมอ ไม่มีร่องรอยจากการใช้งานให้เห็นมาก

04 น้องเซเว่น V.2 — ถุงสีไข่เหมือน V.1 แต่มีสกรีนสีเขียว อยู่ข้างหน้าคอยตะโกนให้รู้ไปเลยว่ารักโลก ถึงจะสกรีนก็ไม่ได้สกรีนแบบไร้ประโยชน์ เพราะบอกความหนามาด้วย

ใช้งานจริง: การใช้งานถือว่าทำได้ตามมาตรา แต่เนื้อสัมผัสดีงาม เหนียวและแข็งพอเหมาะพอดี อาจจะแอบตุงนิดหน่อยถ้าใส่กระเป๋ากางเกง

05 น้องพีพี – ชื่อจริง POLYPROPYLENE ใสกริ๊ง มองทะลุได้ แต่น้องเก็บความลับไม่เก่ง ใส่อะไรเห็นหมด อาจจะต้องระวังนิดนึง

ใช้งานจริง: ใบนี้เป็นอีกใบที่พกติดตัวตลอด สัมผัสดีนุ่มนิ่มสบายมือ ไม่มีเสียงดังก็อบแก็บรบกวน หนา หาของง่าย 

06 น้องสำเพ็ง –ไม่แน่ใจว่าใบนี้ได้มาจากสำเพ็งหรือเปล่า แต่เคยมีถุงที่หน้าตาคล้ายๆ กัน ที่มาจากสำเพ็ง ความชมพูสลับขาว ไม่ช่วยให้น้องดูแบ๊วหรือมินิมอลแต่อย่างใด

ใช้งานจริง: ใช้งานดีเกินคาด พับใส่เป๋าแล้วแบนสุดๆ ขนาดใหญ่ แต่ไม่ใหญ่เกิน ทรงยาวกว่าใบอื่นๆ เอาไว้ใส่กระดาษม้วนหรือบาแก็ตเหมาะมาก (จุบาแก็ตได้ 4 แท่งแบบสบายๆ)

07 น้องซีเจ – รับน้องมาจากซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต แถวบ้าน น้องสกรีนโลโก้ทั้งสองฝั่ง ฉะนั้นไม่ต้องคิดจะหันหลบ น้องบางไม่ถึง 36 ไมครอน แน่นอน ผิดหวังที่น้องมีลิ้นตรงกลางทำให้ใช้พลาสติกเยอะเข้าไปอีก (ส่วนมากลิ้นนี่จะขาดก่อนเพื่อน)

ใช้งานจริง: ไม่เวิร์ก ใส่ของเบาๆ พอไหว แต่ถ้าหนักหน่อยต้องซ้อนถุง คราวหน้าอาจจะไม่พกแล้วเพราะเปลืองที่และเสียเวลาพี่แคชเชียร์ต้องมาคอยซ้อนถุง ไม่เป็นทรง ปลิวไป ปลิวมา

08 น้องหมอจิ๋ว – น้องเป็นถุงสายสุขภาพ มักเจอได้ตามคลินิกและร้านขายยา ใบที่เลือกมาร่วมทดลองสกรีนชื่อโรคต่างๆ เพียบ อ่านแล้วช่วยให้ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท เหมาะกับสายกรีนสุดเหวี่ยงที่อยากมีสติ

ใช้งานจริง: ใช้ครั้งเดียวเลิก เราขาดกัน น้องมีขนาดเล็ก บาง และขาดง่าย จะใส่แกงสักถุงนึงยังยากเลย

น้องๆ แต่ละใบมีข้อดี-ข้อเสีย แตกต่างกัน ต้องเลือกใช้แต่ละโอกาสให้เหมาะสม ขออย่างเดียวว่าให้ใช้น้องที่มีอยู่แล้ว สภาพโอเค สะอาด และขนาดพอเหมาะกับของที่จะใส่ (งั้นของที่ใส่จะกลิ้งไปมาจนรำคาญ) จะหนาหรือจะบางก็ใช้ได้ ดีกว่าทิ้งไปเฉยๆ 

Mission — 02

หากอยากใช้ชีวิตกับน้องถุงอย่างมีประสิทธิภาพ และอยู่ด้วยกันไปนานๆ เราจำเป็นต้องจัดระเบียบน้องถุงให้อยู่ด้วยกันเป็นที่เป็นทาง อย่าปล่อยให้รกบ้าน รกกระเป๋า น้องถุงจะต้องอยู่กันเป็นระเบียบ ไม่กินพื้นที่ ส่วนเวลาพาออกไปเที่ยว ก็จะต้องกะทัดรัด หยิบใช้สะดวก

การพับถุงไม่ได้ยากและเสียเวลาอย่างที่คิด ดูเผินๆ เหมือนจะมีหลายขั้นตอน แต่ถ้าทำบ่อยๆ จนชิน ก็จะคล่องและไม่ต้องพึ่งตัวอย่างอีก พับถุงแต่ละใบใช้เวลาไม่ถึงครึ่งนาที คำแนะนำคือพอได้น้องมาก็รีบทยอยพับทีละใบสองใบ อย่ารวมไว้เยอะๆ ทีเดียว มันท้อ… 

ถุงพับได้หลายแบบ แต่วิธีที่นำมาเสนอจะได้ออกมาเป็นรูป 4 เหลี่ยมที่ไม่ตุงเป็นก้อน เหมาะแก่การพกพาเป็นที่สู๊ด เตรียมถุงในมือของคุณให้พร้อม แล้วเริ่มพับตามรูปได้เลย

Mission — 03

เรามักจะอ้าง อ้าง แล้วก็อ้างว่า หยิบไม่ทัน หาไม่เจอ ถุงใบนี้ใหญ่เกิน ใบนั้นเล็กเกิน บลาๆ ‘การเก็บถุงเป็นระเบียบเกิน’ หรือ ‘ปล่อยทิ้งไว้ให้รกเกิน’ ทำให้เรามีข้ออ้างที่จะไม่ใช้น้องๆ นอกจากจะเปลี่ยนความคิดแล้ว เราต้องเปลี่ยนที่เก็บน้องให้สะดวกสะดุดตากว่าเดิม เอาแบบชนิดที่ว่าครั้งนี้ต้องได้พกออกจากบ้านไปด้วย

ห้อยไว้ในตู้เสื้อผ้า ห้อยครอบครัวถุงไว้ในตำแหน่งที่เปิดประตูตู้มาแล้วเห็นเป็นสิ่งแรก ห้ามห้อยชิดในหลบสายตาเด็ดขาด! วิธีนี้ได้ผลชะงัด แต่อาจจะเกะกะนิดหนึ่งสำหรับคนที่ชอบเตรียมเสื้อผ้าล่วงหน้าก่อนไปทำงาน เพราะน้องถุงแย่งพื้นที่แขวนตรงนั้นไปแล้ว 

แขวนประตูไว้ แขวนถุงไว้ที่ลูกบิดประตูทั้งด้านนอกและด้านใน ในเรื่องของการเป็นจุดสะดุดตาเนี่ย ทำได้ดีมาก แต่ปัญหา(ส่วนตัว) คือที่บ้านไม่ได้ใช้ลูกบิดแบบกลม พอเปิดเข้า-ออก ก็มักจะร่วงมาทั้งยวง เป็นภาระให้มาคอยเก็บ วิธีนี้เลยไม่ค่อยเวิร์กสักเท่าไหร่ แต่หากบ้านใครที่ใช้ลูกบิดแบบกลม รับรองว่าเป็นวิธีที่ทำให้หยิบน้องติดมือไปได้ด้วยแน่ๆ


จดลงช้อปปิ้งลิสต์ วิธีนี้ถือเป็นด่านสุดท้ายแล้วจริงๆ หลายครั้งที่เราพกถุงมาแต่ลืมใช้ (แบบนี้ก็ได้หรอ) ลืมนักใช่ไหม ได้…งั้นเขียนไว้ในลิสต์ของต้องซื้อเลยแล้วกัน ปกติเราจะเขียนเตือนตัวเองสนุกๆ อย่าง ‘เต่าทะเลเพื่อนฉัน’ แทนคำว่า ‘อย่าลืมใช้ถุง’ เพราะหลายครั้งยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุให้ลืมไปกันใหญ่ ทุกโค๊น! วิธีนี้ได้ผลจริง ดีเกินคาด ถ้าบนลิสต์มี 10 รายการ ก็จะได้เห็นคำเตือน 10  รอบ คิดดู นอกจากจะไม่ลืมใช้แล้ว ยังได้เตรียมตัวหยิบน้องออกมาคลี่แต่เนิ่นๆ ไม่ต้องให้พี่แคชเชียร์และคนที่ต่อคิวมายืมรอ ยิ้มแห้งใส่

Mission — 04

จะมีประโยชน์อะไรถ้าพกถุงไปแล้ว แต่หาไม่เจอหรือลืมไว้บนรถอยู่ดี ให้เดินตากแดดกลับไปเอาก็ไกล๊…ไกล “ซื้อใหม่อีกสักใบคงไม่เป็นไรมั้ง” หยุด…หยุดอยู่ตรงนั้นเลย เราจะไม่หละหลวมกับเรื่องนี้อีกเป็นอันขาด

ตอนนี้เรารู้แล้วว่าเก็บน้องไว้บนรถไม่ได้ งั้นก็พกติดตัวไว้ตลอดเซฟสุด ทุกคนลองนึกดูสิว่าปกติหยิบจับอะไรบ่อยที่สุด ถ้าเอาน้องไปเก็บไว้ตรงนั้นน่าจะหาเจอ

กระเป๋ากางเกง/กระโปรง — สำหรับคนที่ใส่กางเกง/กระโปรงที่มีกระเป๋า พกไว้กระเป๋าด้านเกะกะน้อยสุด บางครั้งเกะกะน้อยเกินไปด้วยซ้ำ บ่อยครั้งน้องนอนรออยู่ในกระเป๋าเป็นอาทิตย์ ได้เจอกันอีกทีก็ตอนตากผ้านั่นล่ะ

กระเป๋าตังค์ — ใช่! กระเป๋าตังค์เนี่ยเบสิกสุดแล้ว ซื้อของยังไงก็ต้องหยิบตังค์ สรุปสั้นๆ แบบเบสิกสมชื่อเลยนะ “เราลืมพกกระเป๋าตังค์” จบเฮ! ถือว่าวิธีนี้ยังไม่ตอบโจทย์ แหม…ก็สังคมไร้เงินสดนี่เนอะ ก็ต้องมีลืมกระเป๋าตังค์กันบ้าง

แต่ใครจะเอาวิธีนี้ไปลองใช้ก็ไม่ว่ากัน ถ้าคุณเป็นคนพกกระเป๋าตังค์สีมงคลติดตัวไว้ตลอด วิธีนี้อาจจะเข้ากับคุณก็ได้

เคสโทรศัพท์ — วิธีนี้ต้องเหมาะกับ Gen Y ปีสุดท้ายอย่างเราที่สุดแล้วไหม ทุกวันนี้จะทำอะไร จะไปไหน ก็ต้องพกมือถือติดตัวตลอด แถมต้องหยิบออกมาสแกน QR code โอนตังค์อีก 

สมมติฐานที่ว่ามา ถูกเป๊ะ การเก็บไว้หลังเคสโทรศัพท์กลายเป็นวิธีโปรด เย่…ในที่สุดก็เจอวิธีที่ใช่กับเขาสักที (ถ้าเคสโทรศัพท์ใครแน่นมากก็อาจจะต้องข้ามวิธีนี้ไป ถอดเข้า-ออกลำบาก ก็พานจะไม่อยากใช้อีก)

สรุปผลการทดลอง

พูดแล้วน้ำตารื้นขึ้นมาเลย ไม่น่าเชื่อว่าคนขี้ลืมอย่างเราเปลี่ยนนิสัยการพกถุงไปได้ในระยะเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ การทดลองครั้งนี้สำเร็จยิ่งกว่าสำเร็จ

  • ไม่ลืมพกถุงอีกเลย แถมมีเหลือเผื่อคนรอบข้าง

ทุกวันนี้พอทำบ่อยๆ เข้า นอกจากเราเองจะชิน เพื่อนๆ ยังคอยมาขออีก บางครั้งตัวเองไม่มีความจำเป็นต้องใช้ แต่ก็ยังแบ่งให้คนอื่นได้อีก ดีใจสุดๆ ได้ระบายถุง แบบไม่ต้องทิ้งให้เป็นภาระโลก

  • ไม่เขินเวลาต้องหยิบถุงออกมาใช้ และ ปฏิเสธการรับถุงกลายเป็น default mode

เมื่อก่อนกลัวคนจะมองว่าเรื่องมาก ถ้าคุณพี่แม่ค้า-พ่อค้าเอาของใส่ถุงให้แล้ว เราจะไม่กล้าปฏิเสธ (พี่ๆ เขามือไวยิ่งกว่าแสง ยังไม่ทันจ่ายเงินก็ยื่นของมาแล้ว) แต่ตอนนี้นะ เหมือนรู้งานพอใกล้จะจ่ายเงินก็ยื่นถุงไปเลย บางครั้งคนรู้ใจก็มาในรูปแบบ ‘คนซื้อ-คนขาย’ไม่พูดอะไรก็เข้าใจกันทุกคำ ไม่มีแล้ว “เอามะม่วงสองลูก เท่าไหร่ครับ” มีแต่ “เอามะม่วงสองลูก ไม่ต้องใส่ถุงนะครับ

  • บ้านไม่รกเพิ่ม

พอมีความรู้ในการพาถุงกลับบ้าน ใบไหนควรรับ-ไม่ควรรับ อาการโรคถุงงอกก็ดีขึ้น ใบไหนที่ดูแล้วใช้ซ้ำไม่ได้ก็หมดสิทธิเข้าบ้านไปโดยปริยาย ค่อยเริ่มมีกำลังใจในการเก็บบ้านหน่อย

พออ่านมาถึงตรงนี้คงมีคนแอบสงสัยว่าเราจะจัดการน้องถุงพลาสติกที่ถึงคราวปลดระวางแล้วยังไงดี เราได้รวบรวมที่รับรีไซเคิลน้องมาให้แล้ว สำหรับน้องที่ไม่เลอะเทอะก็ส่งไปได้เลย แต่ถ้ามอมแมมก็ช่วยอาบน้ำให้น้อง แล้วตากให้แห้งสนิทก่อน น้องจะได้เข้ากระบวนการรีไซเคิลได้แบบไม่มีอะไรมากั้น

อยากเห็นน้องเติบโตไปเป็นอะไรก็เลือกส่งไปตามใจชอบได้เลย

  • Won‘ถุงใบใหม่’ ที่ช่วยลดปริมาณพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อม

‘วน’ เชื่อในการจัดสรรทรัพยากรอย่างคุ้มค่าผ่านกระบวนการจัดการที่มีประสิทธิภาพสูง คืนชีวิตให้ขยะพลาสติกกลับไปหมุนเวียนในระบบ เพื่อปล่อยมลพิษและสร้างขยะออกสู่สิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

ข้อมูลเพิ่มเติม: wontogether

  • Precious Plastic bags ‘โปรดักต์สุดคูล’ เพื่อองค์ความรู้สู่ชุมชน

‘จาก เนเธอร์แลนด์ สู่ ไทยแลนด์’ โปรเจกต์รีไซเคิลขยะพลาสติกที่ไม่มีใครเห็นค่ามุ่งช่วยรีไซเคิลขยะพลาสติกเมืองไทยให้เป็นของใช้สุดเก๋ พร้อมส่งต่อองค์ความรู้และวิธีการไปยังชุมชนอันเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของประเทศ เพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน

ข้อมูลเพิ่มเติม: PreciousPlasticBKK

  • Green Road — ‘บล็อกปูพื้น’ เพื่อสาธารณะประโยชน์

“รับบริจาคขยะพลาสติกจนกว่าจะหมดโลก” คำพูดทรงพลังที่สร้างกำลังใจให้อีโค่อย่างเราๆ Green Road รีไซเคิลพลาสติกและเปลี่ยนให้เป็นบล็อกปูพื้น โต๊ะเก้าอี้ และวัสดุก่อสร้าง เพื่อนำไปบริจาคเป็นสาธารณประโยชน์แก่โรงเรียน วัด และอุทยานแห่งชาติ 

ข้อมูลเพิ่มเติม: greenroad.enterprise

ขอบคุณมากนะที่ตั้งใจทำหน้าที่ตัวเองมาโดยตลอด ไว้เจอกันใหม่ในรูปแบบอื่นที่แตกต่างออกไปนะ

Content Creator - Trainee

นักเรียนแปลผู้เคยเผลอไปเรียนรัฐศาสตร์อยู่ 4 ปี ปัจจุบัน(พยายาม)เขียนเรื่องสั้น คอนเทนต์ และวิทยานิพนธ์

Communication Designer

#กราฟิกดีไซเนอร์ #นิสิตออกแบบสื่อสาร

Read More:

Home มนุษยสัมพันธ์

มนุษยสัมพันธ์ 04: ชวน อ.ธนาศรี คุยเรื่อง plant therapy ระดับทำเองได้ ไปจนถึงใช้เยียวยาเหยื่อข่มขืน และบำบัดคนในเมือง!

มาทำความรู้จักกับ plant therapy ตั้งแต่การปลูกต้นไม้เอง การใช้ต้นไม้บำบัดผู้ป่วย และการสร้างสวนเพื่อบำบัดคนในเมือง

Home

บอกเลิกมันง่าย แต่ตัดใจทิ้ง ‘ของเคยรัก’ ยังไงถามหน่อย

คำตอบรออยู่ใน Barter System Club: Pre-loved Talk & Trade เวิร์กช็อปบอกเลิก บอกเล่า และบอกแลก ‘ของเคยรัก’

Home ผลการทดลอง

ทดลองทำ waste audit แบบง่าย (สุดๆ)

สถิติการสร้างขยะของฉันตลอด 1 เดือน