ไม่รอช้า เรายกหูไปหาโรงพิมพ์ Royalpress จองคลาสริโซกราฟ 101 รวมตัวลงชื่อเป็นนักเรียนคลาส Risograph กันยกออฟฟิศ จนได้รู้จริง ทำจริง พิมพ์จริง เข้าใจจริงว่านอกจากลูกเล่นของสีสันที่ซ้อนทับกันจนเกิดเฉดไม่ซ้ำ เป็นการพิมพ์ที่ไม่ได้ผลลัพธ์แค่สวยยูนีคเพียงอย่างเดียว แต่เป็นกระบวนการพิมพ์ที่ดีต่อโลกและเรามากกว่าที่คิด ตั้งแต่หมึกพิมพ์ที่ทำจากธรรมชาติ กระบวนการพิมพ์ที่ใช้พลังงานต่ำ หรือแม้แต่อุปกรณ์ต่างๆ ที่กลับไปรีไซเคิลได้ หมดอายุเมื่อไหร่ก็ไม่ต้องทิ้งเป็นขยะฝังกลบ
มาร่วมวงเวิร์กช็อปเรียนรู้กระบวนการพิมพ์และการกระบวนการกรีนของเจ้าเครื่องริโซกราฟนี้ไปด้วยกัน หาคำตอบไปพร้อมกันว่า ทำไมงานพิมพ์ถึงฮอตฮิตขนาดนี้ และเป็นมิตรกับโลกจริงไหม ไปดูกัน!
เรายังไม่เคยเห็นเครื่องพิมพ์ริโซกราฟแบบใกล้ชิดมาก่อน หน้าตาน้องเหมือนเครื่องถ่ายเอกสารอย่างที่เขาว่า และได้รู้ว่า ‘Risograph’ มาจากสไตล์ของภาพพิมพ์ในช่วง 1980s ซึ่งถูกพัฒนาโดย RISO Kaguku Corporation บริษัทที่ทำเครื่องพิมพ์และอุปกรณ์พิมพ์จากญี่ปุ่น งานพิมพ์ริโซเหมาะสำหรับการพิมพ์จำนวนมาก รวดเร็ว เพราะความเร็วของเจ้าเครื่องนี้สามารถพิมพ์ได้ 150 แผ่นต่อนาทีเลยทีเดียว
รู้จักหน้าตากันแล้ว กระบวนทำงานของเจ้าเครื่องนี้ยังเป็นมิตรกับโลกมากกว่าที่คิด ชาวไอแอลไอยูเซอร์ไพรส์กับความกรีนของการพิมพ์ริโซกราฟกันยกใหญ่ จะกรีนยังไง กดดูต่อรูปต่อไปได้เลย!
เริ่มกันที่ ‘หมึกพิมพ์’ ที่แตกต่างจากเครื่องพิมพ์ทั่วไปที่ส่วนใหญ่ใช้หมึกโทนเนอร์เป็นหลัก ซึ่งเจ้าหมึกโทนเนอร์นี้ต้องใช้พลังงานความร้อนสูงในการหลอมละลายเพื่อให้ยึดติดกับกระดาษ และมีส่วนประกอบของสารเคมี หากสูดดมบ่อยๆ ไอระเหยเหล่านั้นจะส่งผลกระทบต่อร่างกายได้
แต่สำหรับหมึกที่ใช้ในงานพิมพ์ริโซกราฟ จะทำจากน้ำมันถั่วเหลือง หรือบางรุ่นใช้น้ำมันจากพืชอื่นๆ เช่น น้ำมันรำข้าว หมึกน้ำมันรำข้าวนี้มาทีหลัง เพราะบริษัท RISO Kaguku เขาเจอปัญหาว่า ถ้าใช้หมึกน้ำมันถั่วเหลืองเนี่ย เราต้องนำเข้าจากต่างประเทศเลยนะ ต้องขนส่งข้ามน้ำข้ามทะเล สร้างมลพิษทางถึง 1.27 CO₂-Kg/Kg เลยนะ แต่ถ้าเราผลิตน้ำหมึกในประเทศญี่ปุ่นเอง นอกจากซัพพอร์ตผลผลิตของคนในประเทศแล้ว ค่าคาร์บอนไดออกไซด์ของการขนส่งจะเหลือแค่ 0.16 CO₂-Kg/Kg เองนะ ซึ่งดูเผินๆ อาจเป็นตัวเลขที่น้อย แต่ในอุตสาหกรรมใหญ่เมื่อคำนวณผลผลิตในปริมาณมาก ก็สามารถลดคาร์บอนฟุตพรินต์ได้เยอะเลยทีเดียว
หมึกพิมพ์ของริโซกราฟที่ทำจากธรรมชาติ ยังมีปฏิกิริยาเคมีกับอากาศน้อยมาก ทำให้ไม่มีกลิ่นแรง ไม่มีสารระเหยที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และไม่ปล่อยก๊าซใดๆ ให้รบกวนโลก เป็นทางเลือกที่ยั่งยืนกว่าเมื่อเทียบกับหมึกงานพิมพ์ทั่วไปที่ทำจากน้ำมันปิโตรเลียม ที่สำคัญตลับหมึกริโซกราฟทั้งหมด สามารถรีไซเคิลได้ทุกส่วนด้วย พี่เขาคิดมาครบจริง!
ก่อนจะไปพิมพ์งานกัน เราต้องมีต้นแบบของชิ้นงานก่อน ซึ่งจะเตรียมเป็นไฟล์ดิจิทัลหรือเป็นต้นแบบแอนะล็อกแบบที่เราจะลงมือตัด แปะ ขีด เขียน กันในวันนี้
โจทย์ของเราวันนี้ คือการครีเอตแจกันดอกไม้ของตัวเอง ในธีมอิเคบานะ (Ikebana) โดยมีภาพแจกัน ภาพดอกไม้นานาชนิด ให้เราตัดแปะบนกระดาษ มีสีให้เลือกพิมพ์ทั้งหมด 7 สี ทั้งสีเบสิก CMYK และนีออนสุดแสบตา เราจะพิมพ์โดยเลือกมา 2 สี ที่คิดว่าผสมกันหรืออยู่ด้วยกันแล้วสวย
ดังนั้นเราจะทำต้นแบบโดยใช้กระดาษ 2 แผ่น เป็นการแยกเลเยอร์ 1 แผ่น ต่อ 1 สี เพราะริโซกราฟเครื่องนี้พิมพ์ได้รอบละสีเท่านั้น (มีเครื่องบางรุ่นที่พิมพ์พร้อมกัน 2 สี) หากจะเปลี่ยนสี ต้องนำกระดาษเข้าไปในเครื่องใหม่เพื่อพิมพ์สีอื่นทับลงไป ดังนั้นต้องค่อยๆ พิมพ์อย่างใจเย็น
สำคัญคือ เราจะต้องแยกเลเยอร์เป็นสีขาว-ดำ เพื่อให้ตัวเครื่องส่งต้นแบบนี้ไปที่แม่พิมพ์กระดาษไข (Master) ที่จะถูกฉลุตามลวดลายต้นแบบของเรา
อย่างที่เล่าไปว่า กระบวนการพิมพ์นี้พิมพ์โดยใช้หมึกผ่านกระดาษฉลุ แทนการใช้ความร้อนในการตรึงหมึกโทนเนอร์บนกระดาษเหมือนงานพิมพ์ทั่วไป (เช่น ตอนเราไปร้านถ่ายเอกสารแล้วรับกระดาษที่เพิ่งถ่ายเสร็จใหม่ๆ แล้วรู้สึกร้อน นั่นเป็นการพิมพ์ที่ใช้ความร้อนสูง) การพิมพ์แบบฉลุ เป็นกลไกที่ไม่ต้องการพลังงานมากมาย เลยใช้พลังงานที่ต่ำกว่าการงานพิมพ์ทั่วไปถึง 70-97% เลย
กระบวนการของเครื่องนี้ คือภายในเครื่องจะมีหัวฉลุไฟฟ้าที่มีเข็มร้อนจิ๋วจำนวนมาก เจาะรูบนกระดาษไขตามลายที่ต้องการพิมพ์ เมื่อกระดาษไขถูกเจาะรูแล้ว หมึกจะซึมผ่านรูเจาะเหล่านั้น ไปยังกระดาษที่อยู่ด้านล่าง เพื่อสร้างภาพหรือลายตามต้นแบบของเรา
และเจ้าเครื่องพิมพ์ Risograph สามารถใช้กระดาษรีไซเคิลในการพิมพ์ได้ มีหลายโรงพิมพ์ที่มีกระดาษรีไซเคิลหลากความหนาให้เลือกพิมพ์ เป็นอีกหนึ่งทางในการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าด้วย
พิมพ์แล้วสีไม่ตรงต้นแบบ กระดาษเอียง ขอบภาพไม่คม ถ้ามองในมุมงานพิมพ์รูปแบบอื่นคงจะโดนคัดทิ้ง แต่ปัจจัยผิดพลาดเหล่านี้กลับส่งผลให้งานพิมพ์ริโซกราฟมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีสไตล์ไม่เหมือนใคร เป็นความผิดพลาดที่รับได้
เพราะการพิมพ์ริโซกราฟคล้ายการพิมพ์แบบสกรีน (screen printing) ถึงใช้เครื่องพิมพ์ควบคุมสีและลวดลายได้ แต่ก็จะไม่เป๊ะเท่าการพิมพ์แบบอื่น เพราะปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้หลายอย่าง เช่น การจัดวางตำแหน่งของกระดาษ การคลาดเคลื่อนเล็กน้อยก็ส่งผลให้สีที่เราจะพิมพ์ทับไม่ตรงกัน การกระจายหมึกที่ไม่สม่ำเสมอทำให้บางพื้นที่สีเข้มบางพื้นที่สีอ่อน หรือกระดาษที่ใช้มีความหนาบางต่างกัน ทำให้ผลลัพธ์การพิมพ์ไม่สม่ำเสมอ เป็นต้น
เราจะไม่รู้เลยว่า สีที่เราเลือกพิมพ์ในภาพนี้จะผสมกันแล้วออกมาเป็นอย่างไร จนกว่าจะพิมพ์สีสุดท้ายเสร็จ เพราะการทับซ้อนของสีหลายๆ ชั้น อาจทำให้เกิดสีที่ผสมกันแบบไม่คาดคิด ความสนุกในการตั้งตารอมันอยู่ตรงนี้แหละ!
สปอยล์ไปตั้งแต่แคปชั่นว่าไอแอลไอยูจะออกสิ่งพิมพ์ใหม่ ที่พิมพ์แบบริโซกราฟเป็นหลัก เลยทุ่มทุนไปเรียนให้มันรู้ให้มันเข้าใจ และได้ข้อยืนยันว่าริโซกราฟเป็นมิตรต่อเราและโลกจริง รู้สึกว่าคิดถูกที่สิ่งพิมพ์ต่อไปเราเลือกที่จะใช้การพิมพ์นี้ เพราะดีต่อเรา ดีต่อโลก และดีต่อผู้หยิบอ่านด้วย
โปรดรอติดตามสิ่งพิมพ์ใหม่เร็วๆ นี้ ระหว่างนี้หากอยากกดดูและเป็นเจ้าของสิ่งพิมพ์ชิ้นก่อนๆ ของเรา ผายมือไปที่ลิงก์นี้เลยค่ะ shop.line.me/@208rspsp
ตัวอย่างสิ่งพิมพ์ของเรา
Self-guided Tour Manual คู่มือเดินทัวร์ย่านอารีย์-ประดิพัทธ์
Read More:
คุณจะได้เจออะไรใน ทัวร์สุ่มสี่สุ่มให้ Ver 2.0 'ROUTE: Nameless Street Food'
คุณและเพื่อนใหม่จะได้พากันไปกินของอร่อยย่านประดิพัทธ์-อารีย์ ตามลายแทงร้านชื่อไม่ดังที่คุณไม่รู้ล่วงหน้า แต่ไอแอลไอยูคัดเลือกมาให้แล้วว่าคนแถวนี้คอนเฟิร์มกันว่าดีจริง!
วิถีติ่งไอดอลอย่างเรา ไปทำอะไรกันที่ ‘คาเฟ่วันเกิด’
รู้จัก ‘คาเฟ่วันเกิด’ อีเวนต์ที่ทำให้เราอยากออกนอกบ้านทุกสัปดาห์
บันทึกการเดินเท้าเข้าตึกร้าง New World x Old Town
ก่อนจะสร้างโลกใหม่ ต้องไม่ลืมโลกเก่า?