พอได้ยินกิจกรรม Urban Foraging BKK ที่โครงการสวนผักคนเมืองจัดทริปขนาดย่อม ชวนเราๆ ไปเดินเด็ดดอกไม้ใบหญ้าริมทางที่เป็นอาหารและยามาแล้ว 2 ทริป ก็คันไม้คันมืออยากไปด้วยบ้าง พอได้โอกาสที่ 3 เลยตั้งเป้าในใจว่าจะไปรู้จักดอกไม้ใบหญ้าที่เคยเด็ดมาเล่นขายของให้มากขึ้น และเตรียมไปจดสูตรเด็ดดอกไม้ให้สะเทือนถึงครัวและพุง เพราะงานนี้มีเชฟมาทำอาหารจากดอกไม้ให้เรากินเป็นมื้อเที่ยงด้วย!
และนี่คือบันทึกประจำวันจากการเดิน เด็ด ดม ชิม กิน (จนอิ่ม) จิบ และหยิบเอากลับบ้านมาชำ ที่อยากแบ่งให้อ่าน เพราะความสนิทสนมที่มีกับดอกใบคุ้นตาแต่ไม่คุ้นเคยเหล่านี้ คือวิธีเรียบง่ายในการเข้าถึงคำโตๆ อย่าง ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ และเปลี่ยนวิธีกินที่เราเคยมีไปได้ไม่น้อยเลย
01
กิจกรรมส่วนใหญ่จากโครงการสวนผักคนเมืองที่เราคุ้นเคย มักจะเป็นการชวนกันมาปลูกผัก หมักปุ๋ย หรือขับเคลื่อนเรื่อง Land Sharing เปลี่ยนพื้นที่รกร้างในเมืองเป็นสวนกินได้ แต่หลังๆ มานี่ เราเห็นความเปลี่ยนแปลง (ที่เราชอบใจ) คือการพยายามสื่อสารเรื่องความมั่นคงทางอาหารที่ฟังดูซีเรียส ผ่านกิจกรรมง่ายๆ ที่คนเมืองวันหยุดอย่างเรารู้สึกจอยและอยากจอยบ่อยขึ้นเรื่อยๆ และ Urban Foraging BKK คือหนึ่งในกิจกรรมที่ว่า
ขอให้เครดิต ม๊อบ อรุณวตรี รัตนธารี ที่มาทำงานขับเคลื่อนโครงการสวนผักคนเมืองแบบเต็มตัว และเป็นเจ้าของไอเดียกิจกรรมนี้ เพราะเชื่อว่าถ้าคนเมืองรู้จัก ‘อาหาร’ ที่มากกว่าสิ่งที่มีในเชลฟ์ซูเปอร์มาร์เก็ตหรือในเมนูร้านอาหารตามสั่ง เราจะเข้าใจเรื่อง Food Security โดยไม่ต้องเลกเชอร์อะไรใหญ่โต แค่เพียงเรารู้ว่าเรามีทางเลือกที่หลากหลายและยั่งยืนกว่า เราก็ไม่ต้องฝากท้องกับผักอาบสารเคมีเพื่อเร่งผลผลิต หรืออุตสาหกรรมอาหารที่เอาเปรียบโลกเสมอไป
และตลอดการทำความรู้จักกิ่ง ก้าน ใบ ดอก ที่กินได้รอบตัว เราได้ครูโรจน์ วิโรจน์ ปลอดสันเทียะ กูรูที่รู้จริงเรื่องพืชพรรณท้องถิ่นที่เป็นได้ทั้งอาหารและยามาเป็นผู้นำเด็ด ที่มีเกร็ดสนุกๆ มาเล่าครบทุกต้น!
02
เราก็พอมีความรู้อยู่บ้างแหละ ว่าอัญชันเอามาทำน้ำสีม่วงสวยเมื่อเจอกับมะนาว พวงชมพูโรยสลัดสวยๆ กินได้ แต่ทริปนี้ทำให้เราอเมซซิ่งใจว่าดอก ผล ใบ ของวัชพืชที่เราเด็ดมาเล่นขายของในวัยเด็กมันกินได้ด้วยเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นดอกปืนนกไส้ ที่หน้าตาคิวท์เหมือนดอกเดซี่แต่เก้งก้างกว่า เอาไปชงชาสวยๆ ประหนึ่งชาคาโมมายล์ได้นะ ลูกเถาคันที่เป็นพวงจิ๋วๆ บี้แล้วสีม่วงดำเลอะติดมือ จริงๆ มันมีรสเปรี้ยว ทางใต้เขาเอาไปแกงส้มกินกันหรอยแรง หรือดอกกล้วย aka หัวปลี ที่เราเอากาบมันมากินแนมกับผัดไทยหรือเอาไปต้มข่า จริงๆ เกสรที่งอกออกมาแล้วยายตัดทิ้งเพราะมันขมและแข็ง ถ้าแค่เด็ดแกนออก เอาไปชุบแป้งทอด ก็เทมปุระกุ้งดีๆ นี่เอง!
03
ครูโรจน์พาเราเดิน เด็ด ดม ดอกริมรั้วต่างๆ ก่อนจะชี้ให้ดูดอกตำลึงทอง หรือกระทกรก ที่ใบละม้ายคล้ายตำลึงเอาไปลวกน้ำพริกหรือแกงเลียงก็ได้ ส่วนผลเหมือนเสาวรสลูกจิ๋วก็กินได้เหมือนกัน แถมมีสรรพคุณถอนพิษได้ด้วย
อีกดอกที่เราเห็นกันบ่อยๆ อย่างดอกแคนาสีขาว ทรงลำโพงใหญ่ๆ ร่วงอยู่ตามสวนในหมู่บ้านจัดสรร ม๊อบชวนคุยว่าที่หมู่บ้านชอบปลูกต้นนี้เพราะมันไม่ผลัดใบ เลยไม่มีใบให้ต้องกวาดและจัดการมากนัก แต่คนเมืองไม่มีความรู้ว่าเจ้าดอกนี่คือเมนูโอชะ ม๊อบบอกว่าที่อีสานจะเอามาทำ ‘ป่น’ ที่ให้รสขมปลายลิ้น ชวนเจริญอาหาร หรือทางเหนือจากเอาไปทำ ‘อั่ว’ คือยัดไส้หมูปรุงรสเข้าไปในดอกแคนา แล้วเอาไปนึ่ง แค่นึกตามก็.. หืมและหิวไปพร้อมๆ กัน
04
มาถึงสวนเขียวอื๋อย่านเมืองนนท์ทั้งที จะมีแต่ต้นไม้ที่เราเห็นตามซอยบ้านได้ยังไง ครูโรจน์มาแหวกพุ่มวัชพืชรวมมิตร แล้ว ‘ถก’ ต้นอุตพิดขึ้นมาให้ดูกันจะๆ ตอนแรกเราก็เตรียมจะอุดจมูกแล้วเพราะได้ยินชื่อเสียงเรื่องความเหม็น แต่โชคดีที่กลิ่นเรียกแมลงวันมาผสมพันธุ์ได้จางลงไป เหลือแต่ดอกเขียวๆ หน้าตาไม่มีพิษมีภัยให้ดู ครูโรจน์บอกว่า จริงๆ ดอกกินไม่ได้ แต่ส่วนอื่นๆ คือของอร่อย ทั้งใบอ่อนๆ ลวกจิ้มน้ำพริก ก้านเอาไปแกงคั่ว ส่วนหัวของมันก็กินได้เหมือนบุก เพียงแต่มันจิ๋วไปหน่อย ถ้าจะกินเอาอิ่มต้องถกกันหลายต่อหลายต้นจนเมื่อย คนเลยไม่นิยมกินกัน
05
เดินเด็ด เดินดม วัชพืชข้างทางมาจนเริ่มเมาข้อมูล ครูโรจน์ก็พาไปรู้จักไม้ยืนต้นที่ต้องแหงนหน้าเล่าและชี้ให้ดูใบ ดอก ผล ของมัน ไม่ว่าจะเป็นต้นคนทีสอแดงที่ใบเป็นสีเทาเหลือบม่วงแดงเก๋ไก๋เหมือนพันธุ์ไม้นอร์ดิก แต่เอามาชงชาแล้วเลือดลมสตรีไหลเวียนดีนักแล ต้น Curry Leaf หรือทางใต้เรียก หมุย หมรุย (แถวบ้านเราเรียกสำมะหลุย) ที่เอาไว้ใส่ในแกงสไตล์มุสลิมเพื่อดับคาวแพะหรือแกะ ที่นิยมปลูกไว้ในสุสานเพราะมีกลิ่นแรง เลยรวมไปจนถึงต้นมะม่วงหิมพานต์ ที่ยอดอ่อนจะอยู่ในตะกร้าผักเหนาะร้านขนมจีนทั่วปักษ์ใต้ ใบชะมวงรสเปรี้ยวของเด็ดครัวตะวันออก กับใบติ้วที่หน้าตาเหมือนกันสุดๆ ให้งงเข้าไปอีก!
แต่ที่ปลื้มเป็นพิเศษสำหรับทริปนี้คือ ‘มะตูมซาอุ’ ที่เรามักจะเห็นยอดอ่อนๆ เอามาแนบลาบทั้งทางอีสานและทางเหนือ โดยต้นกำเนิดเป็นต้นไม้ทวีปอเมริกาใต้ แต่มาแพร่หลายในบ้านเราเพราะอดีตคนงานไทยในซาอุฯ กินแล้วชอบเลยเอาติดกลับมาปลูกเมืองไทย และที่โอ้โหใจคือตัวช่อเมล็ดแดงๆ ของมัน ที่จริงคือ pink peppercorn ที่เอาไว้โรยสเต๊ก โรยบราวนี่เก๋ๆ ในเมนูฝรั่ง จริงๆ แล้วเราสนิทกันกว่าที่คิดเหรอเนี่ย!
06
เคยได้ยินงานทุ่งดอกกระเจียวบาน และรู้ว่าดอกกระเจียวกินได้แต่ไม่รู้กินยังไง ส่วนดอกกระทือนี่ยอมรับว่าเจอในชีวิตครั้งแรกที่นี่ ได้ลองชิมทั้งคู่เป็นผักแกล้มน้ำพริก หน้าตาดี ขมเบาๆ แบบพอให้เจริญอาหาร เจอในตลาดพื้นบ้านคราวหน้าจะซื้อมาทำกินเอง
07
ตอนแรกคิดว่าดอกชมพู่ เพราะเห็นมีเกสรสีชมพูหวานๆ เหมือนกัน แต่ครูโรจน์บอกว่านี่คือดอกจิกน้ำ และชี้ให้ดูดอกจิกตูมๆ ว่าเหมือนดอกจิกในหน้าไพ่ไหมล่ะ!
08
ไฮไลต์ที่คนเห็นแก่กินอย่างเรารอคอย คือมื้อเที่ยงที่เชฟโน้ต อธิป สโมสร จะทำอาหารจากดอกไม้ให้เรากิน เมนูวันนี้จึงมีทั้งน้ำเงี้ยวจากดอกเงี้ยว ป่นดอกแคนากินแกล้มกับเห็ดและดอกกระทือย่าง ดอกกระเจียว ผลสาเกนึ่ง ลูกฉิ่ง (มะเดื่อผลจิ๋ว) และผักยืนต้นยอดอ่อนมากมาย ต่อด้วยแกงโฮะรวมดอกและใบที่นัวใจมาก ลืมภาพจำว่าเมนูจากดอกไม้จะโรย edible flower สวยๆ แต่ไม่ได้รสได้ชาติไปเลย
09
นี่ก็เลิฟเป็นพิเศษ ดอกโสนที่เคยเจอในแกงส้มกับลวกจิ้มน้ำพริก เอามาหุงข้าวลงไปในหม้อเลยก็ได้!
10
จบเซสชั่นอิ่ม จริงๆ หนังตาก็ควรหย่อน แต่กิจกรรมต่อมาเรียกความตื่นตัวให้กับผู้ร่วมทริปมาก เพราะจะต้องแบ่งกลุ่มจำแนกดอกใบที่เด็ดมา (และมันเยอะจนลืมชื่อไปแล้ว) ซึ่งจากการร่วมแรงร่วมใจ ก็พบว่าเรารู้จักต้นไม้ใบหญ้าหน้าเก่าแต่เป็นเพื่อนใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 30 ชนิด
11
นอกจากครูโรจน์จะเดินมาตรวจการบ้านว่าจำผิดจำถูกกันไหม แมวประจำสวนผักคนเมือง ก็มาช่วยพิสูจน์หลักฐานว่าตำแยแมวที่ระบุมา ใช่ตำแยแมวของแท้ไหมด้วย ซึ่งจากความฟินไม่ยอมไปไหน มั่นใจได้ว่าของแท้แน่นอน
12
หลังจบเลกเชอร์รู้จักดอกไม้ใบหญ้าในฐานะสมุนไพรที่มีสรรพคุณตามตำราแพทย์แผนไทยที่แบ่งแยกตามรสทั้ง 9 ของมัน ก็เข้าสู่เซสชั่นชงชา ที่เด็ดดอกไม้ใส่แก้วแล้วก็ดื่มด่ำชาสดๆ ได้เลย ใบกะเพราสด คนทีสอ อัญชัน มะนาวฝาน คือเบลนด์ที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างว่าสดชื่นจริง!
13
ม๊อบบอกว่า อยากจะจัดกิจกรรมนี้บ่อยๆ เท่าที่แรงไหว และอาจจะร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้กระจายไปสู่หลากหลายวงการมากขึ้น เพราะม๊อบบอกว่าความหลากหลายของผู้ร่วมทริป จะสื่อสารเรื่องพืชกินได้ให้กว้างออกไป สถาปนิกอาจจะเห็นความเป็นไปได้ของต้นไม้ที่จะเลือกไปไว้ในบ้าน คุณครูอาจจะไม่ต้องสอนเด็กปลูกผัก แต่สอนให้เด็กมีความรู้เรื่องพืชพันธุ์ข้างทาง หรือ policy maker ที่เข้าใจเรื่องนี้ อาจจะไปขับเคลื่อนเพื่อสร้าง public space ที่เป็นสวนกินได้ที่ใหม่ก็ได้เหมือนกัน
และอย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้น ความสนิทสนมกับต้นไม้ในซอยบ้านนี่แหละ ที่จะทำให้เรากลมเกลียวกับโลกใบนี้มากขึ้น
Read More:
อย่าหลอ(ด)กฉันเลย!
หลอดที่บอกว่าย่อยได้ แท้จริงอาจหลอกกันก็ได้
ทดลองเข้าครัวทำอาหารเช้ากินเอง!
บันทึกการทำอาหารเช้า 7 วันแบบคนไม่ถนัดทำอาหาร แต่ก็อยากกินดีและอยากลองทำอาหาร
#ก็อปเกรดบี ทำเนียนเลียนแบบอาหารร้านโปรด
ลอกเมนูที่ชอบๆ จากร้านโปรดที่ไปประจำ มาทำกินเองที่บ้านให้หายคิดถึง